เกษตรกรยุคดิจิทัล…ออนไลน์อินทรีย์จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“เป็นเด็กในหมู่บ้านที่มาฝึกทำเกษตรกับมล พาเขามาด้วย เพราะจากชื่องานคือ เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด จึงอยากให้เขารู้ว่าการกลับมาทำการเกษตรในบ้านของตัวเอง อย่างน้อยก็ยังมีคนเห็น มีคนให้รางวัล” คุณมล หรือจิราวรรณ เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดคนล่าสุด ที่เอาชนะใจกรรมการด้วยการคิดค้นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพไมคอร์ไรซา และไรโซเบียม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเห็ดถั่งเช่าอินทรีย์สูตรเจแบรนด์ ALFAMA เล่าถึงวันที่พาทีมงานตัวน้อยลงจากดอยมารับรางวัลที่ตึกดีแทค ครั้งนี้เราได้เดินทางมาพูดคุยกับเธอ และทีมงานรุ่นเยาว์ท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนาฟ้ากว้างของบ้านหัวทุ่ง อำเภอเชียงดาว

“มลโชคดีที่เกิดที่นี่ เพราะมีน้ำมีป่า มีทรัพยากรเต็มที่ ซึ่งผืนป่าแห่งนี้มีเรื่องราวเล่าขานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สมัยนั้นเปิดให้สัมปทานป่าไม้ เมื่อป่าสักถูกตัดขายหมด ชาวบ้านจึงเข้าไปจับจองทำการเกษตร จากที่เคยเป็นต้นน้ำก็เริ่มแห้งแล้ง จึงเดือดร้อนมาถึงคนปลายน้ำ ชาวบ้านจึงเริ่มสำนึกด้วยตัวเองว่า จะไม่ยุ่งกับพื้นที่ตรงนี้ ก็มีพิธีอนุรักษ์ต้นไม้ตามความเชื่อของชาวบ้าน เช่น บวชต้นไม้  ชาวบ้านก็ซึมซับมารุ่นต่อรุ่นว่า ต้องดูแลป่า เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามตัดไม้ มลก็เช่นกันเมื่อได้เข้าป่ากับพ่อกับปู่บ่อยๆ ยิ่งซึมซับลงไปถึงจิตวิญญาณ จึงเลือกเรียนด้านจุลินทรีย์ ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ แล้วอยากลองทำการเกษตร จึงลงทุนทำฟาร์มเห็ดโคนญี่ปุ่น ลงทุนไปสามแสนบาท  ณ ตอนนั้นยังเด็กจึงทำการเกษตรแบบไม่ลงทุน ไม่หาตลาด ซื้อก้อนเห็ดจากพ่อค้า แล้วตัดดอกขายเป็นแพ๊ค ปรากฏว่าเขาไม่โอนเงินให้ แล้วพอเรียนจบมลเรียนต่อปริญญาโทเลย ทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ขณะที่เห็ดก็ออกมาเรื่อย แต่ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ก็ต้องหาข้อมูลว่าที่ไหนมีโรงงานรับแปรรูปเห็ดบ้าง จากที่มลไม่ชอบไปหาตลาดก็ต้องนำเห็ดไปขายที่ตลาดเชียงใหม่

k.MOL_YO_9396221217“ขณะเดียวกันต้องลงมาทำแล็ปที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กรุงเทพฯ จำได้ว่าปี 2554 น้ำท่วมกรุงเทพฯ กระทรวงวิทย์ฯ จมน้ำ มลจึงกลับบ้าน ตอนอยู่บ้าน เราไม่ได้ใช้เงินสักบาท แต่ท้องอิ่ม ทำให้มลเข้าใจว่า ความจำเป็นในชีวิตจริงๆ แล้ว ไม่ใช่เงิน แต่คืออาหาร แต่ที่คนส่วนใหญ่ต้องการเงิน เพราะเขาไม่มีพื้นที่ผลิตอาหาร จึงต้องใช้เงินเพื่อมาซื้ออาหารก่อนอันดับแรก แต่อย่างไรก็ตามก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้องมีรายได้ในการยังชีพ จากที่ทำฟาร์มเห็ดมาก่อนก็รู้ว่า มีเห็ดบางตัวที่สามารถสกัดเป็นยาได้ เช่น เห็ดหลินจือ โดยเฉพาะเห็ดถั่งเช่าที่ช่วยในการฟื้นฟูเซลล์ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาใหม่ ดีต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคไต รวมทั้งมีสรรพคุณช่วยเพิ่มออกซิเจนในเลือด ซึ่งดีต่อนักกีฬา ไม่ให้เป็นตะคริว รวมทั้งรักษาโรคภูมิแพ้ด้วย ซึ่งตัวเองและครอบครัวก็เป็นโรคเหล่านี้ทั้งนั้น จึงทำโครงการวิจัยคิดค้นสูตรอาหารเลี้ยงถั่งเช่าแล้วต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ จึงคิดว่า หากต้องลงทุนทำทั้งหมดคงไม่ไหว จึงปรึกษาอาจารย์และคณบดีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ท่านให้นำมาวิจัยคิดค้นที่มหาวิทยาลัย จึงใช้ชื่อมล เพื่อน และน้องชาย จดทะเบียนในรูปบริษัท ทำเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัย เพื่อใช้เครื่องมือและห้องแล๊ป โดยแลกเปลี่ยนกับความรู้ตีพิมพ์ลงในวารสาร

“ขณะเดียวกันบ้านมลเปิดร้านขายของชำ จึงชอบค้าขายมาตั้งแต่เล็ก ตอนที่ทำแล็ปที่กระทรวงวิทย์ฯ ฝั่งตรงข้ามเป็นตลาดไทย ส่วนใหญ่ผักจะสั่งมาจากภาคเหนือ ในฐานะที่เราเป็นลูกเกษตรกรชาวเหนือจึงเป็นแม่ค้าคนกลางเสียเลย ตั้งแต่นั้นชีวิตอยู่แถวตลาดไทย ทำแล็ปเสร็จก็ข้ามไปถามแม่ค้าว่า อยากได้ผักอะไร พอกลับบ้านที่เชียงใหม่ก็ชวนเพื่อนขึ้นไปหาเกษตรกรบนดอย ได้คลุกคลีกับชาวบ้าน ได้เห็นวิธีการปลูกในแต่ละพื้นที่ เรื่องตลาด เราไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกที่อำเภอโน้นนี่ เริ่มเข้ามาในวงจรธุรกิจเกษตรเต็มตัวจึงเข้าใจว่า ทำไมชาวบ้านจึงมีต้นทุนสูง ทำไมจึงพึ่งตัวเองไม่ได้ เพราะเมื่อพ่อค้าคนกลางล็อคสเป๊คผลผลิต เขาไม่รู้วิธีการเพิ่มผลผลิตก็ต้องเชื่อคำโฆษณาที่ให้ใส่ปุ๋ย หรือฮอร์โมน เพื่อให้ได้ขนาดอย่างที่พ่อค้าต้องการ เพราะฉะนั้นจึงมีต้นทุนสูง หากรับไม่ไหว ก็ขายไร่ขายนา เพราะลูกหลานไม่ทำต่อ

k.MOL_YO_9555221217“มลจึงคิดว่า ต้องมีวิธีแก้ไขที่ถูกต้อง เพราะการนำผลผลิตมาแปรรูปไม่ควรมีสารเคมีตกค้าง ยิ่งอายุมากขึ้น อวัยวะในร่างกายเสื่อมลง สิ่งเหล่านี้ก็ค้างอยู่ในตัวทำให้เกิดโรคตามมา มลจึงอยากทำผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงตั้งแต่ว่า หากดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีก็จะได้วัตถุดิบที่ดี แล้วไม่ว่าจะนำไปแปรรูปเป็นอะไรก็มีคุณภาพ มลเรียนจบมาทางจุลชีวะจึงอยากทำปุ๋ยชีวภาพ โดยทำจากสิ่งมีชีวิตชนิดเดียว อาจเป็นแบคทีเรีย หรือเชื้อราที่เมื่อเข้าไปอยู่ในรากพืช แล้วดูดธาตุอาหารให้พืช ก็ไปขอคำปรึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์แนะนำให้เรียนปริญญาเอก เพื่อที่จะเขียนโครงการขอทุนเป็นงานวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์จากสำนักงานวิจัย ซึ่งโครงการตอบโจทย์ว่า จะผลิตมาเพื่อแก้ปัญหาสารเคมีได้งบมา 1,700,000 บาท มลสร้างเป็นเครือข่าย Young Smart Farmer เชียงใหม่ กับเชียงดาว โดยรวมกลุ่มกับวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีเชียงดาว ใช้ชื่อ ‘ม่วนใจ๋ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ วิถีเชียงดาว’ แปรรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเห็ดถั่งเช่าอินทรีย์ สูตรเจ ภายใต้แบรนด์ ALFAMA เพราะก่อนหน้านี้มลปลูกโดยใช้ผงดักแด้ แล้วไปอบแห้งบดเป็นผง แล้วให้โรงงานบรรจุในรูปของแคปซูล แล้วให้เพื่อนลองกิน ปรากฏว่าแพ้ คัน มลจึงคิดว่า ของบริโภคไม่ควรมีสารเคมี เพราะฉะนั้นถั่งเช่าของมลจะเป็นอินทรี ปลูกโดยใช้พืช

“จากนั้นมลขออย. (องค์การอาหารและยา) แล้วขายในเฟซบุ๊ก มีสูตรสำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย กับกลุ่มผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เพื่อดูว่ากลุ่มลูกค้าของเราเป็นใคร โดยที่มนใช้ตัวเองทดลองด้วย ทานวันละ 2 เม็ด เช้าและก่อนนอน เพราะตัวเองเป็นภูมิแพ้ และเป็นนักกีฬาด้วย โดยเล่าเรื่องราวตั้งแต่วัตถุดิบ และมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ลงในวารสารที่โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊กมหาวิทยาลัยกับเฟซบุ๊กส่วนตัว ก็มีเพื่อนๆ ในเชียงใหม่ที่ซื้อเพราะมั่นใจในตัวมล แล้วเมื่อใช้ดีก็บอกต่อ

“ขณะเดียวกันปุ๋ยชีวภาพก็เจาะกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่รู้ว่า ควรใช้สิ่งมีชีวิตดูแลพืชผัก ซึ่งต่างประเทศใช้กันเยอะ ใส่แค่ 1 ช้อนชาจะซึมเข้าไปในรากพืช ซึ่งเชื้อราจะช่วยให้รากฝอยเติบโตยาวขึ้น เพิ่มพื้นที่ในการหาอาหารได้กว้างขึ้น ประเทศไทยไม่นิยม เพราะมีราคาแพง แล้วหากนำเข้าก็ไม่เหมาะกับสภาพดินบ้านเรา มลจึงคิดค้นสายพันธุ์ที่เหมาะกับดินบ้านเรา คือเชื้อราไมคอร์ไรซา และเชื้อไรโซเบียม ซึ่งเจาะเข้าไปถึงแกนพืช สามารถเข้ากับพืช 99% ทุกชนิดทั่วโลก แต่ในงานวิจัยเราไม่สามารถทำกับพืชทุกชนิดได้ จึงเน้นที่พืชเศรษฐกิจคือข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลังเป็นหลัก มลเดินสายไปเก็บดินจากแปลงพืชเหล่านี้ทั่วประเทศ ภาคกลางก็ที่สุพรรณบุรี กำแพงเพชร ภาคอีสานไปที่จังหวัดขอนแก่น ภาคตะวันตกที่จังหวัดกาญจนบุรี ภาคเหนือที่เชียงใหม่ แล้วนำดินนั้นมาตรวจหาค่า ph เพื่อหาค่าร่วมกัน แล้วเพาะเชื้อให้มีจำนวนเยอะขึ้น ทำให้รู้ว่าชาวบ้าน ไม่ได้ใช้ภูมิปัญญาในการทำเกษตร ใช้แต่สารเคมี บางคนพ่นสารเคมีจนป่วย นักวิชาการก็เปลี่ยนให้พ่นเชื้อรา แต่ไม่ได้บอกวิธีการใช้ ชาวบ้านก็พ่นตอนเช้า กลางวันเชื้อราถูกแดดก็ตายเรียบ พอไม่ได้ผลก็เปลี่ยนตัวเชื้อไปเรื่อย จนที่สุดก็กลับไปจบที่สารเคมีเหมือนเดิม มลจึงรวมเพื่อนเกษตรกรรุ่นเดียวกันนำความรู้จากนักวิชาการมาย่อยเป็นภาษาชาวบ้าน แล้วเปิดอบรมเกษตรกรในช่วงอายุ 50-60 ปี เพื่อให้เขานำความรู้นั้นกลับไปใช้ที่บ้าน พอได้ผลดีก็มีการพูดคุยกันในหมู่เกษตรกร ทำให้ความรู้ค่อยๆ ซึมลงไปโดยไม่รู้ตัวk.MOL_YO_9522221217“ต้องยอมรับเลยว่า งานสำเร็จมาถึงวันนี้ได้ อินเทอร์เน็ตมีส่วนสำคัญ ตั้งแต่ติดต่อเพื่อน เพราะนัดเจอกันไม่เคยได้ แต่นัดทางไลน์ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็คุยได้ สะดวกมาก ทำให้งานไปเร็วมาก กับช่วยในการพรีเซ้นท์สินค้าแต่ละชิ้นว่า กว่าจะมาเป็นวันนี้ต้องผ่านขั้นตอนอย่างไร  หากลงโฆษณาก็คงแพง มลจึงใช้วิธีเขียนลงในเฟซบุ๊กหรือไลน์ อัพโหลดรูปภาพขึ้นเรื่อยๆ อาศัยการเป็นวิทยากรช่วยเกษตรจังหวัดอบรมชาวบ้าน อบรมกลุ่ม Young Smart Farmer  ทำให้เราเปิดตัวออกสู่สาธารณะก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามาอบรม พอจบคลาสก็ขอเฟซบุ๊ก หรือไม่ก็แลกไลน์กัน แล้วพอเขากดไลค์ เพื่อนของเขาก็เห็นก็ขยายกลายเป็นเครือข่ายเฟซบุ๊กไปสู่สาธารณะ จากสมัยที่มลค้าขายกับแม่ค้าที่ตลาดไทย ลูกค้าจะถามว่า ผลผลิตเรามีใบ GAP  หรือใบรับรองจากทางราชการหรือไม่ กลายเป็นว่าตอนนี้ลูกค้าไม่พูดถึงมาตรฐานการผลิตใดๆ เลย ซื้อเพราะอยากช่วยชาวบ้าน อยากช่วยชุมชน อยากช่วยเด็กๆ แล้วเมื่อเห็นข่าวสารของเราเรื่อยๆ ทั้งจากภาพ จากการแชตคุยกัน ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในสินค้ามากขึ้น

“ยิ่งมลได้รับรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ก็ยิ่งตอกย้ำในสิ่งที่เราคิดทำว่า ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่จริง จากที่แต่ก่อนไม่มั่นใจว่า ขบวนการทั้งหมดเราคิดไปเองหรือเปล่า มลจึงพยายามบอกเด็กๆ ว่า รางวัลนี้ยิ่งตอกย้ำว่า ทั้งสื่อ หน่วยงานราชการ และดีแทค อยากให้มีคนแบบนี้เกิดขึ้นในหลายๆ ที่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหลายๆ คน

“อย่างน้อยก็เป็นกำลังใจให้เด็กๆ รู้สึกว่า สิ่งที่เขาทำเล่นๆ ในหมู่บ้านนี้เป็นสิ่งที่ดีนะ ควรทำต่อไป”

ENGLISH VERSION

 

 

คอลัมน์ : Internet for life             แพรว : 25 Jan.61
เรื่อง :  Gormpat                             ภาพ :  ดวงพร ใบพลูทอง