สำหรับคนดีแทค คงคุ้นเคยกับถนนพระราม 4 เป็นอย่างดี เพราะที่ตั้งของสำนักงานใหญ่หรือ dtac House ที่อยู่บนอาคารจัตุรัสจามจุรี ซึ่งอยู่หัวมุมตัดระหว่างถนนพญาไทและพระรามที่ 4
ถนนพระราม 4 ในการรับรู้ของคนเมืองจะเป็นหนึ่งในถนนที่ขึ้นชื่อเรื่องรถติด มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกัน ถนนสายนี้มีประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าและมีสถานที่สำคัญถนนตัดผ่าน ตั้งแต่สถานีรถไฟหัวลำโพง คริสตจักรสะพานเหลือง ตลาดสามย่าน วัดหัวลำโพง สภากาชาดไทย ดุสิตธานี สวนลุมพินี พระตำหนักปลายเนิน ตลาดคลองเตย แต่ละสถานที่มีเรื่องเล่าเชื่อมโยงย่านพระรามสี่ มีการสร้างคอมมูนิตี้เกิดขึ้นมากมาย
จุดเปลี่ยนพระรามที่สี่ จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นวันที่ถนนพระราม 4 ครบรอบ 100 ปี ถนนสายนี้เกิดขึ้นเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพราะฝรั่งอังกฤษ สหรัฐ และฝรั่งเศส เข้าชื่อกัน ขอย้ายสถานีการค้ามาตั้งใต้ปากคลองพระโขนง และขอให้ตัดถนนเพื่อให้สะดวกในการเดินทาง แต่ทรงโปรดให้ขุดคลองลัดตั้งแต่พระโขนงเชื่อมถึงคลองผดุงกรุงเกษม
เพราะคนพระนครเคยชินกับการสัญจรทางน้ำ แล้วนำมูลดินมาถมเป็นแนวอีกฝั่งของคลอง พระราชทานชื่อ “คลองถนนตรง” ส่วนถนนเลียบคลองก็เรียก “ถนนตรง” ถือเป็นถนนสายแรกที่ตรงและมีระยะทางไกล ต่อมารัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อตั้งแต่ถนนเจริญกรุงถึงถนนหลวงสุนทรโกษาเป็นถนนพระรามที่ 4 เพราะ รัชกาล 4 โปรดให้สร้าง นอกจากนี้ ถนนพระรามที่ 4 ในอดีตยังเป็นต้นสายของทางรถไฟสายปากน้ำ ทางรถไฟขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยาไปสิ้นสุดที่สมุทรปราการ เมื่อบ้านเมืองเจริญใช้รถยนต์มากกว่า ก็ยกเลิกทางรถไฟ แล้วก็ถมคลองถนนตรงกลายเป็นถนน ทำให้ไม่เห็นร่องรอยคลองประวัติศาสตร์ ส่วนชื่อ ศาลาแดง มาจากอดีตมีศาลารอรถไฟมุงหลังคาสีแดง ชาวบ้านก็เรียก ศาลาแดง
การขยายตัวของบ้านเมือง ลักษณะของเมืองสมัยใหม่ การทำหอนาฬิกา บ้านเมืองทันสมัยขึ้น ถนนพระรามที่ 4 ในอดีตเป็นต้นสายของทางรถไฟสายปากน้ำ สถานีต้นสายชื่อว่าสถานีหัวลำโพง มีทางรถไฟอยู่ตรงกลางระหว่างคลองหัวลำโพงกับถนนพระรามที่ 4 ซึ่งรางรถไฟอยู่ฝั่งโรงแรมสยามซิตี้ ตั้งแต่แยกมหาพฤฒารามมาตามถนนพระรามที่ 4 จนข้ามคลองพระโขนง ขนานกับแม่น้ำเจ้าพระยาไปสิ้นสุดที่เมืองสมุทรปราการ เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้นให้ความสำคัญในการเดินทางและขนส่งโดยใช้รถยนต์มากกว่า จึงได้ยกเลิกทางรถไฟสายนี้พร้อมกับถมคลองหัวลำโพงช่วงตั้งแต่คลองผดุงกรุงเกษมจนถึงตลาดคลองเตยทิ้ง เพื่อทำการขยายถนนถนนพระราม 4
การเปลี่ยนผ่านของเมืองสู่อนาคต
ดร. ศุภิชัย ตั้งใจตรง รองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว่า ปัจจุบันบนถนนพระราม 4 มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เริ่มตั้งแต่สถานีรถไฟหัวลำโพงที่มีแผนย้ายสถานีรถไฟกลางไปที่บางซื่อ ส่วนสามย่าน บ้านห้องแถวถูกรื้อและหายไป เริ่มมีอาคารสูงเกิดขึ้นบริเวณแยกบรรทัดทอง จนไปถึงย่านบ่อนไก่และคลองเตยที่จะเกิดโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มูลค่าแสนล้านบาทที่จะเสร็จสิ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับภาคีในการส่งเสริมการเชื่อมต่อกิจกรรมบนถนนพระราม 4 เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม ภายใต้โครงการ RAMA IV Urban Revitalization โดยจะเชื่อมโยงกิจกรรม 5 พื้นที่บนถนนพระราม 4 ได้แก่
- หัวลำโพง
สถานีหัวลำโพงกำลังจะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นสถานีขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมฝห้กลายเป็นย่านที่คึกคักไปด้วยชาวต่างชาติและกิจกรรมเวลากลางคืน จากการเชื่อมต่อกับพื้นที่ย่าน China Town
- ย่านสะพานเหลือง-สวนหลวง
สะพานเหลืองเป็นพื้นที่ย่านร้านอาหารที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีต มีการค้าขายคึกคักทั้งกลางวันและกลางคืน ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามเป็นพื้นที่สวนหลวง โดยการพัฒนาของจุฬาฯ เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมใหม่ ซึ่งยังมีปัญหาด้านบรรยากาศและการเข้าถึง
- โครงการ Samyan Mitrtown – สี่แยกสามย่าน
การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ร่วมกับพื้นที่มหาวิทยาลัย และการเชื่อมต่อกิจกรรมทางเดินเท้าระหว่างสองฟากถนน จากพื้นที่การพัฒนาใหม่ในฝั่งจุฬาฯ ไปสู่พื้นที่ชุมชนเก่าย่านวัดหัวลำโพง ซึ่งเป็นแยกสำคัญ มีผู้สัญจรผ่านเป็นจำนวนมากตลอดทั้งวัน
- โครงการ One Bangkok – สวนลุมพินี
พื้นที่ตัวอย่างการพัฒนาโครงกาขนาดใหญ่และสาธารณูปการระดับเมือง ซึ่งจะเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมและประชาชนเป็นจำนวนมาก การสร้างแรงดึงดูดและอัตลักษณ์ให้กับพื้นที่ จะช่วยให้พื้นที่เกิดการพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางกิจกรรมที่สำคัญของถนนพระราม 4
- โครงการ The PARQ
พื้นที่ตัวอย่างการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุม การท่องเที่ยว การประชุมนานาชาติ และการจัดนิทรรศการ หรือ MICE ต่อเนื่องกับศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จึงช่วยเพิ่มบทบาทของการเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในใจกลางกรุงเทพฯ
การเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน
สำหรับความยั่งยืนจะต้องสานพลังความร่วมมือ ของหลายภาคส่วน โดยจุฬาฯ นำมาพูดคุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่ กรุงเทพมหานคร รพ.จุฬาฯ สภากาชาดไทย แล้วยังมีประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนดึงนิสิต นักศึกษาจุฬาฯ พลังอนาคตร่วมแก้ไขปัญหา ชวนคิด ชวนฝัน สร้างพระรามสี่ให้สวยงาม สะดวก สะอาด สอดรับกับไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีการปรับปรุงโครงสร้างเอื้อต่อการใช้ชีวิต มีทางยกระดับหรือทางใต้ดินเชื่อมพื้นที่ จัดระบบขนส่งมวลชนลดฝุ่น สนับสนุนการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง การกำหนดอนาคตจะยึดถนนพระราม 4 มีราก อย่าดึงรากออก แม้สิ่งที่ทำไม่ง่าย แต่อยากให้ทุกฝ่ายคิดและพัฒนาเมือง สุดท้ายถนนพระราม 4 ไม่ใช่ถนนของใคร เป็นเรื่องของเรา เป้าหมายการขับเคลื่อนจะผลักดันให้ถนนสายนี้เป็นโครงการต้นแบบรวมความร่วมมือทุกภาคส่วนที่แท้จริง