หลายคนคงคุ้นเคยกับวิธีการพิมพ์ข้อความภาษาไทยแบบนี้ในในยุครุ่งเรืองของฟีเจอร์โฟนหรือโทรศัพท์แบบมีปุ่มกด วันนี้ dtac blog ได้ชวนผู้ที่พัฒนาระบบการป้อนข้อความดังกล่าว คุณพีระพล ฉัตรอนันทเวช หรือ “ปีเตอร์กวง” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแผนกอุปกรณ์สื่อสารของดีแทค และกูรูผู้มีประสบการณ์อันเชี่ยวกรากในวงการเทเลคอมมากว่า 20 ปี มาร่วมย้อนอดีตและมองอนาคตของอุปกรณ์เคลื่อนที่กับการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G อุปกรณ์ไอโอที และสนามรบทางเทคโนโลยี

“ชีวิตผมคลุกคลีกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรีด้านวิศวกรรมอุตสาหการ จบมาชีวิตก็เข้าสู่โรงงานควบคุมสายการผลิตโทรทัศน์ จนได้มีโอการเข้าร่วมงานกับ Nokia ดูในส่วนของอุปกรณ์โครงข่าย จากนั้นย้ายไปดูแลด้านอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือของ Nokia ซึ่งเป็นยุคบุกเบิกของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ยังเป็นระบบอนาล็อก เครื่องหนาและหนัก และมีราคาตัวละ 50,000 บาท ซึ่งตอนนั้นถือว่าแพงมาก” คุณกวงบอกเล่าถึงประสบการณ์ในยุคแรกของโทรศัพท์มือถือ
เขาได้ร่วมงานกับบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือบิ๊กแบรนด์อีกหลายรายอย่าง Motorola ซึ่งที่นั่นเขาได้มีส่วนร่วมในการคิดค้นวิธีการเขียนข้อความ (Handwriting) บนจอสมาร์ทโฟนรุ่นแรกๆ ของวงการโทรศัพท์ ซึ่งตอนนั้นเป็นเรื่องที่ใหม่มาก จนเขาได้มาร่วมงานกับดีแทคในยุครุ่งเรืองของแบล็กเบอรี่
Rise and fall โทรศัพท์มือถือ
“ผมมาร่วมงานกับดีแทคในส่วนงาน Device Strategy ซึ่งจะต้องทำงานกับผู้ผลิตมือถือทุกยี่ห้อ และดูแลในส่วนการเลือกรุ่นโทรศัพท์มาจำหน่ายทั้งในเชิงการตลาดและทางด้านเทคนิค ดังนั้น งานผมจึงต้องมีความเข้าใจในนวัตกรรมและเทคโนโลยีการสื่อสารอย่างลึกซึ้ง”
อย่างเทคโนโลยีการสื่อสาร โครงสร้างแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนต้นน้ำก็คือโครงข่าย และส่วนปลายน้ำก็คือโทรศัพท์มือถือ การสื่อสารจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีทั้ง 2 องค์ประกอบนี้ ซึ่งในยุคแรกของการสื่อสาร ก็จะเน้นการพัฒนาผ่านคลื่นวิทยุ เพื่อลดการกวนกันของสัญญาณ การดักฟังที่ทำได้ง่ายในยุค 1G จนในยุค 2G เกิดการเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล พัฒนาจนรู้จักการรับส่งข้อมูลแบบไร้สายและเพิ่มทำประสิทธิภาพจนเข้าสู่ยุค 4G ที่ผู้ใช้งานสามารถรับชมสตรีมมิ่งและทำงานจากทางไกลได้อย่างไม่มีสะดุด เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้บริโภค

ขณะที่ฝั่งผู้พัฒนาโทรศัพท์มือถือ จะเริ่มจากความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งมีวิวัฒนาการจากยุคโทรศัพท์บ้านจนมาถึงโทรศัพท์ไร้สาย ซึ่งปัจจุบันมีความสามารถในการทำงานที่มากกว่าการพูดคุยสื่อสาร แต่สามารถพิมพ์งาน ส่งอีเมล ตัดต่อวิดีโอ ถ่ายรูป เรียกได้ว่าเปรียบสมือนเครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งที่สามารถพกพาไปที่ใดก็ได้ ซึ่งโรงงานและบริษัทโทรศัพท์มือถือก็จะพัฒนาเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการในการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น จากจอแบบ LED ก็พัฒนาจนคุณภาพจอเทียบเท่าโทรทัศน์ 4K สามารถเขียนบนหน้าจอได้ จากกล้องความละเอียดน้อยจนปัจจุบันคุณภาพเทียบเท่ากล้องใหญ่

สู่ยุค Connected device กับ 5G
ปัจจุบันคุณสมบัติหลักที่คอนซูเมอร์พิจารณาในการซื้อสมาร์ทโฟนใหม่ก็คือ “จอ-กล้อง-แบตเตอรี่” จอที่ดีช่วยให้การแสดงผลคมชัดขึ้น โดยเฉพาะการรับชมความบันเทิงต่างๆ อย่างเช่น วิดีโอสตรีมมิ่งที่ตอนนี้ผลิตในรูปแบบความคมชัดสูงแล้ว นอกจากนี้ ยังต้องสอดรับกับความคมชัดของกล้องที่ความละเอียดถึง 108 ล้านพิกเซลหรือสามารถซูมในระยะไกลได้ถึง 100 เท่าก็มี และสุดท้ายก็คือแบตเตอรี่ที่ต้องอึด สามารถรองรับการใช้งานสมาร์ทโฟนได้ยาวนาน โดยไม่ต้องชาร์จระหว่างวัน
หลังๆ เราจะเห็นผู้ผลิตเริ่มนำลูกเล่นใหม่ๆ หาความเป็นเอกลักษณ์เข้ามาเป็นจุดขายมากขึ้น เช่น สมาร์ทโฟนแบบฝาพับจอโค้ง ซึ่งสำหรับคุณกวงมองว่า เป็นเพียงลูกเล่นสีสันของวงการโทรศัพท์มือถือเท่านั้น เพราะมีราคาสูงมาก ตกเครื่องละ 40,000-70,000 บาท หรือบางรุ่นราคาพุ่งไปถึงเกือบแสน
แต่ถ้ามองการพัฒนาหลังจากนี้ คงต้องพูดถึงอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยี 5G ซึ่งไม่จำกัดเพียงสมาร์ทโฟน แต่รวมไปถึง connected device ต่างๆ ซึ่ง ณ วันนี้ ก็ผู้ผลิตรายหลายเปิดตัวโทรศัพท์ที่รองรับ 5G แล้ว แต่ราคายังค่อนข้างสูงจากเนื่องจากชิ้นส่วนที่ใช้ในการประมวลผล (chipset) ยังมีราคาแพง ต้องอาศัย Economy of Scale ซึ่งใช้เวลาในการทำให้เกิดการ adoption ขึ้นในระดับ mass
อีกประเด็นในแง่ของการพัฒนาที่น่าสนใจ ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยี 5G ก็คือ อุปกรณ์ IoT โดยฟังก์ชั่นที่เกี่ยวกับ “สุขภาพ” คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด เช่น นาฬิกาข้อมือแบบสมาร์ทวอทช์ ที่สามารถช่วยวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือดได้ หรือแม้แต่การวัดความดันเลือดได้
“ในยุค IoT สมาร์ทโฟนจะเป็นศูนย์กลางในการควบคุม Connected device ต่างๆ ยิ่งทำให้สมาร์ทโฟนของเรากลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในการดำรงชีวิตของมนุษย์” คุณกวงเน้นย้ำ

ไทยกับสนามรบเทคโนโลยี
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เทคโนโลยี” ได้กลายเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในการช่วงชิงความได้เปรียบของประเทศมหาอำนาจของโลกระหว่างจีนและประเทศตะวันตก ยิ่งการเข้าสู่ยุค 5G ยิ่งเกิดการกีดกันทางการค้าและช่วงชิงความได้เปรียบบนสนามรบเทคโนโลยี ซึ่งจีนมีความสามารถในการพัฒนาที่ก้าวล้ำที่มาพร้อมกับ “ราคาที่เข้าถึง” ได้ ทำให้ความนิยมในการใช้สินค้าจากจีนเริ่มมีมากขึ้น ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของจีนที่เกิดขึ้นมากจากการสนับสนุนเรื่อง R&D ของรัฐบาล เช่นเดียวกับประเทศเทคโนโลยีอื่นๆ ของโลกอย่างอมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่มีอีโคซิสเต็มที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีผ่านโมเดลที่เรียกว่า “Startup” สนับสนุนให้นักพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และสามารถนำไปต่อยอดทางการตลาดได้จริง
สำหรับประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังไม่มี Startup ที่พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้เราอยู่ในฐานะประเทศผู้ใช้งาน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็สูญเสียศักยภาพในการเป็นประเทศผู้ผลิต เนื่องจากค่าแรงที่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ อย่างจีน อินเดีย และเวียดนาม
“ในการเข้าสู่ยุค 5G รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดพื้นที่อย่าง Startup ให้เกิดขึ้นในหมู่นักพัฒนาโทคโนโลยีและนวัตกรรมไทยให้มากยิ่งขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร การเดินทาง การขนส่ง logistic การดูแลสุขภาพส่วนบุคคล และอีกหลายๆ ด้าน ให้สามารถทำ Go-to-market ได้ ก็จะช่วยให้เราลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศไทยได้มากขึ้นเท่านั้น” คุณกวง กล่าวในที่สุด

ค้นกระเป๋าคุณกวงกับอุปกรณ์ไอทีคู่ใจ
- Samsung Note พกไว้ใช้เขียน เพราะง่ายและเร็ว
- iPhone 11 Pro เพราะ iOS ได้เปรียบเรื่องความเสถียร
- iPad เอาไว้ประชุมงานข้างนอก
- Airpods เอาไว้ฟังเพลงดูหนังในยามพักผ่อน
- Aftershockz เอาไว้ใช้ยามออกกำลังกาย
- Plantronics เอาไว้ใช้สำหรับสนทนาและประชุมสาย
