ณ ใจกลางกรุงเทพฯ ดีแทคเฮ้าส์ มีห้องทำงานแห่งหนึ่งที่แสงไฟไม่เคยดับ นับแต่วันที่ดีแทคลงนามข้อตกลงสัญญาให้บริการ 4G LTE-TDD บนคลื่น 2300 MHz กับทีโอที เมื่อเดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา และห้องนั้น เราเรียกกันว่า “วอร์รูม” (War room)
ที่วอร์รูมนี้ เราไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อมาสู้รบกับใคร แต่วอร์รูมนี้ตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับตัวเอง สู้เพื่อลงรากปักฐานที่สำคัญของดีแทค นั่นคือ การสร้างเครือข่าย เสริมประสบการณ์ที่ดี เพื่อให้บริการกับลูกค้า โดยเฉพาะบริการ 4G LTE-TDD บนคลื่น 2300 MHz ซึ่งเป็นคลื่นผืนใหญ่ที่สุดด้วยความกว้างถึง 60 MHz
“เรารอความถี่ 2300 MHz มาเกือบปี ย้อนกลับไปปีที่แล้ว เราเตรียมแผนไว้ตลอด พอถึงวันที่เราได้คลื่นมาปุ๊บ เราก็ต้องรีบวิ่งสุดชีวิตเลย เพราะเรามีเวลาแค่ 7-8 ปีเอง เราต้องใช้มันให้คุ้มค่าที่สุด” คุณวิกรณ์ คุณศรีรักษ์สกุล Head of Network Quality Assurance และคุณกิตติพงษ์ กิจสนาโนยธิน Head of Network Implementation ประสานเสียงกล่าว
เป้าหมายของดีแทคคือ การขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุม 40 จังหวัดภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมากในทางวิศวกรรมโทรคมนาคม อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลางวดขึ้นถึงสิ้นปีที่ผ่านมา ดีแทคสามารถขยายพื้นที่บริการ 4G LTE-TDD ได้ครอบคลุมถึง 70 จังหวัด ภายในระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย โดยสามารถลดเวลาในการขยายพื้นที่บริการได้ถึงครึ่งหนึ่งของมาตรฐานอุตสาหกรรม
หน้าที่ของทีมเน็ตเวิร์ก กับการเป็น ‘เจ้าแรก’ ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี 4G LTE-TDD
จริงๆ แล้วทีมเน็ตเวิร์กแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วน Radio Access Network ที่เป็นฝ่ายวางแผนและดูแลส่วนการออกแบบ หรือถ้าให้เปรียบกับการสร้างบ้าน ก็เหมือนกับสถาปนิก เมื่อเสร็จแล้วก็จะส่งต่อให้ทีม Network Implementation เพื่อดำเนินการติดตั้งและควบคุมดูแลการผลิตทั้งหมด ซึ่งเปรียบได้กับผู้รับเหมาก่อสร้างนั่นเอง
“ความยากคือการที่เราเป็นเจ้าแรก นี่เป็นเทคโนโลยี TDD ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ของประเทศไทย ยังไม่มีใครมีประสบการณ์ เราต้องดึงผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาปรับพื้นฐานความรู้ร่วมกัน เพื่อเปิดให้บริการ 4G LTE-TDD ได้ทันตามกำหนด” คุณวิกรณ์กล่าว
ถ้านับจากจุดเริ่มต้นที่เรามีแค่หนึ่งเวนเดอร์ กลายเป็นสอง วันนี้กลายเป็นสาม และด้วยระยะเวลาที่สั้น เราไม่มีเวลามาค่อยๆ นั่งคุยเตรียมความพร้อม มาถึงเราวิ่งเลย ไม่เดินนะ อะไรที่ไม่ได้ ไม่ดี เราค่อยมาปรับจูนกันทีหลัง
สำหรับคลื่นสัญญาณ 2300 MHz ดีแทคถือเป็นเจ้าแรกที่หันมาใช้เทคโนโลยี TDD (Time Division Duplex) ความกว้างถึง 60 MHz ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ใช้รูปแบบ FDD (Frequency Division Duplex) ข้อดีของ TDD คือมีความยืดหยุ่นมากกว่า สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับระบบ 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ นั่นหมายถึงดีแทคมีความพร้อมในการเริ่มต้นก่อน และพร้อมที่จะเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบ 5G ก่อนด้วย
‘ความต้องการของลูกค้า’ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมพุ่งทะยานเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้
ความจำเป็นคือเราต้องรีบให้บริการลูกค้า เรารู้ว่าลูกค้ามีการใช้งานเพิ่มขึ้นทุกวัน การใช้งาน 4G เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปีที่ผ่านมา เมื่อก่อนเราใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 5-6 GB ทุกวันนี้ 10 GB ก็ไม่พอแล้ว เราจึงต้องเร่งติดตั้งเสาสัญญาณ 2300 MHz โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่มีการใช้บริการหนาแน่นก่อน
ในแง่การทำงานเพื่อให้บริการ 4G LTE-TDD บนคลื่น 2300 MHz ตอนนี้ เราแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ระยะ คือการอัปเกรดในพื้นที่เดิม และติดตั้งเสาใหม่เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการ
ระยะแรกเราใช้วิธีติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ 2300 MHz บนเสาเดิมที่ใช้สำหรับคลื่น 2100 MHz ซึ่งเรามีข้อมูลอยู่แล้วว่าพื้นที่ส่วนใดมีการใช้งานมากน้อยอย่างไร การเสริมประสิทธิภาพของ LTE-TDD เข้าไปก็จะช่วยรองรับการใช้งานของลูกค้าได้มากขึ้น เพราะเราสามารถกำหนดช่วงคลื่นในการใช้อัปโหลด-ดาวน์โหลดข้อมูลได้ยืดหยุ่นกว่า ส่วนระยะถัดไปจะเป็นการขยายพื้นที่ด้วยการติดตั้งเสาใหม่ขึ้นมาเลย เราวางแผนตั้งแต่หาพื้นที่เหมาะสมจนถึงเปิดให้บริการ เพื่ออุดรอยต่อของการใช้งาน
ในช่วงปี 2560 และ 2561 ที่ผ่านมา ดีแทคได้ติดตั้งเสาใหม่ไปแล้ว 8,000 ต้น เพราะฉะนั้นการอัปเกรดเป็น 2300 MHz จากเสาเดิมและเสาใหม่ที่เราสร้างขึ้น ก็จะทำให้เสาสัญญาณของ 2300 MHz ครอบคลุมพื้นที่มีการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความสำเร็จไม่ได้มาจากแค่ทีมที่แข็งแกร่ง แต่คือองค์กรที่พร้อมสนับสนุน
ถ้าพูดถึงนิยาม ‘Strong Team’ มันไม่ใช่แค่ทีมผมแล้วนะ มันหมายถึงตั้งแต่ผู้บริหารยันพนักงานเลย ผู้บริหารก็ยินดีสนับสนุนทุกเรื่อง ลงมาถึงระดับพนักงานก็ช่วยกัน เมื่อติดปัญหา เราบอกผู้บริหาร เขาก็ช่วยหาทางแก้ไข มันไม่ใช่แค่ Strong Team แล้ว เรียกว่า Strong Company ดีกว่า
ยกตัวอย่างเฉพาะการเปิดให้บริการคลื่นความถี่ 2300 รอบนี้ มันไม่ใช่แค่เรื่องสัญญาณอย่างเดียว มันมีเรื่องโทรศัพท์มือถือของลูกค้าด้วย ทีม Device ก็ต้องเข้ามาเกี่ยว ทีม Marketing ก็ต้องเข้ามา ทุกคนเกี่ยวกันหมด ทุกคนมีความสำคัญเท่ากันหมด แค่ฝั่งผมเป็นตัวทำให้เกิดพื้นที่ก่อน เหมือนเราสร้างฟลอร์ สร้างบ้านให้ก่อน ที่เหลือก็ต้องพยายามเอาคนเข้ามาอยู่ให้ได้ มันไม่ใช่ว่าสร้างบ้านเสร็จแล้วจบ
วันนี้ ความพยายามและทุ่มเทในการพัฒนาและอัปเกรดโครงข่ายตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาได้สัมฤทธิ์ผลแล้ว โดยดีแทคสามารถบรรลุ 3 เป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนข้อร้องเรียนของลูกค้า (Customer complaints) การหยุดการไหลออกของผู้ใช้ดีแทค (Active users) ตลอดจนการพัฒนาประสบการณ์เครือข่าย (Network experience) ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง