เคนท์ มอนเซน นักวิจัยอาวุโสจากเทเลนอร์รีเสิร์ช ถามคำถามข้างต้นกับลูกชายวัย 10 ขวบ ลูกชายของเขาตอบว่า “พ่อครับ มันน่าจะเป็นหมีขั้วโลก ไม่ก็หมาป่า” ซึ่งถ้าเอาคำถามนี้มาถามเด็กไทยวัยเดียวกัน พวกเขาคงตอบว่า สิงโตหรือไม่ก็ปลาฉลาม สุดท้ายแล้วคำตอบก็ขึ้นอยู่กับบริบทและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ
ประเด็นข้างต้นถูกนำมาพูดบนเวที dtac Loop: The Shapes of Data โดยเคนท์หยิบยกเรื่องการใช้เทคโนโลยีสร้างประโยชน์ต่อสังคมภายใต้คำถามที่ว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้า Big Data สามารถช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ?
830,000 ราย เป็นตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากยุงทั่วโลก ซึ่งเป็นพาหะของโรคติดต่อต่างๆ ทั้งไวรัสซิก้า โรคติดเชื้อในสมองอักเสบ ไข้เลือดออกและไข้มาลาเรีย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ “ยุง” เป็นสัตว์ที่อันตรายที่สุด ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอาชญากรรมทั่วโลกอยู่ที่ 580,000 ราย
จากสถิติในปี 2017 พบว่า ประเทศไทยมีคนติดเชื้อไข้เลือดออกว่า 10,000 รายและเสียชีวิตถึง 27 ราย ซึ่งจำนวนดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลเสียต่อการใช้งบประมาณด้านสาธารณสุข ดังนั้น ถ้าหากเราสามารถคาดการณ์ได้ว่าโรคดังกล่าวจะเดินทางไปยังพื้นที่ใดบ้าง จะสามารถช่วยให้องค์กรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องตระเตรียมแนวทางการป้องกันการระบาดได้ถูกต้องและตรงจุด เช่น แจกจ่ายมุ้งสำหรับกันยุงให้คนในชุมชน เตรียมคลินิกเคลื่อนที่ให้บริการ หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุที่มา การป้องกัน การสังเกตอาการ ไปจนถึงการรักษา ซึ่งจะมีประโยชน์มากหากเราทำมันได้ถูกที่ ถูกเวลา
คุณเคนท์พูดติดตลกว่า “ข่าวร้ายคือ ทุกวันนี้เทคโนโลยี GPS ยังไม่เล็กพอที่จะติดตั้งบนตัวแมลงอย่างยุงได้ แต่โชคดีที่ยุงเดินทางได้เพียง 50-100 เมตรเท่านั้น นั่นหมายถึงเหตุของโรคระบาดที่แท้จริงเกิดจาก “การอพยพเดินทางของนุษย์” นั่นเอง
เขายกตัวอย่างว่า สมมติมียุงที่เป็นพาหะนำโรคในจังหวัดเชียงใหม่ ยุงตัวนี้กัดคนๆ หนึ่งที่กำลังเดินทางมากรุงเทพฯ คนๆ นั้นมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ถ้าโชคร้ายหน่อยก็คงโดนยุงในกรุงเทพฯ กัด ยุงที่กรุงเทพฯ ตัวนั้นก็จะได้รับเชื้อโรคไป แล้วก็อาจจะไปกัดคนอื่นๆ ต่อ
จากพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะที่ 33 ทำให้ผู้ให้บริการมือถือสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากการใช้งานอย่างเรียลไทม์และมีขนาดใหญ่ สามารถศึกษาแหล่งระบาดและเส้นทางการระบาด ตลอดจนทำนายสถานการณ์การการระบาดของโรคในอนาคตอันใกล้ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งนี่ถือเป็นการใช้ความสามารถของ Big Data เพื่อประโยชน์ด้านสังคม

ซึ่งในปี 2015 เทเลนอร์รีเสิร์ชได้ร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดทำงานวิจัยหัวข้อนี้ในปากีสถาน และในวันนี้เทเลนอร์รีเสิร์ชได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลและดีแทคในการศึกษาหาเส้นทางการระบาดของไข้มาลาเรียจากข้อมูลการใช้งานของดีแทค โดยการศึกษาจะขยายสู่ระดับภูมิภาคเอเชียในอนาคต
เคนท์ส่งท้ายว่า โครงการนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งในเรื่องข้อมูลและความเชี่ยวชาญอื่นๆ ซึ่งก็คงเหมือนกับหลายๆ ปัญหาในสังคมที่ใครคนใดคนหนึ่งไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวคนเดียวได้สำเร็จ แต่ต้องใช้ทรัพยากรและการร่วมแรงร่วมใจจากทุกคน