โดยในปีนี้ธีมใหญ่ของงานคือ Creating a #BetterFuture หรือสร้างอนาคตที่ดีกว่า ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดและบทบาทของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มากกว่าเพียงการให้บริการอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง ปีนี้ Ovum บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยตลาด โดยมีสำนักงานใหญ่ที่นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้สรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในงานและสรุปขึ้นมาเทรนด์ได้ดังนี้
เมื่อ 5G อยู่แค่เอื้อม
เทคโนโลยี 5G ได้พัฒนาไปอีกขั้นเพื่อพร้อมสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยทั้งผู้ให้บริการและผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างทุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยี เพื่อสอดรับกับความพร้อมของตลาดในปลายปีนี้ โดยผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมประสบความสำเร็จในการกำหนดกรอบการตัดสินใจ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาในส่วนของมาตรฐานเทคโนโลยี 5G
จากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ทำให้โครงข่าย 5G คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นพื้นฐานสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี 5G ของโลก โดย Ovum คาดการณ์ว่า อุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยี 5G จะออกสู่ตลาดและสามารถขายได้จำนวนกว่า 284 ล้านชิ้นในปี 2020 ซึ่งมากกว่าที่ Ovum เคยประมาณการณ์ไว้ถึง 3 เท่า และนี่จะเป็นปัจจัยเร่งทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ 5G เร็วขึ้นกว่าที่เคยเกิดขึ้นใน 4G
ทั้งนี้ ภายในงาน MWC 2018 นี้ มีความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่ทำให้ 5G มาเร็วกว่าที่คาดและนั่นหมายถึง เมื่อ 5G มีการกำหนดมาตรฐานที่แน่นอนเมื่อไร ก็สามารถให้บริการได้ทันที โดยภายในงานนี้ Zain Group ได้ทำข้อตกลงกับ Ericsson ในการทดลองโครงข่าย 5G ในตะวันออกลาง Deutsche Telecom ของเยอรมันร่วมมือกับ Huawei ในการทดสอบ 5G บนคลื่น 73 GHz ส่วน T-Mobile ของอเมริกาทำข้อตกลงด้านโครงข่ายกับ Nokia และ Ericsson บทคลื่น 600 MHz และ 28 GHz ซึ่งบ่งชี้ถึงการพัฒนาสำคัญของ 5G ที่สอดคล้องกับการให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ของแต่ละประเทศ
นอกจากด้านโครงข่ายแล้ว ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ทั้งชิปเซ็ตและอุปกรณ์สื่อสารได้เตรียมพร้อมที่จะผลิตเพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G แล้วทั้งสิ้น ทั้งในสหรัฐอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ใช้งานเปลี่ยนสู่เทคโนโลยี 5G ซึ่งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกตกลงที่จะให้บริการเชิงพาณิชย์ในงาน Mobile World Congress ปีหน้า
ด้านผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือคึกคักไม่แพ้กัน โดย Huawei ได้เปิดเผยชิปเซ็ตรุ่น Balong 5G ภายในงานเป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้โทรศัพท์มือถือรองรับ 5G ได้ ขณะที่ Intel ได้ประกาศความร่วมมือกับ Spreadtrum เพื่อผลิตสมาร์ทโฟนที่รองรับ 5G ภายในไตรมาส 2 ปีหน้า ขณะที่ Qualcomm เปิดเผยโซลูชั่นรุ่น Snapdragon เพื่อรองรับ 5G ในปี 2019 เช่นเดียวกัน
ความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้บ่งชี้ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายที่ไม่ได้อยู่ที่สมาร์ทโฟนอีกต่อไป แต่จะขยายสู่คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค แท็บเล็ต อุปกรณ์ VR และอื่นที่อาศัยการเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องเตรียมปรับแผนการตลาดด้านแพ็คเก็จดาต้าให้สอดคล้องอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ที่จะออกสู่ตลาดในอนาคตอีกด้วยAI อีกก้าวของการบริการลูกค้า
อีกความเคลื่อนไหวสำคัญของงาน MWC 2018 คงหนีไม่พ้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากขึ้น ทั้งการจัดการระบบ การให้บริการลูกค้า และงานหลังบ้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ AI ในอุตสาหกรรมแล้ว แต่ยังคงเป็นด้านการบริหารจัดการลูกค้ามากกว่า
อย่างไรก็ตาม AI จะเข้ามามีบทบาทโดยตรงกับลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะผู้ช่วยดิจิทัล (Digital Assistant) ขณะที่เทคโนโลยี Machine learning จะเข้ามามีบทบาทในการสร้างรายได้ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่เพียงเพื่อใช้ลดต้นทุนเท่านั้น
ตัวอย่างเช่น Telefonica ของอิตาลี เปิดเผยว่า 80% ของระบบรับเรื่องร้องเรียนของลูกค้า (Trouble Tickets) ถูกจัดการด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งนี่ถือเป็นความพยายามในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้านการจัดการภายใน ซึ่ง Amazon Web Services เรียกได้ว่าเป็นผู้นำของการนำ AI เข้ามาบริหารงานลูกค้า
แม้จะมีการนำ AI เข้ามาดูแลจัดการลูกค้ามากขึ้น แต่ยังคงต้องอาศัยการพัฒนาเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในช่วยพัฒนาคอนเซ็ปต์ เพื่อสร้างมิติใหม่แห่งการสื่อสารที่จะก้าวสู่การโต้ตอบผ่านการมองเห็น (Visual Interaction)
IoT บริการสำคัญแห่งอนาคต
ผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายต่างๆ ได้จัดแสดงนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Internet of Things แสดงให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมสู่อนาคตและตั้งเป้าจะพัฒนาให้ดีขึ้น นั่งหมายถึงการให้บริการที่รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น ฉลาดขึ้น และตรงใจมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการดังกล่าวได้กำหนดทิศทางในการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีอย่าง NB-IoT และ LTE-M
ในงานนี้ Vodafone และ Sumsung ได้แสดงศักยภาพที่สำคัญในตลาด IoT ด้วยการจับมือเป็นพันธมิตรกันในการพัฒนาบ้านอัจฉริยะหรือ Smart Home ซึ่งถือเป็นการใช้จุดแข็งของแต่ละฝายในการให้บริการดิจิทัลใหม่ๆ โดย Vodafone ยังต้องทำงานอย่างหนักในการนำคุณค่าใหม่นี้สู่ผู้บริโภค และนี่ถือเป็นจุดสำคัญในการนำกลยุทธ์ IoT สู่มือผู้บริโภคผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร หลังจากที่ได้ออกบริการ IoT ครั้งแรกในชื่อ V by Vodafone ในช่วงปลายปี 2017 ขณะที่ Sumsung ยังได้ขยายบริการ Smart Home ผ่านช้อปของ Vodafone
ความร่วมมือดังกล่าวจะใช้ชื่อ V-Home by Vodafone โดยใช้โซลูชั่นของ Sumsung SmartThings Wi-Fi hub โดยจะทำตลาดในสเปนและเยอรมนีในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งถือเป็นที่แรกของยุโรปที่ Sumsung เปิดให้บริการดังกล่าว
Photo courtesy of Mobile World Congress