ว่ากันว่าเมื่อคนเราพูดถึงสิ่งที่ตัวเองคลั่งไคล้ดวงตามักมีประกายแวววาวมากเป็นพิเศษ
แน่นอน ความหวัง ความฝัน สิ่งมหัศจรรย์ กับการเดินทางท่องโลก ของชีวิตนักเดินทางย่อมมีความหมายสำคัญ โลกกว้างใหญ่ยังมีหลายดินแดนที่รอค้นหา
และมีบางคนเชื่อว่าเราทุกคนเป็นพลเมืองของโลก ดังนั้น ทุกแห่งในโลกย่อมจะไม่ใช่พื้นที่ที่จำกัดหรือดินแดนส่วนตัว ทุกที่ยังรอการมาเยือนและค้นพบจากทุกคน
สายวันที่เรานัดพบ บอย-สงคราม กิ่งกลาง พนักงานฝ่ายสื่อสารองค์กร ดวงตาของเขาสะท้อนประกายวาววับลอดกรอบแว่น เมื่อเขาพูดถึงการถ่ายภาพและการท่องไปยังหลายๆ สถานที่บนโลกใบนี้
เบื้องหลังงานที่แสนหนักและท้าทายภายในองค์กร อีกด้านหนึ่งบอยชอบแบ็คแพ็คและกล้องถ่ายภาพ หายตัวไปท่องเที่ยวในมุมใดมุมหนึ่งของโลกใบนี้อยู่เสมอ
บนเครือข่ายออนไลน์อย่างเว็บไซต์พันทิป ขาเที่ยวชอบอ่านรีวิวอาจจะรู้จักนามแฝง 3ho8 อยู่บ้าง ซึ่งเมื่อคุณพลิกตัวอักษรเหล่านี้กลับหัวจะรู้ว่ามันคือการถอดรหัสเล่นกับคำว่า ‘BOYE’ ชื่อเล่นของชายนักเที่ยวตัวยง ผู้ลุ่มหลงการถ่ายภาพและการท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ หรือจะลอง search หาชื่อ 3ho8 จากเว็บไซต์พันทิปดู น่าจะพอเห็นการเดินทางที่ผ่านมาของเขาผ่านภาพถ่ายอยู่บ้าง
“รู้จัก ‘Ed Viesturs’ มั้ย เขาเป็นนักปีนเขาชาวอเมริกัน ปีนเขาสูงกว่า 8,000 เมตร ไต่สู่ยอดเขาสูงมาแล้วทั่วโลก Viesturs เคยพูดว่า ‘Getting to the top is optional. Getting down is mandatory.’ ความหมายกินใจดีนะ การขึ้นสู่ยอดเขาเป็นแค่ทางเลือก แต่การที่คุณลงจากเขามันคือสิ่งที่คุณต้องทำ จริงๆ ประโยคนี้ลึกซึ้งมาก บางคนขึ้นไปถึง แต่กลับลงมาไม่ได้ ร่างเขาต้องหนาวเย็นอยู่บนนั้นตลอดไป อย่างยอดเขาเอเวอเรสต์ ที่สูง 8,848 เมตร สูงที่สุดในโลก มีสถิติถ้าคนขึ้นไปที่ยอดเขา 100 คนจะลงมาได้แค่ 96 คน บางทีการเดินทางมันโหดร้ายมาก” บอยเล่า
บอยไม่ได้ขึ้นไปถึงยอดเขาสูงเหมือนนักปีนเขาชื่อก้องโลกที่เขาเล่าให้เราฟัง มากสุดคือการไป Base Camp บนเขา K2 ภูเขาที่มีความสูงอันดับ 2 รองลงมาจากเอเวอเรสต์ คือสูง 8,611 เมตร หรือห่างกันแค่ 237 เมตร แต่ความยากของ K2 กลับมีสถิติที่โหดกว่า คนที่ขึ้นสู่ยอดเขา K2 จำนวน 100 คน จะกลับลงมาเพียง 71 คน โดยบางปีไม่มีนักปีนเขาที่จะขึ้นพิชิตถึงยอดเขา K2 หรือ Summit ได้ พร้อมกับข่าวโศกนาฏกรรมจากธรรมชาติ
เส้นทางหนึ่งในหลายๆ ทริปที่เขาเคยไปมาคือ K2 Base camp นอกจากเส้นทางที่จะโหดและออกซิเจนที่บางแล้ว ยังต้องเทรกผ่าน Gondogoro La ช่วงเขาที่มีความสูงมากกว่า 5,800 เมตร ต้องออกเดินทางจากแคมป์ตั้งแต่ก่อนเที่ยงคืน เพราะตอนดึกอากาศหนาวจัดอุณหภูมิติดลบหิมะจึงเป็นน้ำแข็งให้เดินได้ และเพื่อให้ไต่ข้ามช่องทางสูงชันไปถึง Hushe valley ก่อน 6 โมงเช้า ที่หิมะจะเริ่มละลายและไม่สามารถไต่ข้ามได้
แม้วีรกรรมไม่ยิ่งใหญ่แบบ Ed Viesturs แต่นี่คือการเรียนรู้รายละเอียดโลกของมนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ทุ่มเทหัวใจให้สิ่งที่เขาตกหลุมรักอย่างหัวปักหัวปำ
“ผมยังทำแบบเขาไม่ได้ เพราะ Viesturs คือยอดมนุษย์ แต่การท่องเที่ยวทุกครั้งจะทำให้ได้เก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆ เข้ามาปลูกฝังและเติบโตภายในตัว การพบปะผู้คนและสถานที่ที่หลากหลาย มันทำให้ได้ขัดเกลาทักษะความรู้ ความรู้สึกนึกคิดจนกลายเป็นตัวตนของเราในตอนนี้”
ถ้าใครมองว่า อยากเดินทางแต่ไม่มีเพื่อน หรือต้องรอไปกับทัวร์ คงพลาดโอกาสที่ดีในชีวิต นั่นคือการตัดสินใจไม่ใช่ดูแค่ภาพถ่ายหรืออ่านข้อมูล แต่ต้องออกเดินทางไปสัมผัสกับของจริง
การตัดสินใจครั้งนั้น คือการแสวงหาดินแดนที่แตกต่างและแปลกใหม่ออกไป สิ่งสำคัญคือการที่เขาเลือกเดินทางไปกับคนแปลกหน้า หรือเพื่อนใหม่ ที่ดูแล้วมีแต่โลกส่วนตัว แต่พอได้สัมผัสกับตัวตนของแต่ละคน กลับนำมาซึ่งมิตรภาพที่เงินซื้อไม่ได้
“จริงๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองมีอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยลอง แค่อยากลองทำอะไรที่ไม่เคยได้ทำ ผมไม่เคยเที่ยวลุยเดี่ยว ไม่เคยไปเที่ยวภูเขาสูง ไม่เคยไปเที่ยวกับคนที่ไม่รู้จักกัน แต่ตัดสินใจลองดู เพราะเรามีจุดมุ่งหมายเดียวกัน เลยเอ็นจอยกัน ไปรู้จักเพื่อนใหม่ๆ จากที่ไม่เคยคิดว่าจะชอบภูเขา แต่ตอนนี้ผมชอบมาก แล้วไม่รู้เป็นเรื่องบังเอิญหรือความโชคดี เราได้รู้จักคนดีๆ ได้รู้จักมิตรภาพ มีน้องผู้หญิงที่ชอบเดินทางคนหนึ่งบอกกับผมว่า บางทีไม่ใช่แค่เราเลือกสถานที่ที่จะไป สถานที่ก็เลือกเราและพร้อมจะเปิดเผยความมหัศจรรย์ตอนเราไปเยือน”
เพื่อนที่บอยเจอมีทั้งขาประจำและที่สับเปลี่ยนหน้าค่าตากันไป มีอาชีพหลากหลาย ทั้งดีไซเนอร์ คนทำงานในโปรดักชั่นเฮาส์ เภสัชกร หรือแม้แต่หมอ บอยย้ำว่าคนพวกนี้บ้าเที่ยวจริงจัง และเป็นมืออาชีพด้านการเที่ยวมากกว่าที่เขาเคยคาดคิด
“เรามองว่าโลกนี้มีความหลากหลาย อย่างการเที่ยวสถานที่ที่ดูแตกต่างและเข้าถึงยาก มีทริปหนึ่งที่ผมประทับใจคือการไปดูแสงเหนือ ตอนนั้นผมไปทั้งนอร์เวย์และไอซ์แลนด์ แสงเหนือขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ไม่ใช่ไปถึงแล้วดูได้เลย มันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา ผมไปที่นั่นต้องอาศัยแอปพลิเคชันคำนวณว่าแสงเหนือจะเกิดขึ้นหรือเปล่า แสงจะแรงระดับไหน จะพาดผ่านตรงไหน เวลาใด และต้องมีแอปพลิเคชันคำนวณเมฆว่าฟ้าจะเปิดหรือไม่”
พูดถึงแสงเหนือ คนชอบถ่ายรูปอย่างบอยไม่พลาดเก็บภาพเหล่านั้นติดไม้ติดมือกลับมาไทย เมื่อเทเลนอร์กรุ๊ปผู้ถือหุ้นของดีแทค ได้จัดการประกวดภาพถ่ายของคนในองค์กรจากสำนักงาน 13 แห่งทั่วโลกในปี 2556 ภายใต้คอนเซปต์ว่า Internet for all เปิดโอกาสให้พนักงานส่งภาพถ่ายเข้าประกวดตีความว่าอินเทอร์เน็ตเข้าไปยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์ยังไง นักถ่ายภาพตัวยงอย่างบอยเลยไม่พลาดการเข้าร่วม ผลปรากฏว่าภาพของเขาได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 เอาชนะผู้เข้าร่วมอีกหลายร้อยคนจาก 13 ประเทศ
“มีคนถามว่าผมส่งภาพแสงเหนือไปมันเกี่ยวกันยังไง บางคนเขาถ่ายภาพคนเล่นอินเทอร์เน็ตสื่อสารไปตรงๆ แต่ภาพแสงออโร่ร่าของผมคือการประยุกต์โจทย์ ผมมองว่าการใช้งานแอปพลิเคชันที่คำนวณการเกิดขึ้นของแสงเหนือ ไม่ว่าจะเป็นวันเวลา สถานที่ แอปพลิเคชันต่างๆ เหล่านี้จะใช้ได้ต่อเมื่อมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มันตอบโจทย์ว่าอินเทอร์เน็ตยกระดับชีวิตคนได้ โดยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์กับวิถีชีวิต เพราะฉะนั้นภาพที่ผมถ่าย มันเกิดจากการคิดคำนวณผ่านอินเทอร์เน็ต”
นอกจากภาพแสงเหนือที่ว่า บอยยังถ่ายผู้คน วิถีชีวิต และทิวทัศน์ เขาบันทึกเอาไว้เสมือนผลงานแห่งช่วงชีวิตที่ผันผ่าน จากไทย สู่อินเดีย ลาดักห์ ปากีสถาน คาราโครัมไฮเวย์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ แอฟริกา และอีกหลายสถานที่ทั่วโลก
ตอนไปประเทศนามิเบีย ผมไปถ่ายภาพชนเผ่าฮิมบา (Himba) ไม่ใช่ว่าจะเข้าไปถ่ายได้ง่ายๆ เลย เราต้องเข้าไปทำตัวกลมกลืน ต้องสื่อสารกับเขาให้มาก และต้องรู้จังหวะ เพราะในสถานที่แต่ละแห่ง ถ้าจะถ่ายคนให้เป็นธรรมชาติต้องมีวิธีสื่อสารออกมาให้ดี”
“กล้องมือถือบางคนบอกว่าห่วยมาก เช่น Blackberry เฮ้ย! แต่ถ้าเรามองเห็นภาพข้างหน้าสวย เราก็สามารถถ่ายทอดมันออกมาให้สวยงามได้ อย่างการถ่ายภาพบางคนจะมุ่งมั่นเรื่องอุปกรณ์ถึงจะถ่ายออกมาได้ดี แต่ผมว่าจริงๆ ไม่ใช่ เพราะว่ามันอยู่ที่การมองภาพของเรา ก่อนจะถ่ายต้องมีเลย์เอาต์อยู่ในหัว หลังจากนั้นเราค่อยวางแผนการถ่ายออกมาแล้วดูว่าต้องใช้อุปกรณ์ใดถ่าย ใช้อย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด”
ชีวิตการท่องเที่ยวของบอยมีหลายบท การเดินทางทุกครั้งไม่ได้ง่ายไปเสียหมด มีอุปสรรคบ้าง มีความสุขบ้างเหมือนชีวิตสามัญของมนุษย์ ในฐานะที่เขามีประสบการณ์ด้านการเดินทางไม่น้อย เราถามเขาว่าการเดินทางท่องเที่ยวสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตด้านไหนได้บ้าง บอยตอบว่า
“มีคำกล่าวว่า Travel often, getting lost will help you find yourself บางทีเราอย่าไปคาดคั้นว่าจะเอาสิ่งนี้มาทำอะไร เพื่ออะไร ผมว่าการที่เราได้เริ่มทำ ได้ลองอะไรใหม่ๆ คือการเติมเต็มชีวิตของมนุษย์ ชีวิตคนเรามีหลายมุม หลายด้าน หลายมิติ ประสบการณ์ตรงนั้นจะมาเติมเต็มตรงนี้ ออกไปเจอสิ่งใหม่ ลองหลงทางดูบ้าง เพื่อเสริมสร้างให้เราแข็งแกร่ง ตัวเราได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ และได้เติบโตทางความคิด คุณได้ไปเจออีกโลกทั้งที่อยู่บนดาวเดียวกัน พอคุณกลับมาใช้ชีวิตประจำวันของคุณ คุณจะรู้สึกได้ว่าถูกเติมเต็มมากขึ้น หรืออย่างน้อยการเที่ยวก็เหมือนการได้ชาร์จแบตฯ นั่นแหละ คุณจะมีพลังในการทำงานเพิ่ม การเดินทางจะทำให้เรารู้จักตัวตนของเรามากยิ่งขึ้น ตรงไหนมีความสุข ทำซะในวันที่มีโอกาส”
หลังบทสนทนา เรามองดูภาพถ่ายหลายๆ ภาพที่บอยบันทึกในสถานที่ต่างๆ ที่เขาเคยเหยียบย่างก้าวผ่าน ภาพแต่ละภาพนอกจากมีความงาม มีเรื่องราวที่แอบแฝงในรูปแบบของตัวเอง ถ้าลองมองดูภาพเหล่านั้นให้ดี มันจะสะกดรวมๆ ได้ว่า “ชีวิตคือการเดินทาง”