ถอดรหัส Mobile National ID จิ๊กซอว์สำคัญเศรษฐกิจดิจิทัล

หลายคนคงคุ้นเคยกับการยืนยันตัวตนในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล็อกอินใช้โทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่การใส่ PIN มือถือ การใช้ลายนิ้วมือ Biometrics จนมาถึงการจดจำใบหน้าหรือ Facial recognition แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าวันหนึ่งเราไปติดต่อราชการหรือเปิดบัญชีธนาคารเพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือ?

Digital ID เป็นคำกว้างๆ ที่ใช้เรียกวิธีการยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งตอนนี้หลายๆ ภาคส่วน ทั้งรัฐบาลและเอกชนได้ร่วมมือกันในการกำหนดกรอบความร่วมมือเพื่อพัฒนาแพลทฟอร์มกลางในการยืนยันตัวตนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

แต่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้ในการยืนยันตัวตนนั้นมีหลากหลาย การทำให้ “เกิด” การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในการยืนยันตัวตนที่ดีและเร็วที่สุด จึงหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า Mobile ID หรือการยืนยันตัวตนโดยใช้เทคโนโลยีโมบายเป็นพื้นฐาน เป็นการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากซิมการ์ด ซึ่งสำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้ผู้เปิดเลขหมายจำต้องลงทะเบียนเปิดใช้บริการเสียก่อน

“เรียกได้ว่าเทคโนโลยีโมบายจะช่วยให้เกิดการ shortcut การเปลี่ยนผ่านของระบบการยืนยันตัวตนของประเทศได้อย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราการใช้โทรศัพท์มือถือที่มากกว่า 100% ในปัจจุบัน เวลา ความสะดวกและค่าใช้จ่ายที่ใช้กับระบบการยืนยันตัวตนของประเทศจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนี่จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทรานสฟอร์มประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์มากขึ้น” พิชิต แก้วมาคูณ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ ฉายภาพถึงความสำคัญของ Mobile ID

จะเห็นได้ว่าบทบาทของ “ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ” จะเป็นมากกว่าแค่ให้บริการในการสื่อสาร โดยล่าสุดสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ 5 ราย ได้แก่ ทีโอที ทรูมูฟ เอไอเอส  แคท และดีแทค ได้ลงนามความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยใช้ฐานข้อมูลจากเลขหมายโทรศัพท์ หรือ Mobile National ID (MNID) เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น eGovernment eEducation eHealth การเข้าถึงแหล่งทุนและสวัสดิการจากรัฐ

MNID โอกาสและความท้าทาย

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายสู่การเปลี่ยนผ่านจากประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางผ่านการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทำน้อยแต่ได้มาก ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม ภายในนโยบาย “ประเทศไทย 4.0”

ในประเทศปากีสถาน มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโมบายเพื่อการยืนยันตัวตนผ่านโครงการ Birth registration โดยใช้โทรศัพท์มือถือจดแจ้งการเกิดของเด็กได้ จากเดิมที่ต้องเดินทางไปยังหน่วยงานราชการ ซึ่งประสบความยากลำบากจากโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สะดวกนัก และด้วยการเข้าถึงระบบการยืนยันตัวนี้เอง ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในบังคลาเทศลดลงด้วย เข้าถึงระบบสวัสดิการของรัฐและบริการทางเงินที่จำเป็น เสริมแกร่งความสามารถในการแข่งขันในอนาคต

สำหรับประเทศไทย การทำให้เกิด Mobile National ID นั้น จะต้องทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Critical Mass” หรือมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย หน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการกับประชาชนโดยตรงเปิดรับการใช้งาน Mobile ID เช่น ไฟฟ้า ประปา สำนักงานเขตต่าง นอกจากนี้ยังต้องมีแพลทฟอร์มกลางที่ปลอดภัยและน่าเชื่อถือ เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น

“ผมเชื่อว่า Mobile National ID จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมหาศาล ทั้งความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการจากรัฐ ขับเคลื่อนสู่ระบบ eGovernment ขณะที่ความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการเองจะมีมากขึ้น สามารถ ‘เลือก’ ให้ข้อมูลบางส่วนที่ต้องการแก่ผู้รับบริการได้ เพราะการให้บัตรประชาชนเป็นการอนุญาตให้ผู้รับมอบข้อมูลสามารถเห็นข้อมูลทุกอย่างที่มากกว่าความจำเป็น ซึ่งอันที่จริงแล้วถือเป็นความเสี่ยงที่ถูกมองข้าม” พิชิต กล่าวเสริม

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในการพัฒนาแพลทฟอร์มเพื่อรองรับ Mobile National ID โดยใช้เทคโนโลยี blockchain ภายใต้กรอบการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น (Regulatory Sandbox) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา Digital ID บนเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือ

อย่างไรก็ตาม ด้วยความสะดวก ง่าย และรวดเร็วของ Digital ID ก็มาพร้อมกับความท้าทายในโลกดิจิทัล การยืนยันตัวตนในโลกออกไลน์จะต้องมีความรัดกุมป้องกันการเกิดfraud ให้ได้มากที่สุดซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ผู้พัฒนาแพลทฟอร์มต้องทำให้ผู้ใช้บริการไว้วางใจได้

Mobile ID เบื้องหลังรัฐดิจิทัลของ เอสโตเนีย

เอสโตเนีย เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ “รัฐดิจิทัล” แห่งหนึ่งของโลก โดยปัจจุบันมีจำนวนประชากรราว 1.3 ล้านคน รัฐบาลของที่นี่ สามารถปรับรูปแบบการให้บริการของรัฐมาเป็นบริการดิจิทัลและออนไลน์แล้ว 99% ของการบริการภาครัฐทั้งหมด เช่น ระบบเลือกตั้งออนไลน์ หรือ I-Vote การจัดตั้งบริษัทผ่านระบบออนไลน์โดยใช้เวลาเพียง 18 นาที

รัฐบาลของประเทศเอสโตเนีย ได้ออกบัตรประชาชนในรูปแบบสมาร์ตการ์ด เรียกว่า e-ID ให้ชาวเอสโตเนียทุกคน เพื่อทำธุรกรรมออนไลน์กับทั้งภาครัฐและเอกชนได้เกือบทุกประเภท ซึ่งในสมาร์ตการ์ดมีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) จากผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์กลางของรัฐบาลมาตั้งแต่เริ่มโครงการเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบัน เอสโตเนีย ได้พัฒนารูปแบบดิจิทัลไอดี เพิ่มเติมจากสมาร์ตการ์ด มาใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือ เรียกว่า Mobile ID และสมาร์ทโฟนเรียกว่า Smart ID เป็นสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตนร่วมกับสมาร์ตการ์ด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการใช้งานรวมกันทั้งสองรูปแบบนี้ กว่า 30% โดยมีระดับความน่าเชื่อถือในระดับ “สูง” ตามกรอบมาตรฐานของกลุ่มสหภาพยุโรป eIDAS (electronic IDentification, Authentication and trust Services)

เอสโตเนียได้มีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน blockchain มาใช้สำหรับการตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ของการลงทะเบียนและข้อมูลของรัฐบางส่วน จนทำให้เอสโตเนียปัจจุบันเอสโตเนีย เป็นประเทศดิจิทัลที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก