เพราะธุรกิจก็เหมือนแข่งไตรกีฬา 42 วันแห่งความทรหด ตามติดชีวิตผู้ชนะแผนธุรกิจกับเวที Biz Triathlon by Sasin 2021

ประกาศผลเมื่อวันที่ 28 เม.ย 2564

’ไตรกีฬา’ ถือเป็นอีกหนึ่งการแข่งขันที่เรียกได้ว่า “หิน” เพราเป็นการรวมกีฬาสุดทรหดไว้ด้วยกันถึง 3 อย่าง ได้แก่ วิ่งมาราธอน ปั่นจักรยานทางไกล และว่ายน้ำระยะไกล เพราะฉะนั้นผู้กล้าที่จะผ่านเกมกีฬานี้ไปได้ จะต้องมีทั้งความอึด ทักษะ และหัวใจของนักสู้ ที่รู้ว่าหนทางข้างหน้าเต็มไปด้วยความลำบาก เช่นเดียวกับการทำธุรกิจในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลซึ่งมีโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่ง แต่ผู้ที่มีใจแบบนักไตรกีฬาเท่านั้น จึงจะผ่านสมรภูมิรบนี้ไปได้

Business Triathlon (Biz Tri) เป็นอีกหนึ่งเวทีการแข่งขันที่จำลองสมรภูมิธุรกิจจากโจทย์จริง เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทยได้แสดงความรู้ ความสามารถเชิงกลยุทธ์การตลาดและนวัตกรรมดิจิทัล มอบประสบการณ์การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Action learning) โดยทีมที่เข้ารอบจะมีเวลาเพียง 42 วันในการวางแผนกลยุทธ์และขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นการแข่งขัน case competition รูปแบบใหม่ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมสนับสนุนโดย ดีแทค โลตัส และไทสัน ฟู้ดส์

สนามแข่งขันยุคดิจิทัล

“จุดแข็งหนึ่งของดีแทคคือการมีฐานลูกค้าจำนวนมากถึง 19 ล้านคน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ความต้องการเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน จึงเป็นที่มาของโจทย์ที่ท้าทายทีมผู้เข้าแข่งขันที่ว่า “ดีแทคควรทำอย่างไรให้ตอบสนองความต้องการลูกค้าเพื่อเพิ่มรายได้จากสินค้าและบริการที่มากกว่าการสื่อสารแบบดั้งเดิม” กล่าวคือ โมเดลธุรกิจที่มีรายได้อยู่บนบริการ voice และ data” ดร.อุกฤษฎ์ ศัลยพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกลยุทธ์การตลาดของดีแทค ในฐานะผู้มอบโจทย์แก่ทีมเข้าแข่งขัน อธิบาย

หากพิจารณากลุ่มลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ นักท่องเที่ยว ผู้ใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และลูกค้าคนไทย แต่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเข้ามาในประเทศของลูกค้าในกลุ่มที่ 1 และ 2  ดังนั้น หากต้องการสร้างการเติบโตในแง่รายได้ สถานการณ์นี้ เราจึงควรโฟกัสในลูกค้ากลุ่มที่ 3 และนี่เป็นโจทย์ที่ให้กับน้องๆ ในการแข่งขันครั้งนี้

“โดยธรรมชาติแล้ว มีประเภทธุรกิจไม่มากนักที่สามารถมีฐานลูกค้าจำนวนมากหลายสิบล้านราย ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา ธนาคาร และโทรคมนาคม แต่สิ่งที่โทรคมนาคมมีมากกว่านั่นคือ ความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในทุกๆ วัน ซึ่งนี่ถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของดีแทคในการสร้างรายได้ให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคดิจิทัล ที่สามารถพัฒนาบริการให้กับลูกค้าในหลากหลายแกนมากขึ้น เช่น การออกแบบบริการที่ตอบกับความต้องการเฉพาะบุคคล (personalized services) และการชำระเงินออนไลน์ (digital payment)” ปานเทพ นิลสินธพ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานบริการและการขายดิจิทัลของดีแทค และหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการแข่งขัน อธิบาย

blank

ทั้งนี้ การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 รอบ คือการสมัครการแข่งขันพร้อมรับโจทย์ผ่านทางอีเมล (Pre-screen) เพื่อคัดเลือกผู้เข้ารอบจำนวน 30 ทีม จากนั้นจึงเข้าสู่รอบที่ 2 หรือ Bidding day ซึ่งแบ่งทีมออกเป็น 3 กลุ่มตามบริษัทที่ตนเองสนใจ โดยแต่ละทีมจะมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมบริษัทผู้สนับสนุนพร้อมกับรับโจทย์ จากนั้นจะได้รับเวลา 3 ชั่วโมงในการนำเสนอแผนงานคร่าวๆ ก่อนจะคัดเลือกเหลือ 15 ทีมสุดท้าย เพื่อเข้าสู่รอบ Triathlon ซึ่งมีเวลาเพียง 42 วันในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาเชิงลึก ทำการสื่อสารทางการตลาดกับกลุ่มเป้าหมาย สร้างช่องทางการขายออนไลน์ พัฒนาผลิตภัณฑ์นำร่อง พร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดภายใต้คำแนะนำของโค้ชที่ปรึกษาและผู้บริหารของบริษัทชั้นนำ

ปานเทพเล่าต่อว่า ปัจจัยที่จะทำให้ชนะใจกรรมการได้นั้น ประกอบด้วย 1. Simplicity สินค้าและบริการนั้นต้องง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้ได้จริง ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย 2. Prioritization สินค้าและบริการนั้นใช้เวลาการเปิดตัวสู่ตลาดไม่นานนัก ทำได้เลย 3. Clear Path of Monetization สามารถอธิบายเส้นทางการหารายได้ ศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจได้อย่างชัดเจน 4. Improvement คณะกรรมการจะพิจารณาถึงวิธีการทำงานระหว่างทาง เพื่อดูพัฒนาการและการปรับตัวของทีม

blank

“ทุกโปรเจ็กต์ล้วนมีความเป็นไปได้ในการนำมาพัฒนาต่อทั้งสิ้น หลายทีมมีพัฒนาการอย่างน่าทึ่ง สามารถนำคอมเมนท์จากกรรมการมาปรับแก้ไขและพลิกแพลงได้อย่างน่าทึ่ง มีเทคนิคการเล่าเรื่องที่ดี แสดงถึงการคิดอย่างรอบด้าน ซึ่งเรารู้สึกยินดีและได้รับพลังจากน้องๆ ผู้ซึ่งสามารถรับมือกับความกดดันทั้งด้านเวลาและคำถามได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังแสดงให้เห็นถึง Sense of Ownership ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นนักการตลาดในยุคดิจิทัลอีกด้วย” ปานเทพกล่าว

เรียนรู้จากประสบการณ์จริง

ทีม 15 Reasons Why ซึ่งเป็นผู้ชนะจากโจทย์ของดีแทค นั้นประกอบด้วยสมาชิก 3 คน คือ ธนินี รุ่งสถาพร คณะวิศวกรรมศาสตร์ ศุภวิศว์ ตั้งสะสม จากคณะเดียวกัน และรมิล จรูญศักดิ์ จากคณะนิเทศศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับโปรเจ็กต์ ‘ดีแทคพี่แพ็กให้’ ซึ่งเป็นการนำเสนอ Bundle Package ให้กับลูกค้าทั้งกลุ่มเติมเงินและรายเดือนผ่านการพาร์ทเนอร์กับแอปพลิเคชันต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้าหลากหลายกลุ่ม เช่น แอปเพื่อความบันเทิง แอปหาคู่ แอปเรื่องงาน และแอปเพื่อการออกแบบ

สมาชิกทั้ง 3 คนเป็นการรวมกันเฉพาะเพื่อการพิชิตโจทย์นี้โดยเฉพาะ ซึ่งต่างคนต่างรู้จักกันและเคยผ่านการแข่งขันเคสธุรกิจร่วมกันมาบ้าง แต่ครั้งนีถือเป็นครั้งแรกของพวกเขาที่ได้ลงมือกับโจทย์จริงแบบไม่มีกั๊ก โดยธนินีและรมิลทำหน้าที่ในการวางแผนกลยุทธ์และทำพรีเซ็นเทชัน ส่วนศุภวิศว์รับหน้าที่หลักในส่วนของการศึกษาความเป็นไปได้ของโปรเจ็กต์ (feasibility)

“ในวันที่ประกาศโจทย์ พวกเรารู้สึกอินกับโจทย์ของดีแทคมากที่สุด น่าสนใจ และคิดว่าศักยภาพของเราที่มีส่วนประสมของทั้งคนด้านเทคโนโลยีและสื่อสารมาอยู่รวมกัน น่าจะเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน” ศุภวิศว์เล่า

blank

ทั้งนี้ หลังจากได้รับโจทย์มา สมาชิกในทีมระดมสมอง โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหา เพื่อหาโซลูชันใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้า จากนั้นจึงมาทำการ validate ไอเดีย เพื่อทดสอบว่ามีตลาดรองรับจริงหรือไม่ด้วย Business Lean Canvas หากจุดไหนมีศักยภาพก็จะพัฒนาจนออกมาเป็นโปรเจ็กต์

“พวกเราไม่ได้มีประสบการณ์ทำเคสมากขนาดนั้น อาศัยวิธีคิดแบบบ้านๆ แต่ต้องแม่นยำในโจทย์ โปรเจ็กต์นี้จึงไม่ใช่แค่การสร้างการรับรู้หรือนึกถึงความล้ำสมัยเป็นที่ตั้ง เราได้รับคำแนะนำและข้อมูลเชิงลึกจากดีแทค ซึ่งช่วยให้พวกเราฉุกคิดและนำมาช่วยปรับให้ไอเดียแน่นขึ้น” รมิลกล่าว

เปิดโลกทัศน์สู่สนามธุรกิจ

สมาชิกทั้ง 3 คนบอกกับเราว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ได้รับโจทย์จริง มีโอกาสพูดคุยกับลูกค้าจริง ออกแบบกระบวนการทำงานจริง ซึ่งแน่นอนว่าโจทย์จำลองกับโจทย์จริงนั้นต่างกันมาก และพวกเขาต้องทำงานกับชุดข้อมูลจำนวนมาก เพื่อออกแบบแพ็กเกจที่ตอบกับความต้องการของลูกค้า โดยกระบวนการคิดและทำงานต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่พวกเขาค้นหาและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต่างจากทีมอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี แต่นั่นไม่ทำให้พวกเขาย่อท้อ และพลิกจุดอ่อนมาเป็นจุดแข็งในที่สุด

blank

“เราต้องขยันกว่าคนอื่น มีการตั้งกรอบการทำงานที่ชัดเจน ตั้งเป้าหมายเลยว่าพาร์ทกลยุทธ์ต้องทำให้เสร็จภายในช่วง Mid Review ถ้าหลุดจากนี้ อาจทำให้มีรอยรั่วได้ เน้นคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลกันทุกวัน อัปเดตงาน แล้วแยกย้ายไปทำงาน” รมิลบอกถึงเคล็ดลับความสำเร็จ

นอกจากนี้ ความหลากหลายของสมาชิกในทีมยังถือเป็นจุดแข็งอีกประการ เนื่องจากส่งผลดีในเรื่องความแตกต่างของมุมมอง อย่างรมิลนั้นใช้มุมมองทางนิเทศศาสตร์มานำเสนองานในรูปแบบ Storytelling ทำให้การขายงานตรงประเด็นขึ้น ง่าย ไม่ซับซ้อน ขณะที่ศุภวิศว์และธนินี ได้นำวิธีคิดแบบวิศวกรรมมาประยุกต์มาใช้กับการวางแผนและดำเนินงาน ซึ่งทั้ง 3 คนประสานเสียงว่า งานนี้ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้พวกเขาแบบที่ห้องเรียนก็ให้ไม่ได้

blank