เปิด 3 เช็คลิสต์ดีแทค หนทางสู่เป้าหมายแห่งการพิชิตการลดก๊าซเรือนกระจกลง “ครึ่งหนึ่ง” ในปี 2573

ภายหลังจากการประชุมอันเข้มข้นของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยภาคีสมาชิกกว่า 200 ประเทศมีฉันทามติเห็นชอบตามข้อตกลงกลาสโกลว์ โดยระบุถึงการยกระดับการดำเนินการ ตลอดจนการใช้กลไกทางการเงินในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเร่งด่วน เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

ขณะเดียวกัน สมาคม GSMA หน่วยงานตัวแทนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของโลกได้กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 ดีแทคในฐานะองค์กรเอกชนอันเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ได้ประกาศเป้าหมายในการต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง “ครึ่งหนึ่ง” ภายในปี 2573

dtacblog พาทุกคนมาพูดคุยกับนัฟนีท นายัน ผู้อำนวยการอาวุโส ในสายงานฝั่งกลยุทธ์ วิเคราะห์ และบริหารการเงิน ของกลุ่มเทคโนโลยี คีย์แมนคนสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีคิดในการพิชิตเป้าหมายดังกล่าว ตลอดจนการพิจารณาการปฏิบัติงานใหม่ เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มความยั่งยืนของโลก

เพราะทุกคนส่งผลกระทบต่อโลก

โทรคมนาคมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้น โดยข้อมูลจากสมาคม GSMA ระบุว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมบริโภคพลังงานราว 2-3 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งโลก แม้สัดส่วนการใช้งานจะค่อนข้างน้อย แต่มีแนวโน้มการบริโภคที่มากขึ้น และถือเป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ครึ่งหนึ่งของการใช้พลังงานดังกล่าวนั้นมาจากอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ และอีกครึ่งหนึ่งมาจากฝั่งผู้ให้บริการโครงข่าย อันได้แก่ อุปกรณ์โครงข่ายและศูนย์ดาต้า

“เรามีอัตราการบริโภคพลังงานที่สูงขึ้น และรูปแบบของการใช้พลังงานนั้นก็เพิ่มขึ้นสูงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะแอปพลิเคชันในปัจจุบันซึ่งใช้ดาต้าสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราการใช้พลังงานสูงขึ้นในฝั่งผู้ให้บริการโครงข่าย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของผู้ให้บริการในมิติสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ ดีแทคจึงบรรจุเรื่องการต่อสู้กับวิกฤตโลกร้อนเป็นวาระเร่งด่วนของบริษัท” นัฟนีทกล่าว

ปัจจุบัน การใช้พลังงานของดีแทคส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในฝั่งโครงข่าย โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564 นั้น ดีแทคมีจำนวนสถานีฐานบนคลื่นใหม่ 700 MHz ทั้งสิ้นกว่า 11,800 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่อีกส่วนของการใช้พลังงานนั้นอยู่ที่ศูนย์ดาต้าและศูนย์ชุมสาย ทั้งนี้ อุปกรณ์โครงข่ายและระบบทำความเย็นนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการใช้ไฟฟ้า และด้วยอัตราการใช้งานดาต้าที่เติบโตขึ้นและการเพิ่มความหนาแน่นของโครงข่ายยิ่งทำให้การใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในยุค 5G

อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยี 5G จะมีประสิทธิภาพด้านพลังงานที่เหนือกว่าเทคโนโลยี 4G ในการรับส่งข้อมูล กระนั้น เทคโนโลยี 5G นั้นต้องการส่วนประกอบอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น อันได้แก่ เสาสัญญาณขนาดเล็ก (antenna) และการวางจุดรับสัญญาณที่หนาแน่นขึ้น เมื่อใช้งานในย่านคลื่นความถี่สูง

“นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง virtual reality (VR) และ augmented reality (AR) ยังทำให้อัตราการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวใช้งานดาต้าค่อนข้างสูง ที่สำคัญ การใช้พลังงานของเทคโนโลยีเหล่านี้เกิดขึ้นที่ฝั่งผู้ให้บริการมากกว่าผู้ใช้อุปกรณ์ ต่างจากเทคโนโลยีดั้งเดิมอย่าง SMS หรือเว็บเบราเซอร์ต่างๆ”

ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ด้วยเหตุนี้ ดีแทคจึงคิดหาหนทางในการจัดการกับปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทำความเย็นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่เดิม ดีแทคมีการใช้เครื่องปรับอากาศในการควบคุมอุณหภูมิ แต่ในช่วงหลายปีมานี้ บริษัทมีความพยายามในการหาโซลูชันใหม่ๆ เพื่อลดการใช้พลังงาน โดยหนึ่งในนั้นคือ การใช้พัดลมทดแทนเครื่องปรับอากาศ ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้งานตามสถานีฐานต่างๆ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบปฏิบัติการหรือประสบการณ์ใช้งานเครือข่ายของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายอื่นๆ นั้นยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่เพื่อทดแทนเครื่องปรับอากาศรุ่นเก่าในหลายสถานี ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาความสมดุลในด้านการลงทุน ทั้งนี้ ดีแทคได้กำหนดแนวทางการลงทุนโดยใช้ “คุณค่า” เป็นตัวตั้ง

“เรามีการใช้โมเดล Cell Site Single Source of Truth (CS3T ) ซึ่งใช้ประโยชน์จากศาสตร์การวิเคราะห์ข้อมูล อันเป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายระบบภายในองค์กรให้เป็นชุดเดียว ซึ่งในกรณีของดีแทคนั้นคือการสังคายนารวบรวมข้อมูลจากสถานีฐานต่างๆ ครอบคลุมข้อมูลทั้งหมดบนหลากหลายย่านคลื่นความถี่ อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ ค่าเช่า อัตราการใช้พลังงาน และจำนวนชั่วโมงในการให้บริการ ทำให้ดีแทคสามารถจัดลำดับความสำคัญในการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถสร้างความคุ้มค่าสูงสุดจากการลงทุน” นัฟนีทอธิบาย

พลังงานที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน 99 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ใช้บนสถานีโครงข่ายของดีแทคนั้นเป็นระบบกริด โดยส่งตรงจากการไฟฟ้านครหลวงในกรณีที่สถานีฐานนั้นตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนที่เหลือเป็นส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ทั้งนี้ ดีแทคมีความพยายามในการใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อพิชิตเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 โดยในเฟสแรกนี้ ดีแทคกำลังเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งยังคงมีความท้าทายในเชิงปฏิบัติการ การติดตั้ง การซ่อมบำรุง ตลอดจนการลงทุน

นอกจากนี้ ดีแทคยังได้ศึกษาวิธีการอื่นๆ เช่น Power Purchasing Agreement (PPA) ซึ่งเป็นการทำข้อตกลงซื้อขายกับผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดระยะยาว เพื่อใช้งาน ณ สถานที่ที่ตกลง ซึ่งนี่เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยดีแทคลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงส่วนหนึ่งผ่านพลังงานสะอาด นอกจากนี้ ยังมีโมเดลอื่นๆ เช่น Energy Wheeling ซึ่งเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าจากผู้ผลิตที่ต้องการผ่านสายส่งสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันรูปแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นในเชิงปฏิบัติในประเทศไทย

“หากปราศจากโมเดล Wheeling ดังกล่าว การใช้พลังงานทางเลือกในประเทศไทยจะยังคงมีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากการผลิตและใช้งานพลังงานสะอาดจะต้องเกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกัน ต่างจากสถานีโครงข่ายมือถือที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศอย่างกระจัดกระจาย” นัฟนีทอธิบาย

เริ่มต้นวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

  1. การใช้ประโยชน์จากพลังของข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์และระบุถึงจุดอ่อนและช่องว่างในการใช้พลังงาน เพื่อประโยชน์ต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ลดลงและการลงทุนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  2. การลงทุนอย่างตรงจุดในพลังงานหมุนเวียนและการติดตั้งระบบทำความเย็น เพื่อควบคุมอุณหภูมิอุปกรณ์โครงข่าย
  3. การทำงานร่วมกับภาครัฐ หน่วยงานด้านการกำกับดูแล และผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อร่วมหาโอกาสในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“พวกเราล้วนมีบทบาทในการดูแลโลก ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภค ภาครัฐ หรือภาคเอกชน แต่ในฐานะองค์กรธุรกิจ เรายังมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างสรรค์สังคมที่ดียิ่งขึ้น ทุกๆ คนล้วนมีทางเลือกในมิติแห่งความยั่งยืน ซึ่งคือการเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด และการเปลี่ยนผ่านนี้ต้องอาศัยความชัดเจนในเชิงกลยุทธ์ ความมุ่งมั่น และการลงทุน” นัฟนีททิ้งท้าย

blank