“นักโทษล้นเรือนจำ” เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของไทยที่นานาประเทศจับตามอง อันสะท้อนถึงการพัฒนาด้านการยุติธรรม ในช่วงปี 2549 จนถึงปี 2561 สถานการณ์จำนวนนักโทษในไทยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากราว 150,000 คนเป็น 366,000 คน ก่อนจะลดลงเป็น 285,000 คนในปัจจุบัน
ความสำเร็จดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากความพยายามของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของคนและองค์กรในสังคม (Social Partnership) และการรับเอาแนวคิดการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) เข้ามาใช้ โดยมีสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) ร่วมผลักดัน
หนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญของงานนี้ก็คือ ธนะชัย สุนทรเวช หรือ เมฆ ผู้จัดการอาวุโส ด้านการพัฒนาหุ้นส่วนทางสังคมและการมีส่วนร่วม สำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
จุดเปลี่ยนของนักเล่านิทาน
ธนะชัยเล่าว่า เขาเริ่มต้นทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน จากการประกอบอาชีพเป็นนักแต่งนิทาน เจ้าของสำนักพิมพ์ก้อนเมฆ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2550 เพื่อทำหน้าที่สร้างสรรค์หนังสือนิทานสำหรับเด็ก โดยมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนเป็นตัวจุดประกายให้เขาก้าวเข้าสู่เส้นทางของนักเล่าเรื่อง
จุดเปลี่ยนของธนะชัยในฐานะนักเล่านิทานนั้น เกิดขึ้นเมื่อเขาได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้การทำงานของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก โดยมี ทิชา ณ นคร หรือป้ามล ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการของบ้าน
สถานที่แห่งนี้ถือเป็นต้นแบบของกระบวนการคืนผู้กระทำผิดคืนสู่สังคม เพราะถึงแม้เด็กและเยาวชนที่เข้ามาอยู่ในความดูแลของบ้านกาญจนาจะล้วนมีความเกี่ยวข้องกับคดีอุกฉกรรจ์ แต่อัตราการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนที่นี่อยู่ที่เพียง 3% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก
“ในทีแรก ผมเคยสงสัยว่าสถานที่แห่งนี้จะเปลี่ยนเด็กที่มีคดีรุนแรงติดตัวขนาดนี้ได้จริงหรือ” ธนะชัยกล่าว
ต่อมาธนะชัยได้มีโอกาสศึกษาในหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Rule of Law Development Program: RoLD) ของ TIJ ในปี 2562 และได้กลับไปที่บ้านกาญจนาอีกครั้ง เพื่อศึกษากระบวนการดูแลอย่างละเอียด
นอกจากนี้ ธนะชัยยังสวมหมวกผู้พิพากษาสมทบ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งทำให้เขาได้เห็นภาพรวมและลักษณะร่วมของปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน โดยเขาพบว่า เด็กเหล่านี้มักเกิดในครอบครัวที่มีปัญหา ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งบ้าง พ่อแม่ติดยาเสพหรือถูกจำคุกอยู่บ้าง ปัญหาดังกล่าวยังสัมพันธ์กับการศึกษาและภาวะทุพโภชนาการ ธนะชัยเดินทางไปศึกษาดูงานเพิ่มเติมที่ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กระยอง ในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้พบเห็นเด็กหลายคนซูบผอม หลายคนโตแล้วก็ยังอ่านหนังสือไม่แตกฉาน
“เด็กเหล่านี้ไม่ใช่เด็กไม่ดี แต่พวกเขาขาดความอบอุ่น ขาดคนรับฟัง และคำชื่นชม” ธนะชัยอธิบาย
พลังแห่งการเล่าเรื่อง
ด้วยข้อสรุปที่ได้มาจากการวิเคราะห์ต้นตอของปัญหา ทำให้ธนะชัยอาสาเข้าไปช่วยโดยใช้พลังของนิทานในการฟื้นฟูศักยภาพในตัวเด็ก โดยเริ่มจากทำกิจกรรมละลายพฤติกรรมและสร้างความคุ้นเคย
“จากจุดเริ่มต้นที่จัดกิจกรรมเล่านิทานเดือนละครั้ง ก็ขยับมาเป็นสัปดาห์ละครั้ง และจากที่เคยลุยเดี่ยวก็มีพันธมิตรเข้ามาร่วมด้วย จนต่อยอดไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ในที่สุด เช่น กิจกรรมนั่งสมาธิ และกิจกรรมสอนการเขียน” เขาเล่า
เวลาผ่านไป เด็กกลุ่มนี้มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน จากพฤติกรรมปลีกตัวเงียบก็เริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้น อ่านเขียนได้ดีขึ้น ธนะชัยค้นพบว่าเด็กหลายคนมีพรสวรรค์ในตัวเอง บางคนมีความสามารถทางด้านกีฬา จนถึงขั้นได้ทุนการศึกษาเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ ดูเหมือนว่าพลังแห่งการเล่าเรื่องนี้จะช่วยจุดประกายความฝันและเป้าหมายในชีวิตของเด็กหลายๆ คน
เบนเข็มสู่งานยุติธรรมเต็มตัว
ในปี 2563 ธนะชัยได้ตกลงเข้าร่วมงานกับ TIJ อย่างเป็นทางการในฐานะตำแหน่งผู้จัดการอาวุโส ด้านการพัฒนาหุ้นส่วนทางสังคมและการมีส่วนร่วม
“การมาร่วมงานกับ TIJ ทำให้ผมได้มีโอกาสทำงานด้านเด็กและเยาวชนมากขึ้น เจอกลุ่มเป้าหมายที่กว้างมากขึ้นกว่าเดิม และค้นพบว่างานที่ทำมีประเด็นเชื่อมโยงถึงกันหมด” เขากล่าว
ตามคำบอกเล่าของธนะชัย ช่องโหว่หนึ่งของกระบวนการยุติธรรมคือกระบวนการคืนผู้กระทำความผิดสู่สังคม (Social Reintegration) เขาค้นพบว่าทักษะหลายอย่างที่เรียนรู้ระหว่างถูกจำกัดเสรีภาพนั้นยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของโลกภายนอก
นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการนำหลักสูตรดีแทค เน็ตทำกิน เข้าไปยกระดับทักษะดิจิทัลให้กับเด็กและเยาวชนที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง รวมทั้งทศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านสิรินทร บ้านกรุณา และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิง บ้านปรานี โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ความเห็นชอบและส่งเสริม
หุ้นส่วนทางสังคมช่วยคืนคนที่มีคุณภาพสู่สังคม
ตามคำบอกเล่าของธนะชัย งานของเขาเกี่ยวกับการพัฒนาหุ้นส่วนทางสังคมนั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการพัฒนากระบวนการยุติธรรม อันประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ “ตั้งต้นดี มีงานทำ ไม่กระทำผิดซ้ำ”
“ตั้งต้นดี” เป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการคืนผู้ต้องขังและพ้นโทษสู่สังคม โดยกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือ กลุ่มที่ไม่มีครอบครัว เพราะเสี่ยงต่อการกระทำผิดซ้ำสูง ปัจจุบัน มูลนิธิบ้านพระพร ถือเป็นต้นแบบของบ้านกึ่งวิถี (Halfway House) โดยจะรับผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวแต่ไม่มีครอบครัวมาอยู่ในความดูแล ซึ่งใน 3-6 เดือนแรก มูลนิธิฯ จะให้ความสำคัญกับการปรับบุคลิกภาพและกระบวนการคิด (Mindset) จากนั้นจึงให้การสนับสนุนด้านการศึกษา
“มีงานทำ” เมื่อผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวแล้ว ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากโดยเฉพาะปัจจัยด้าน “เวลา” เพื่อให้พวกเขามีทุนทรัพย์ในการดำรงชีวิตและประกอบสัมมาอาชีพ เพราะหากออกมาแล้ว แต่ไม่มีเงินหรือเครื่องมือและทักษะในการหาเลี้ยงอาชีพ แนวโน้มในการกระทำผิดซ้ำจะมีสูงมาก จึงต้องเข้าไปช่วยเหลือให้เร็ว
จากแนวทางที่กล่าวมานั้น “การไม่กระทำผิดซ้ำ” จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้รับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยแผนงานการพัฒนาหุ้นส่วนทางสังคมของ TIJ สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม (Innovation) กลุ่มผู้สนับสนุนด้านเงินทุน (Seed money) กลุ่มผู้สนับสนุนด้านความรู้ (Know-how) และกลุ่มผู้สนับสนุนอุปกรณ์ (Support) โดยมี TIJ เป็นโซ่ข้อกลางเพื่อหาแนวทางขยายผล (Scale-up) ต่อไป
“การลงโทษไม่ใช่คำตอบของกระบวนการยุติธรรม แต่การให้โอกาสให้พวกเขาได้สำนึกและปรับตัวเป็นแนวทางที่ดีกว่า เพื่อเราจะได้คนที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคม เพราะสุดท้ายแล้ว เราต่างต้องอยู่ในสังคมเดียวกัน” ธนะชัยกล่าว
สำหรับธนะชัยแล้ว การทำในสิ่งที่ชอบนั้นคือความสุข แต่การได้ทำเพื่อคนอื่นคือความหมายของชีวิต ซึ่งเขาได้ค้นพบความสุขและความหมายของชีวิตตอนที่เข้ามาทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนที่ TIJ นี่เอง