ตามติดชีวิต “ด่านหน้า” เจาะเบื้องหลังการทำงานของทีมวิศวกรดีแทคภายใต้วิกฤตน้ำท่วม

นับเป็นเวลาเกือบ  2 เดือนที่พื้นที่ภาคกลางของไทยได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม โดยข้อมูลจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ระบุว่า ปี 2565 ประเทศไทยได้รับกระทบจากอิทธิพลของพายุ 3 ลูก ได้แก่ พายุมู่หลาน หมาอ๊อน และโนรู รวมถึงอิทธิพลจากร่องความกดอากาศต่ำ ทำให้ปริมาณฝนสะสมมากกว่าปกติถึง 21% ทำให้น้ำไหลบ่าล้นแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกลงทุ่งในพื้นที่ จ. ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา

กนกพร ทองประเสริฐ อายุ 56 ปี ชาวบ้านในชุมชนเพนียดคล้องช้าง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตภัยน้ำท่วมมาเกือบ 2 เดือน เธอบอกกับ dtacblog ว่า แม้ชุมชนที่เธออยู่อาศัยจะเผชิญกับภัยน้ำท่วมอยู่ทุกปี แต่ในปีนี้ถือเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงมากเทียบเท่ากับปี 2554 โดยมีระดับน้ำท่วมสูงราว 2 เมตรหรือมิดหลังคาบ้านชั้น 1 ขณะที่ช่วงเวลาของภัยพิบัตินั้นนานขึ้นนับเดือน จากปกติไม่กี่สัปดาห์น้ำก็ลดระดับลงแล้ว

“อยุธยาฯ เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเป็นปกติ แต่ช่วง 2 ปีมานี้ สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต น้ำท่วมสูงขึ้นและนานขึ้น” กนกพร กล่าว

อุทกภัยที่รุนแรงขึ้น ทำให้กนกพรที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ของวัดกลางคลองสระบัวขาดรายได้ เงินบริจาคเข้าวัดก็น้อยลง พระก็บิณฑบาตไม่ได้ ค่าใช้จ่ายของเธอสูงขึ้น

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายพันครัวเรือนที่เผชิญกับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมที่ยาวนานนับเดือน การสื่อสารยิ่งมีความสำคัญยิ่งต่อทุกชีวิตในการรับมือกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ โดยวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งทำให้ทีมวิศวกรของดีแทคต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพื่อให้สถานการณ์ของผู้ใช้งานไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้

ความเสี่ยงของสถานีฐานจากน้ำท่วม

กิตติพงษ์ กิจสนาโยธิน หัวหน้าสายงานปฏิบัติการโครงข่าย ดีแทค ฉายภาพการทำงานของทีมว่า “สถานีฐาน” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ในภาวะปกติ จะมีการดูแลรักษาสถานีฐานปีละ 2 ครั้ง หรือที่เรียกว่า Routine Preventive Maintenance: RPM ซึ่งจะมีการตรวจเช็คเครื่องมือและอุปกรณ์ภายในสถานีฐานว่าการทำงานเป็นปกติ และทำความสะอาดพื้นที่บริเวณโดยรอบให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ป้องกันการบุกรุกจากทั้งมิจฉาชีพและสัตว์ร้าย

ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น ทางทีมวิศวกรจะมอนิเตอร์อยู่ตลอดและมีทีมงานประจำในพื้นที่ เมื่อได้ข้อมูลแน่นอนแล้วก็จะมีการลงพื้นที่สำรวจ อย่างในกรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ของไทยตอนนี้ ทีมวิศวกรจะเข้าตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงของระดับน้ำที่อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของสถานีฐาน

blank

ทั้งนี้ สถานีฐานมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ 1. เสาสัญญาณ ทำหน้าที่ในการกระจายสัญญาณ 2. ตู้ BTS (Base transceiver station) มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ส่งสัญญาณ และ 3. ตู้ MDB มีหน้าที่ในการควบคุมระบบไฟ ในกรณีของน้ำท่วม จุดที่ต้องคำนึงอย่างมากคือ ตู้ BTS และตู้ MDB เพราะอย่างน้ำท่วมถึงแล้ว อาจทำให้สถานีฐานนั้นไม่สามารถทำงานได้ และสุดท้าย ลูกค้าก็จะไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตได้

การดูแลรักษาที่ไม่ง่าย

ภาณุพงษ์ ปิยัสสพันธุ์ หัวหน้าทีมปฏิบัติการโครงข่ายภาคกลางและภาคตะวันออก ดีแทค ผู้ซึ่งดูแลสถานีฐานของดีแทค 19 จังหวัดในภูมิภาคอธิบายเสริมว่า พื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง แต่ปีนี้ ระดับน้ำค่อนข้างสูงเทียบเท่ากับเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 อย่างในกรณีสถานีฐานที่ลงพื้นที่อยู่นี้ ตั้งอยู่ที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ห่างจากแม่น้ำน้อยเพียง 100 เมตร ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม สถานีฐานดังกล่าวจึงมีการยกระดับความสูงของตำแหน่งที่ติดตั้งตู้ BTS และ MDB ขึ้นไปอีก เพื่อป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์จากน้ำท่วม

“ไฟฟ้า” ก็ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะทำให้สถานีฐานทำงานได้ ซึ่งโดยปกติจะซัพพลายมาจากการไฟฟ้าฯ โดยตรง แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่การไฟฟ้าฯ ตัดกระแสไฟ ทางทีมก็จะนำเครื่องปั่นไฟลงไปสำรองแทน หรือหากสายไฟเบอร์ออพติกขาด ก็จะต้องมีการซ่อมแซม

blank

ภาณุพงษ์ กล่าวเสริมว่า การดูแลรักษาสถานีฐานให้ใช้งานได้ปกติถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการให้บริการอย่างมาก ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติของสถานีฐาน ก็จะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์สำคัญ 2 ราย ได้แก่ BBTec และ Ericsson ในการซ่อมแซมทางเทคนิคและการติดตั้ง นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน โดย BBTec จะรายงานความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสายไฟเบอร์ออพติกให้ทางดีแทคอีกทางหนึ่งด้วย

“ในภาวะวิกฤตอย่างน้ำท่วมที่ยาวนานนับเดือนเช่นนี้  อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญมาก ผู้ประสบภัยอาจพบกับปัญหาได้ทุกเมื่อ เช่น อุบัติเหตุ สุขภาพ หรือถูกสัตว์มีพิษทำร้าย โดยเฉพาะงูที่มักขึ้นบ้านหนีน้ำท่วม ดังนั้น จึงต้องดูแลรักษาและซ่อมแซมให้สถานีฐานใช้งานได้ปกติเสมอ โดยมุ่งเน้นไปที่การป้องกัน” ภาณุพงษ์ กล่าว

blank

สัตว์มีพิษและความท้าทายทางวิศวกรรม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ยังอยู่ในภาวะวิกฤต บางแห่งน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ทำให้ยากต่อการดูแลรักษาสถานีฐาน บางพื้นที่ต้องพายเรือเข้าไปยังสถานีฐาน ชัยยศ สิทธิราช ฝ่ายปฏิบัติการโครงข่ายดีแทค กล่าวว่า การดูแลรักษาสถานีฐานให้ใช้งานได้ปกตินับเป็นอีกหนึ่งความ “ท้าทายทางวิศวกรรม” ไม่มีสูตรสำเร็จและต้องอาศัยประสบการณ์ของคนหน้างานในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ “สัตว์” ก็ยังถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่อาจทำให้สถานีฐานไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะสัตว์ขนาดเล็กที่หนีน้ำเข้าไปทำรังในตู้ควบคุม รวมถึงสัตว์มีพิษเช่น งู ที่มักไปเกาะตามมุมเสาหรือจุดอับของสถานีฐาน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้ สถานีฐานบางแห่งตั้งอยู่ในป่า ต้องนั่งเรือเข้าไปถึง 1 กิโลเมตร บางครั้งเรือต้องผ่านดงกล้วยหรือพื้นที่รกชัฏ ก็ต้องมีการเคาะนำทางเสียก่อน เพื่อไม่ให้งูหรือสัตว์ที่มีอันตรายตกลงมาบนเรือที่เดินทางเข้าไปที่สถานีฐานนั้นๆ

blank

จะเห็นได้ว่า การทำงานของด้านหน้าต้องเผชิญกับความท้าทาย สถานการณ์ที่ไม่คาดคิด และอันตรายที่มีอยู่รอบตัว ดังนั้น ในการทำงานก็จะต้องปฏิบัติตามกฎบริษัทว่าด้วยอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม (HSSE) โดยจะต้องใส่อุปกรณ์ป้องกัน หมวกนิรภัย เสื้อสะท้อนแสง ในกรณีของน้ำท่วมก็จะมีไม้วัดไฟรั่วเพิ่มเติมเข้ามา รวมถึงเสื้อชูชีพ และชุดเอี๊ยมกันน้ำ

“สถานการณ์น้ำท่วมทำให้การดูแลรักษาและซ่อมเเซมสถานีฐานเป็นเรื่องที่ยากขึ้น แค่เดินทางเข้าไปยังสถานีฐานก็ยากแล้ว บางจุดเป็นร่องน้ำ การขึ้นลงเรือแต่ละครั้งก็ทุลักทุเล และมีเรื่องไม่คาดคิดได้ตลอดเวลา” ชัยยศ บอกเล่าถึงความท้าทายของด่านหน้า

เขากล่าวเสริมว่า “ความสัมพันธ์กับชุมชน” เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ หลายเคสที่ได้รับการแจ้งจากชาวบ้านถึงความผิดปกติของสถานีฐาน อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมสูงที่ชัยนาทเมื่อเร็วๆ นี้ รถที่เดินทางไปมาสามารถเข้าได้ ก็ได้ความช่วยเหลือจากอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ในนำรถยกสูงช่วยเหลือพาทีมดีแทคเข้าไปยังสถานีฐาน

“เราตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารโดยเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างนี้ พวกเราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของผู้ประสบภัยง่ายขึ้น นอกจากนี้ การมาเยี่ยมเยือนของผู้บริหารก็ถือเป็นกำลังใจให้พวกเราชาวด่านหน้า” ทีมงานกล่าว

blank
blank
blank