ที่ผ่านมาในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ หน้าที่ของส่วนงานดูแลความสัมพันธ์กับภาครัฐมักจะเกี่ยวข้องกับการล็อบบี้เท่านั้น ซึ่งมักจะมีการเล่นกอล์ฟด้วยเสมอ ไม่ว่าจะถูกจัดให้เป็นส่วนหนี่งของทริปศึกษาดูงานหรือกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเราชาวดีแทคตัดสินใจที่จะยกเลิกกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์เพื่อมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากเรามีความตระหนักว่าความร่วมมือระหว่างดีแทคกับภาครัฐจะส่งผลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเรามุ่งเน้นไปที่วิสัยทัศน์ร่วมในการเสริมสร้างสังคมและผลักดันให้ประเทศก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0
โครงการ “Connect the Unconnected” เป็นโครงการแรกที่เราริเริ่มขึ้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะติดอันดับสูงสุดในอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่ก็ยังมาความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมากในประเทศ โดยกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรยังไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต ดังนั้นดีแทคจึงส่งอาสาสมัครจำนวน 100 คนเข้าไปสอนการใช้งานอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น และการประยุกต์ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนชนบทในพื้นที่ห่างไกล แต่หลังจากนั้นไม่นาน เราก็ตระหนักว่าอาสาสมัครเพียง 100 คนไม่เพียงพอที่จะสร้างผลกระทบให้กับประชากรกว่า 70 ล้านคนของประเทศ ดังนั้นเราจึงเกิดความคิดว่า มันคงจะดีถ้าเราฝึกอบรมวิทยากรขึ้นมา 1 ล้านคน และให้พวกเขาแต่ละคนออกไปสอนคนต่ออีกคนละ 50 คน
นั่นคือที่มาของการร่วมมือระหว่างดีแทคกับรัฐบาลในการให้วิทยากรของเราจัดการอบรมให้กับวิทยากรของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลมีเครือข่ายการฝึกอบรมที่เข้มแข็งพร้อมเพรียง โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีศูนย์ฝึกอบรมกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการมีศูนย์ฝึกอบรมอีกกว่า 6,000 แห่ง
ปัญหาก็คือ ศูนย์ฝึกอบรมเหล่านั้นมุ่งเน้นจัดอบรมแต่ในหัวข้อที่พวกเขามองว่ามีความสำคัญ มากกว่าจะคำนึงถึงสิ่งที่มีความจำเป็นต่อผู้เข้าอบรม ตัวอย่างเช่น การอบรมเกี่ยวกับ Microsoft Word, Excel และ PowerPoint จะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคนที่กำลังมองหางานออฟฟิศในกรุงเทพฯ แต่จะไม่มีประโยชน์เลยต่อชาวสวนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ต้องการขายมะพร้าวจากสวนของเขา
อะไรคือสิ่งที่เกษตรกรอยากรู้ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น
“สิ่งแรกที่พวกเขาอยากเรียนรู้ไม่ใช่การใช้งานคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แต่เป็นการใช้งานโทรศัพท์มือถือ วิธีการใช้งานอีเมล์ วิธีการสร้างและตั้งค่าเฟซบุ๊คแฟนเพจ และวิธีการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ให้ออกมาสวยงามดึงดูด”
เราได้เข้าพบพลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมปรึกษาหารือในการพัฒนาหลักสูตรอบรมมากกว่า 200 หลักสูตร ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่พื้นฐานการใช้งาน เช่น การโพสต์ภาพถ่ายที่สวยงามของผลิตภัณฑ์ลงบนเฟซบุ๊คเพื่อช่วยเพิ่มยอดขาย
ในปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการมีครูจำนวน 1.2 ล้านคนภายใต้สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) แล้วเราจะสร้างวิทยากรจำนวนมากขนาดนั้นได้อย่างไรภายในระยะเวลาไม่กี่ปี? ดังนั้นเราจึงใช้กลยุทธคล้ายกับธุรกิจเครือข่าย (Multi-tier Marketing) โดยอันดับแรก เราจัดอบรมให้กับครูใหญ่ในทั้ง 77 จังหวัด ตามด้วยการอบรมวิทยากร 10-20 คนในแต่ละจังหวัด จากนั้นวิทยากรเหล่านั้นก็ไปจัดอบรมให้กับครู 300-400 คนในแต่ละอำเภอ ซึ่งเมื่อลงไปถึงระดับตำบล เราก็มีวิทยากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1 ล้านคน ซึ่งเราสามารถบรรลุถึงเป้าหมายภายในระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งปี เร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้พอสมควร
เคล็ดลับของความสำเร็จก็คือ การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้งาน ถ้าผู้คนในชนบทสามารถมองเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรมหลังการเข้ารับการอบรม ตัวอย่างเช่น ถ้าพวกเขาสามารถเพิ่มยอดขายผ่านทางเฟซบุ๊คได้ พวกเขาก็จะบอกต่อให้กับคนอื่น ๆ
ยกตัวอย่างในภาคเหนือ เราได้เสนอแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ให้แก่ชาวนา และช่วยหาแหล่งทรัพยากรในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ขั้นต่อมาเราได้ช่วยพวกเขาออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ และท้ายที่สุด เราได้ช่วยแนะนำเทคนิคการเล่าเรื่องให้กับพวกเขา เช่น ทำไมต้องเป็นออร์แกนิค? แล้วมันดีอย่างไร? ซึ่งมีส่วนช่วยให้พวกเขาสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างรวดเร็ว
นอกเหนือจากตัวหลักสูตร การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ห้องเรียนที่เต็มไปด้วยคอมพิวเตอร์เรียงรายเป็นแถวสร้างบรรยากาศที่ตึงเครียด เราจึงสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน เราอยากให้ใครก็ตามที่มีเวลาว่างระหว่างวัน ไม่ว่าจะเป็นคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือแม่บ้าน ลองแวะเข้ามาและใช้เวลาเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อที่จะช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับพวกเขา
เพื่อสร้างผลกระทบให้มากขึ้น เรามีแผนที่จะร่วมมือกับองค์กรธุรกิจขนาดเล็ก เช่น สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนในชนบท โดยในปีนี้เราตั้งเป้าที่จะช่วยสนับสนุนให้ 1 แสนองค์กรธุรกิจเหล่านั้นเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ต ถ้าพวกเขาสามารถขายผลิตภัณฑ์มูลค่า 1 ล้านบาทต่อปี นั่นก็หมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาทให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันนี้ ดีแทคได้ร่วมมือกับ 4 กระทรวงได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ โดยมีศูนย์ฝึกอบรมรวมทั้งสิ้นกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ
กิจกรรมเหล่านี้อาจจะไม่สนุกเหมือนกับการเล่นกอล์ฟ แถมไม่ได้ชื่อเสียงเหมือนกับการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น งานรับบริจาคเพื่อการกุศลหรือกิจกรรมปลูกป่า แต่ผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ดีแทคได้มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการเสริมสร้างศักยภาพให้กับสังคมอย่างยาวนานและยั่งยืน และถ้าเราพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรของเรา การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ดิจิทัลก็จะเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับพวกเราทุกคน
