หลังรับทราบแนวคิด และวิธีการปรับองค์กรของดีแทคเพื่อเดินหน้าการทำงานรูปแบบ Agile ไปแล้ว ครั้งนี้ลองมาทำความเข้าใจลักษณะงานของตำแหน่งต่างๆ ในการทำงานแบบ Agile และการเติบโตของตำแหน่งเหล่านี้กัน
ลบภาพตำแหน่งเยอะๆ เพราะทุกคนคือทีม
ปกติแล้วการทำงานแบบดั้งเดิมจะมีตำแหน่ง และลำดับขั้นมากมาย เช่นหัวหน้าฝ่าย หรือผู้จัดการแผนกต่างๆ แต่การทำงานแบบ Agile นั้นมีเป้าหมายหลักๆ คือลดจำนวนตำแหน่งเหล่านั้น เพื่อทำให้องค์กรดูแบนขึ้น ลดลำดับขั้น และสามารถเดินหน้าได้เร็วกว่าเดิม ไม่ต้องตัดสินใจหลายขั้นเวลาจะทำโปรเจคต์
จากจุดนี้เองทำให้ตำแหน่งหลักๆ ของการทำงานแบบ Agile มีเพียง Product Owner, Scrum Master, Agile Coach, Chapter Lead และ Tribe Lead แต่ทั้ง 5 ก็ยังเป็นแค่ส่วนน้อย เพราะการทำงานแบบ Agile สมาชิกส่วนใหญ่ที่ทำงานแบบนี้คือ Team ที่ประกอบด้วยพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาทำงานร่วมกัน
โชคชัย ภัทรมาลัย Agile Coach ของดีแทค เล่าให้ฟังว่า การทำงานแบบ Agile นั้นไม่มีใครสูงกว่าใครในแง่ตำแหน่งงาน เพราะล้วนแต่รับผิดชอบงานที่ตัวเองได้รับมอบหมาย เพื่อรายงานไปยังระดับผู้บริหาร หรือที่เราเรียกกันว่า “C-Level” ทำให้ทีม และทั้ง 5 ตำแหน่งที่กล่าวไปข้างต้นต่างก็มีความสำคัญเท่าเทียมกันทั้งหมด
5 ตำแหน่งที่ทำขึ้นเพื่อ Agile โดยเฉพาะ
ทั้ง 5 ตำแหน่งแบบ Agile มีลักษณะงานดังนี้
- Product Owner เป็นคนดูแลเรื่องการวางลำดับความสำคัญของการสร้างสินค้า หรือบริการในทีมนั้นๆ เพื่อให้ผลิตสินค้า หรือบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- Scrum Master เป็นคนสอนให้ทีมเข้าใจในเรื่องต่างๆ ของการทำงานแบบ Agile พร้อมกับสำรวจทีมตลอดเวลา เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ และเติบโตไปด้วยกัน
- Agile Coach เป็นคนที่ถอยออกมาจากทีมเล็กน้อย เพราะเน้นทำงานร่วมกับ Product Owner และ Scrum Master รวมถึงช่วยเจรจาในระดับองค์กร เพื่อลดการติดขัดในการทำงานแบบ Agile
- Chapter Lead เป็นคนที่ช่วยแนะนำกลุ่มพนักงานที่รับผิดชอบเรื่องเดียวกันในทีมต่างๆ เช่น Business Analyst เพราะพวกเขาแทบไม่ได้คุยกับคนที่รับผิดชอบงานรูปแบบเดียวกันเลย
- Tribe Lead เป็นคนที่คอยติดต่อกับระดับบริหาร เพื่อนำข้อมูล และแนวทางมาสื่อสารต่อกับทีมต่างๆ พร้อมกับกำหนดภาพรวมเป้าหมายของแต่ละทีมด้วย
“หัวใจของการทำงานแบบ Agile คือสมาชิกทุกคนในทีม ต่างกับการทำงานแบบเดิมที่มีหลายตำแหน่งงาน หลายขั้น ซึ่งมันเป็นปัญหาของการทำงานแบบเดิม เพราะเมื่อคุณเป็น Senior ที่ทำงานเก่ง คุณก็จะถูกโปรโมทเป็น Manager แต่คุณอาจไม่ถนัดงานบริหาร สรุปคือองค์กรก็จะเสีย Senior เก่งๆ แต่ได้ Manager ที่ทำงานไม่ได้มาแทน” โชคชัย ภัทรมาลัยกล่าว
ภาพเบื้องต้นขององค์กรที่ทำงานแบบ Agile จะคล้ายกับเซลล์ คือระดับผู้บริหารอยู่ตรงกลางเป็นนิวเครียส และรอบๆ ระดับบริหารก็จะมีทีมต่างๆ ถูกเชื่อมต่อผ่าน Tribe Lead โดยทีมเหล่านั้นสามารถใกล้ชิดกับลูกค้าที่อยู่ด้านนอกได้โดยตรง ช่วยลดขั้นตอนต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานกับลูกค้าได้ดีกว่าเดิม
เติบโตด้วยตัวเอง พร้อมค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น
“ผมอยากเรียกการเติบโตในการทำงานแบบ Agile ว่าเติบโตโดยธรรมชาติ และได้ผลตอบแทนที่ยุติธรรม เพราะคุณก็จะเป็น Senior ไปเรื่อยๆ ได้ทำงานที่ชอบ ที่เก่งไปตลอด และมีเงินเพิ่มขึ้น ไม่ต้องมีลำดับขั้นเข้ามาเป็นส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันหลายองค์กรก็เริ่มให้พนักงานในทีม Agile ตั้งชื่อตำแหน่งเองแล้ว แสดงให้เห็นถึงการละลาย Role ต่างๆ ในองค์กร“ โชคชัย ภัทรมาลัยกล่าว
ถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็คือก่อนหน้านี้การเติบโตในองค์กรแบบดั้งเดิมจะเป็นการเติบโตแบบไต่บันไดลิง คือสูงขึ้นไป และยากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนการทำงานแบบ Agile ทุกคนจะเติบโตเป็นกระดานหมากรุก เพราะทุกบทบาทนั้นเท่ากัน และมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือสร้างความสำเร็จให้กับองค์กร
ทั้งนี้ในดีแทคมีการเปิดให้แผนก หรือทีมที่สนใจเปลี่ยนจากการทำงานรูปแบบเดิมไปเป็นการทำงานแบบ Agile แล้ว และทางทีมเหล่านั้นจะได้เข้าร่วม Agile Newbies Package เพื่อเรียนรู้การทำงานแบบ Agile ในระดับเบื้องต้นก่อนเข้าสู่การทำงานแบบ Agile เต็มรูปแบบ