ในช่วงการเพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 นอกจากการต้องระวัง “การ์ด” ไม่ให้ตกในแง่ของสุขภาพกายแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลยก็คือ “สุขภาพใจ”
จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังติดตาม ปัญหาความเครียดของประชาชนผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 24 มกราคม ถึง 23 เมษายน ที่ผ่านมา จากผู้ตอบแบบสอบถาม 1,500 ราย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือ 72.87% มีความวิตกปานกลาง ขณะที่ 10.63% มีความวิตกกังวลต่ำ และ 8.66% มีความวิตกกังวลสูง นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงวิกฤตโควิด 19 ประเทศไทยยังมีอัตราฆ่าตัวตายเฉลี่ยสูงขึ้นจาก 6.03 เป็น 6.64. รายต่อประชากร 1 แสนคน
จะเห็นได้ว่าในช่วงโควิดนี้ มีอัตราการฆ่าตัวตาย ตลอดจนพฤติกรรมการฆ่าตัวตายสูงขึ้น ในการนี้ dtac blog ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.นพ.พิชัย อิฏฐสกุล เลขาธิการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยในช่วงโควิด 19 ตลอดจนอาการและวิธีการสังเกตคนรอบข้าง รวมถึงการสร้าง “พลังบวก” ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นโอเอซิสทางจิตใจในช่วงวิกฤตนี้
สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยในช่วง COVID นี้เป็นอย่างไรบ้าง
จากการรายงานข่าวที่มีคนฆ่าตัวตายบ่อยขึ้นนั้นถือเป็นดัชนีชี้วัดหนึ่งที่บ่งชี้ว่าคนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ทั้งความเครียด ความวิตกกังวล และซึมเศร้าจากผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทั้งมาตรการรักษาระห่างทางสังคมและมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้คนตกงาน เปิดปัญหาว่างงาน ลุกลามมาถึงปัญหาภายในครอบครัว ส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งนี้ ความเครียด ความวิตกกังวล อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ทำให้ผู้ป่วยอาจรู้สึกแย่กับตัวเอง ความมั่นใจในตัวเองลดลง จนนำไปสู่การพยายามฆ่าตัวตายได้

ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อการฆ่าตัวตายบ้าง
จริงๆ แล้วปัญหาการฆ่าตัวตายพบในทุกกลุ่มทางเศรษฐานะ ไม่ว่าจะรวยมากหรือจนมาก ล้วนมีลักษณะของปัจจัยและปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ฐานะทางการเงินเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น อย่างการทำงานที่บ้านก็อาจทำให้เกิดความเครียดได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น การอยู่กับหน้าจอเป็นระยะเวลานาน
จะสามารถป้องกันการเกิดความเครียดได้อย่างไร
ดังนั้น หลักการสำคัญของการป้องกันความรุนแรงของการฆ่าตัวตายก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดความเครียด ตัวอย่างเช่น การฟังเพลง การไม่เสพโซเชียลมีเดีย การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ การออกกำลังกายก็ช่วยได้
อย่างการทำงานที่บ้านก็อาจทำให้เกิดความเครียด ดังนั้นการใช้ชีวิตให้เป็นปกติ แบ่งเวลาในการทำงานอย่างชัดเจน จัดสถานที่ทำงานแยกออกมาให้เป็นกิจจะลักษณะ ก็สามารถช่วยลดปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดได้
อาการของปัญหาทางสุขภาพจิตของผู้ที่มีความคิดในการฆ่าตัวตาย
การฆ่าตัวตาย มักเป็นอาการหรือทางออกสุดท้ายของการสิ้นหวัง หรือเป็นปลายทางสุดท้ายที่คนหาทางออกไม่ได้ ซึ่งมักมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง เช่น พฤติกรรมการดื่มสุรา ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ
ทั้งนี้ อาการอาจเริ่มจากความเครียดจากการทำงาน ความเครียดจากความรัก ทำให้เกิดความเจ็บปวดทางใจ และไม่สามารถรับมือกับความเจ็บปวดทางใจนั้นได้
คนในครอบครัวสามารถสังเกตพฤติกรรมความพยายามในการฆ่าตัวตายได้อย่างไร
ผู้ที่มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย มีลักษณะที่เด่นชัดเลยคือ เงียบ แยกตัวจากสังคม และเก็บตัวมากขึ้น
คนในครอบครัวจะช่วยอย่างไรได้บ้าง
ครอบครัวมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการเป็นที่พึ่งของผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต หน้าที่สำคัญของคนในครอบครัวคือ การรับฟัง ไม่ตำหนิ จะสามารถช่วยบรรเทาจากร้ายกลายเป็นดีได้ แต่ในหลายกรณี กลายเป็นทำให้อาการแย่ลง เพราะนอกจากไม่ฟังแล้ว ยังตำหนิอีกต่างหาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่สมาชิกในครอบครัวควรเป็นอย่างยิ่งคือ การรับฟัง ฟังอย่างเข้าใจ ยอมรับ และไม่ตัดสิน ให้เขารู้ว่ามีเราอยู่ข้างๆ
แต่ถ้าประเมินอาการแล้ว อาการยังคงอยู่ อาจต้องมีการพึ่งบุคลากรทางการเเพทย์ อาจโทรปรึกษาฮอตไลน์ของสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย 063-474-0061 ถึง 0065 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ของสมาคมให้คำปรึกษา หรือกอาจโทรสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรือท้ายที่สุด ญาติอาจพาผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาล
ทั้งนี้ หลายคนอาจมีความกังวลเรื่องภาพลักษณ์ในการขอคำปรึกษาทางสุขภาพจิต ผมขอบอกว่าไม่ต้องกลัว เพราะประวัติจะถูกเก็บเป็นความลับ หรือหากกลัวเรื่องภาพลักษณ์จริงๆ อาจให้ญาติของคนไข้เข้ามาขอรับคำปรึกษาก่อนก็ได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน
ในช่วงที่มีการคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่หลายคนอาจยังมีความวิตกกังวลอยู่ เราจะสามารถข้ามผ่านความวิตกเหล่านี้ได้อย่างไร
หลายคนอาจมีความตระหนกและวิตกเกินไปกับเรื่องของอนาคตที่ยังไม่เกิด อาจกลัวว่าจะติดโรคหากออกไปใช้ชีวิตปกติ ทั้งนี้ ความกังวลเป็นปฏิกิริยาทางจิตใจของธรรมชาติที่บอกให้เราเตรียมตัว แต่เมื่อเกิดความกังวลแล้ว สิ่งที่เราควรทำคือ ตระหนักรู้ กลับมาอยู่กับปัจจุบันว่าความกลัวนั้นอาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ อยู่กับปัจจุบันขณะ ทำตอนนี้ให้ดีที่สุด
แต่ละครอบครัวไม่สามารถดำเนินตามหลายๆ มาตรการของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยสภาพทางการเงิน ทำให้เจอหน้ากันทุกวัน มีปากเสียงมีเสียง ซึ่งอาจทำให้เกิดความทุกข์ เราจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
การอยู่ในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมาก สิ่งที่หมออยากบอก เวลาเราอยู่ในครอบครัว อยากอยู่แบบไหน ถามตัวเอง ในสถ่านการณ์มีทั้งพลังบวกและพลังลบ เราต้องเป็นพลังบวกหรืออย่าเป็นพลังลบ เพราะฉะนั้น สิ่งสำคัญมากในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือคนรอบข้างในช่วงวิกฤตอย่างนี้คือ “การสร้างพลังบวก”
พลังบวกอยู่ที่ไหน สร้างได้อย่างไร
หากเหรียญมีสองด้านฉันใด ในเรื่องทุกเรื่อง ทุกเหตุการณ์ก็ล้วนมีทั้งมุมบวกและมุมลบฉันนั้น ในช่วงวิกฤตโควิดแบบนี้ เราอาจได้รับพลังลบจากหลายๆ คน แต่เราสามารถสร้างพลังบวกได้โดยการมองมุมบวก เราก็จะได้รับพลังงานบวก แทนที่จะมองแต่ด้านลบเพียงอย่างเดียว เท่านี้ก็จะได้รับพลังบวก ลดความเครียดได้ระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการให้คำปรึกษาทางจิตใจกับบุคลากรทางการแพทย์บุคคลทั่วไป เพื่อช่วยลดภาระทางใจแก่ผู้ที่โทรมาปรึกษา โดยสามารถโทรเข้ามาที่ 063-474-0061 ถึง 5 และ 095-710-1431, 095-182-8153 หรือ add Line มาที่ @898TVZQW แล้วทิ้งหมายเลขโทรศัพท์และเวลาที่สะดวกให้ติดต่อกลับ โดยดีแทคได้ให้การสนับสนุนซิมเบอร์สวยเรียงหมายเลข พร้อมค่าโทร โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ภายใต้พันธกิจ “ดีแทคร่วมแรงใจ Fight COVID-19”