Social NO Distancing

ทำงานให้ออกมาดี บางทีก็ต้องเอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับงาน

วันนี้มีโอกาสพูดคุยกับคุณกุลวิทย์ Head of Corporate Brand Management & Social Engagement ที่ใครหลายคนอาจมีภาพจำของเขาในออฟฟิศจากการแต่งตัวที่ดูโดดเด่นในแบบ “Street Style”

สไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะยีนส์

คุณกุลวิทย์เล่าว่า “จริงๆจุดเริ่มต้นเป็นแค่เรื่องบังเอิญ คือปกติเป็นคนชอบกางเกงยีนส์อยู่แล้ว และหลายๆปีก่อนไปเที่ยวกับเพื่อนๆที่ญี่ปุ่น และไปเจอกางเกงยีนส์แบรนด์ Bathing Ape ที่จะมี signature เป็นลายปากปลาฉลาม (shark) อยู่ตรงกลางเป้ากางเกง ปรากฏว่าเพื่อนเราพอเขาลองใส่กันแล้วรู้สึกว่ามันดูแปลกๆ ไม่ค่อย ok แต่เราพอใส่เพื่อนบอกว่า เออ มันดูเข้ากะบุคลิกนะ ไม่เลว เลยกลายเป็นว่าเริ่มมั่นใจและชอบมาตั้งแต่ตอนนั้น” และการหลงใหลกางเกงยีนส์ที่มีลวดลายแปลกตา และ ไม่ซ้ำใคร

จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ทุกคนจำผู้ชายคนนี้ได้ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาร่วมงานที่ดีแทค

“ตั้งแต่เรียนจบก็ตั้งใจว่าจะไม่ทำงานที่ๆบังคับให้ใส่ยูนิฟอร์ม ยิ่งพอรู้แนวตัวเองว่าชอบใส่แนวไหน แต่ละวันที่แต่งตัวเข้าออฟฟิศมา เราก็รู้สึกเป็นตัวเองตลอดเวลาที่ทำงาน”

การรู้จักความชอบของตัวเองในมุมมองของคุณกุลวิทย์นั้น มองว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนให้คนอื่นเห็นตัวตนเรามากขึ้น จำเราได้มากขึ้น แรกๆที่เข้ามาทำงานที่ดีแทค คนจะไม่รู้จักว่าทำงานแผนกไหนทำอะไร แต่พอบอกว่าคนที่ใส่กางเกงตัวนั้นตัวนี้คนจะนึกออก

blank

“ตัวนี้เป็นกางเกงตัวโปรดที่ได้จากตอนไปเที่ยวโอซาก้า สำหรับแบรนด์ EVISU นี้ทางร้านให้เลือกลงสี signature ประจำเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นได้เองเลย ซึ่งจริงๆ แล้วจะเลือกได้แค่สีเดียว แต่เหมือนว่าเขาถูกชะตากับเราก็เลยยอมลงให้ 2 สีในตัวเดียวเลย เลยเป็นตัวโปรดเพราะเหมือนมีตัวเดียวในโลกเป็นของเรา”

จากจุดเริ่มต้นแบบงงๆจนตอนนี้มีสะสมไว้เป็นจำนวนมาก

จากที่เริ่มซื้อใส่ตัวสองตัวแล้วรู้สึกว่าชอบ เลยกลายเป็นว่าเราก็เสพติดซื้อต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมักจะซื้อเวลาไปญี่ปุ่น อีกส่วนหนึ่งจะมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เขาทำธุรกิจซื้อขายกางเกงยีนส์มากว่า 20ปี บางครั้งเราก็จะได้ตัวดีๆหายากๆมาจาก connection ของเขา” จริงๆแล้วกางเกงยีนส์มีหลากหลายแบบ หลายสไตล์ และหลายแบรนด์มากๆ ซึ่งคนเล่นยีนส์ก็จะสะสมต่างกัน เพราะรูปร่างแต่ละคนไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าคนๆนั้นใส่ทรงไหนเหมาะและใส่สไตล์ไหนขึ้นด้วย

ข้อดีอีกอย่างของการสะสมยีนส์คือเป็นของที่เราไม่จำเป็นต้องซื้อของใหม่หรือมือหนึ่งเสมอไป ตลาดซื้อขายยีนส์มือสองไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะยีนส์ยิ่งเก่าก็ยิ่งสวย วัสดุการตัดเย็บแข็งแรงและมีอายุการใช้งานนาน บางตัวราคารีเซลสูงเป็นหมื่นก็ยังมีคนซื้อขายกันอยู่ ซึ่งเราเองจะเลือกสะสมยีนส์ในหมวด “street brand” มากกว่า สาเหตุคือยีนส์ในหมวดนี้มักจะมีดีไซน์ลวดลายแปลกๆ และผลิตจำนวนน้อย และผู้ชายส่วนใหญ่ชอบใส่กางเกงลายพื้น พอเราได้มาใส่จะไม่ค่อยซ้ำกับใคร อีกทั้งเนื่องจากเป็น street brand มันเลยไม่ค่อยมีเรื่อง season ของ fashion เข้ามาเกี่ยว คือจะผ่านไปกี่ปี ซื้อขายมาใส่กันเมื่อไหร่มันก็เป็นเอกลักษณ์ของมันเสมอ ไม่มีเก่า ใส่ได้ตลอดเรื่อยๆ เพราะแต่ละตัวมันก็เป็น signature ของมันไปตลอด

blank

อิสระในการเป็นตัวเองมีผลกับชีวิตการทำงานมากแค่ไหน

อย่างคุณกุลวิทย์เองเคยทำงานด้านโฆษณามาก่อน การแต่งตัวตามสบายมากๆในที่ทำงานไม่ใช่เรื่องแปลก แต่วันนี้ได้ก้าวเข้ามา

ทำงานกับที่ดีแทค บุคลิกของเราอาจจะดูไม่ชินตากับคนอื่นไปบ้าง “สำหรับคนรอบข้างคงรู้สึกไม่ชินมากกว่า ซึ่งในออฟฟิสส่วนใหญ่ก็จะแต่งตัวค่อนข้างทางการในการมาทำงาน พอเราเข้ามาเราก็ยังเป็นเราแบบนี้

แต่จริง ๆ องค์กรมีความเปิดกว้างนะ ซึ่งทีมผมส่วนใหญ่ก็จะไม่ได้แต่งตัว ทางการกันมากอยู่แล้วเพราะเราอยู่แผนก Marketing Communication ความ creative เล็ก ๆ น้อย ๆในแต่ละตัวบุคคลมันต้องมี ยังบอกน้องๆเสมอว่า การที่ที่ทำงานเขามีกฏระเบียบตีเส้นตีกรอบไว้เป็นเรื่องดีและไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ไม่มีใครบอกว่าห้ามเรายืนทับเส้นพอดีนี่ เราไม่ได้อยู่ในกรอบแต่เราก็ไม่ออกนอกรอบเช่นกัน กล้าคิด กล้าพูด กล้าลงมือทำ แต่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เป็นเรื่องที่ดีเสมอ”

นอกจากสไตล์การแต่งตัวที่เป็นตัวเอง มุมมองในเรื่องการทำงานของคุณกุลวิทย์นั้นก็โดดเด่นจนสัมผัสได้ จึงอยากแชร์อีกมุมที่จะทำให้ได้รู้จักตัวตนเขามากขึ้น

ผลงานที่มีลายเซ็นต์เป็นของตัวเอง

ตอนที่เข้ามาดีแทคแรกๆจะดูแลแค่ในส่วนสื่อสารการตลาดด้าน Branding และ Network เป็นหลัก ต่อมาได้รับมอบหมายให้ลองช่วยดู Social Engagement และ Community เพิ่มด้วย ซึ่งเราก็มองว่าเป็นส่วนงานที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่นึกถึงคำพูดของหัวหน้างานอยู่ประโยคหนึ่ง (พี่ม้อง ศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้อำนวยการอาวุโส Head of Brand Communication) พี่เขาบอกว่ามองเห็นลักษณะบุคลิกส่วนตัวหลายๆอย่างที่ดูเหมาะและน่าจะทำงานตรงนี้ได้ดี เราเลยเกิดความคิดว่าถ้าเขามองแบบนี้แปลว่าเราน่าจะเอาความถนัด ความชอบ หรือ สไตล์ส่วนตัว มาใช้และผสมในการทำงานได้ ตัวเราเองก็จะไม่รู้สึกว่าต้องฝืนทำงานที่ไม่ชอบหรือทำงานที่ไม่ถนัดอยู่ตลอดเวลา ก็ถือว่าเป็น win win ทั้งเราและบริษัทฯ เพราะเราได้ทำสิ่งที่ชอบ ส่วนบริษัทฯก็ได้งานดีๆออกมา

blank

ช่วง Covid-19 ที่ต้อง Work From Home ยังแต่งตัว VDO Call ไหม

“ช่วงแรกๆคิดว่าอยู่บ้านตลอดเวลาแบบนี้คงไม่ได้ออกไปไหน เพราะเวลา VDO Call ก็ปิดกล้องหรือเห็นแค่ครึ่งตัวตัวอยู่แล้ว คงจะเพลาๆการแต่งตัวลง แต่เอาจริงๆ เพิ่งค้นพบว่าจริงๆแล้วช่วงนี้เป็นนาทีทองของการซื้อกางเกงยีนส์เพื่อสะสมเลย”

เพราะ Covid-19 ทำให้คนหลายคนต้องเข้าสู่ digital platform อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

“ผมว่าเหตุการณ์ช่วงนี้ ที่ห้างร้านสถานที่ธุรกิจจำเป็นต้องปิดหน้าร้านมันบังคับให้ผู้ขายหลายคนต้องกระโดดเข้า online อย่างที่เขาอาจจะไม่เคยสนใจมาก่อน เอาง่ายๆว่า ปกติยีนส์มือสองตัวหายากๆ บางทีขายกันอยู่ในจตุจักร ต้องเดินหาถ้าโชคดีก็เจอ หรืออย่างที่เพื่อนผมคนที่ซื้อขายยีนส์ปกติต้องไปถึงโรงเกลือเพื่อเปิดกระสอบแล้วคัดของ บางทีแม้แต่คนขายเองยังไม่รู้จักแบรนด์และมูลค่าของมันด้วยซ้ำ อาศัยขายเอาปริมาณหรือขายตามสภาพ แต่พอช่วงนี้หน้าร้านต้องปิด ช่องทางเดียวที่ยังค้าขายได้คือ online คนขายต้องกระโดดเข้ามาเรียนรู้และอยู่ให้ได้ไม่งั้นไม่รอด กลายเป็นว่าช่วงนี้ผมจะเห็น ยีนส์ตัวดีๆที่ไม่เคยเจอมาก่อน เริ่มโผล่ใน online จากคนขายหน้าใหม่เต็มไปหมด บางทีคนพม่าเปิดกระสอบที่โรงเกลือก็เปิด Facebook ขายเองเลย เพราะตลาดโดนปิด”

Covid-19 เปลี่ยนชีวิตและการทำงานไปมากแค่ไหน

“ผมว่า Social Distancing จริงๆมันคือ Physical Distancing นะ แต่คน Social กันมากขึ้นด้วยซ้ำแต่ว่าถูก migrate เข้ามาอยู่ใน online/digital เลยไม่แปลกใจว่าความรับผิดชอบงานส่วน Social ที่ทำอยู่กับทีมตอนนี้จะเยอะมากขึ้นหลายเท่ากว่าตอนปกติ เพราะมันกลายเป็นช่องทางหลักและก็จะเป็น New Normal อย่างที่ทุกคนรู้และเตรียมตัวกันอยู่แล้ว ธุรกรรมที่ลูกค้าเคยชินว่าต้องไปที่ shop ไปที่หน้าร้าน ไปที่สาขา ตอนนี้เรา migrate ลูกค้าเข้ามา dtac App ได้เป็น 2 เท่า พอ behavior และ journey ของลูกค้าเปลี่ยนมาอยู่บนนี้ ต่อไปนี้มันก็จะกลายเป็นโอกาส”

คนทำงานในภาวะนี้ต้องมี mindset ที่จะต้องเปิดรับและไม่ยึดติดก่อน แล้วตั้งสติและเลือกให้ดีว่า วิธีการแบบไหนที่มันเหมาะกับแบรนด์ของเราจริงๆมากที่สุด ไม่ต้องตามทุกกระแสแต่ก็ต้องไม่อยู่กับรูปแบบเดิมๆเสมอไป

ความชอบความถนัดของตัวเองเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้และมันจะเป็นของเราเสมอ แต่สิ่งที่อยู่รอบๆตัวมันเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เรารู้ว่าเราอาจควบคุมไม่ได้ ผมพยายามไม่ยึดติดว่าตอนนี้ทำงานจากบ้านหรือที่ทำงาน หรือ เราจะต้องมี work – life balance เท่านั้นชีวิตถึงจะดีหรืองานถึงจะมีประสิทธิภาพ แต่ผมมองว่าทุกอย่างอยู่ที่การเปิดใจและปรับตัวนะครับ และยิ่งถ้าเราโชคดีได้ทำสิ่งที่ชอบ สนุก และมี passion กับมันจริงๆ ทุกวันที่ทำ เราจะไม่รู้สึกเหมือนว่ากำลังต้องทำงานเลย”