ในปี 2562 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 20% กว่าของจีดีพี และมีแรงงานในภาคการท่องเที่ยวถึง 3 ล้านคน ซึ่งนับเป็นจุด “พีค” ที่สุดของการท่องเที่ยวไทย
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรงขึ้น จนทำให้ประเทศต่างๆ ต้องใช้ยาแรง โดยการประกาศปิดพรมแดน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่งผลให้การท่องเที่ยวไทยทรุดลงอย่างหนัก ธุรกิจได้รับผลกระทบ บางรายปิดกิจการ ขณะที่คนจำนวนมากอยู่ในสถานภาพตกงาน ซึ่ง 1 ในนั้นคือ นวพร ใจจันทร์ มัคคุเทศก์อิสระ วัย 52 ปี

โควิดวิกฤตคนท่องเที่ยว
“ช่วงก่อนโควิดนะ เรียกได้ว่าเป็นช่วงรับทรัพย์ ทำงานเกือบทุกวันจริงๆ เรียกได้ว่าทริปต่อทริป แต่พอโควิดมาเท่านั้นแหละ รู้เรื่อง” นวพรบอกเล่าถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19
มัคคุเทศก์สาวชาวเชียงใหม่คนนี้ มีลูกค้ากลุ่มหลักเป็นชาวสเปน โปรตุเกส อเมริกาใต้ มีประสบการณ์การนำเที่ยวมาอย่างโชกโชนกว่า 20 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็มาก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ไข้หวัดนก เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองต่างๆ แต่นั่นก็ไม่เท่ากับวิกฤตโควิด-19 ที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 2 ปี แต่ยังถือว่าเป็นโชคดีของเธอที่มีการจัดสรรเงินแบ่งใช้ในยามฉุกเฉินไว้อยู่ ทำให้ยังพอพยุงตัวไปได้

ในระหว่างนั้น นวพรได้มองหาสินค้าที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นธุรกิจต่อได้ในอนาคต หนึ่งในนั้นคือ ‘กุ๊บลอน’ หรือหมวกสานไผ่เย็บใบลานแบบล้านนา ซึ่งจุดเด่นนอกจากกันแดดกันร้อนได้เยี่ยมยอดแล้ว ผมยังไม่เสียทรงด้วย
นวพรรู้จักหมวกกุ๊บลอนตั้งแต่สมัยนำเที่ยว โดย กฤษฏนันท์ ทองวิภาวรรณ์ เพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นมัคคุเทศก์ด้วยกัน ซื้อหมวกกุ๊บลอนจากชาวบ้านในชุมชนบ้านเกิดของเธอ เพื่อหวังอุดหนุนช่วยเหลือผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนที่เป็นช่างสานหมวก ไปขายต่อแก่นักท่องเที่ยว ตลาดนัดจตุจักร และตลาดน้ำดำเนินสะดวก

“กุ๊บลอน เป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน เป็นศาสตร์ศิลป์แห่งมรดกภูมิปัญญาของบรรพชนบ้านนาแหลม จังหวัดแพร่ มาหลายชั่วอายุคน มีอัตลักษณ์โดดเด่น เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวนาในภาคเหนือ ใช้แพร่หลายในทั้งในจังหวัดแพร่ น่าน พะเยา เชียงราย ลำปาง ลำพูน ไปจนถึงเชียงใหม่” กฤษฏนันท์เล่าเสริม
ฟื้นชีพภูมิปัญญา
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กุ๊บลอนกำลังจะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา กฤษฏนันท์ในฐานะลูกหลานคนเมืองแพร่ จึงได้ริเริ่มโครงการชุบชีวิตฟื้นฟูสืบสานกุ๊บลอนขึ้นในปี 2559 โดยการเริ่มเสาะหาแม่พิมพ์หมวกที่ถูกวางทิ้งขว้างตามครอบครัวต่างๆ ในชุมชนมารวบรวมไว้ แล้วเริ่มสร้างแรงจูงใจให้บรรดาพี่ป้าน้าอาและผู้สูงวัยในชุมชนหันมาฝึกฝนการสานและเย็บกุ๊บลอน จนกระทั่งปัจจุบันกลุ่มฟื้นฟูสืนสานกุ๊บลอนมีสมาชิก 28 คน และมีสถานะเป็นวิสาหกิจชุมชนกุ๊บลอน บ้านนาแหลม

“พี่เชื่อมั่นว่าหมวกกุ๊บลอนนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ ชาวต่างชาติให้ความสนใจกับหมวกกุ๊บลอนมาก โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นที่ถึงขั้นให้ไปสอนถึงบ้านเขาเลย เพราะมันคืองานฝีมือ มีความประณีต กว่าจะได้แต่ละใบต้องใช้เวลาในการสานและประกอบใบลานครึ่งค่อนวันเลย” กฤษฏนันท์กล่าว
นวพรกล่าวเสริมว่า เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว เธอและกฤษฏนันท์จึงต้องมองหาช่องทางการขายอื่น ซึ่งนั่นก็คือการขายออนไลน์ ทว่าเธอทั้งคู่นั้นไม่ถนัดใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และแม้จะใช้เฟซบุ๊กอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่การค้าขายออนไลน์นั้นต้องใช้ทักษะที่ต่างกันพอสมควร

เมื่อนวพรคิดว่าออนไลน์คือคำตอบ เธอจึงตัดสิ้นไปลงคอร์สเรียน ซึ่งบางที่สอนเชิงทฤษฎีมาก บางที่ก็คล้ายกับขายตรง แต่แล้ววันหนึ่ง เธอเล่นเฟซบุ๊ก จึงได้พบกับโครงการ “วัยเก๋าติดเกราะไซเบอร์” ของดีป้า (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) จึงได้สมัครและเรียนรู้ถึงทักษะพื้นฐานการเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างปลอดภัย เมื่อเข้าร่วมคอร์สดังกล่าวแล้ว เห็นมีคอร์สของดีแทคเน็ตทำกิน จึงสมัครเข้าไปทันทีอย่างไม่ลังเลใจ
“ตอนอบรม พี่ยกมือตลอดเวลา แต่น้องๆ โค้ชก็ใจดีและใจเย็นมาก ประกบผู้เข้าอบรมตลอด แถมยังติดตามมาถึงบ้านที่แพร่เลยทีเดียว ซึ่งนี่คือจุดแข็งของดีแทคเน็ตทำกิน สอนชีวิตจริง ใช้จริง ทำให้ 1 วันของการอบรมคุ้มค่าทั้งเวลาและประสบการณ์ มากไปกว่านั้น ในโลกหลังโควิดที่ทำให้กระแสดิจิทัลหมุนเร็วขึ้น โครงการนี้ได้แสดงให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนที่ขาดทักษะดิจิทัลอยู่ และพวกเขาก็พยายามจะก้าวไปข้างหน้าเช่นเดียวกับที่เราทำ” นวพรกล่าว
เมื่อทางนวพรและกฤษฏนันท์โปรโมทหมวกกุ๊บลอนออกไป บางครั้งพวกเธอได้รับออเดอร์คราวเดียวถึง 200 ใบ โดยผู้ซื้อต้องการนำไปตกแต่งร้าน หรือบางรายซื้อแล้วนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น โคมไฟ ซึ่งนอกจากเรื่องของรายได้แล้ว ที่สำคัญยังช่วยฟื้นคืนชีพ ‘กุ๊บลอน’ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการแต่งกายของคนเมืองแพร่ ให้เติบโตและก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง

สามารถร่วมสืบสานภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้ที่ https://www.facebook.com/BaandinNalaemPhrae/