นับว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่โรงภาษีร้อยชักสาม ซึ่งเป็นโรงภาษีอากร (ศุลกสถาน) เก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนอีกครั้ง หลังจากถูกปิดและเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนของการอนุรักษ์ และการเปิดประตูโรงภาษี ร้อยชักสามในครั้งนี้ก็พิเศษยิ่งกว่า ด้วยการจัดสรรพื้นที่ทั้ง 3 ชั้น ให้เป็นแกลเลอรี จัดแสดงนิทรรศการ Hundred Years Between ตามรอยเสด็จของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระราชนิพนธ์ ‘ไกลบ้าน’ สู่ประเทศนอร์เวย์ ณ สถานที่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ อันแน่นแฟ้นระหว่าง 2 ประเทศตลอด 115 ปี
Hundred Years Between ได้รับเกียรติจาก ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจในประเทศนอร์เวย์ที่ถูกบันทึกอยู่ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ผ่านมุมมองของภาพถ่ายและจดหมายที่ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซนเขียนถึงรัชกาลที่ 5 เพื่อเล่าถึงนอร์เวย์ที่ขนานกันด้วยเส้นแบ่งเวลาราว 100 ปีเศษ
“นิทรรศการครั้งนี้อาจจะไม่ได้เจาะจงตามรอยเสด็จของพระองค์ ว่าพระองค์ เสด็จไปยังสถานที่ใดบ้าง แต่เป็นการดึงหัวใจของนอร์เวย์ ที่สะท้อนอยู่ใน พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน นั่นก็คือความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ แม้ในไกลบ้านจะเป็นการบันทึกว่าพระองค์เสด็จไปที่ไหนบ้าง แต่สิ่งที่ซ่อนไว้ ในไกลบ้านคือเรื่องราวของธรรมชาติและมนุษย์ และก็มีความบังเอิญว่าสถานที่ ตรงนี้ที่เคยเป็นศุลกสถาน ก็เคยเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงต้อนรับรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จกลับจากประพาสยุโรปด้วย” ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เล่าถึงเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในนิทรรศการภาพถ่าย
“ไทยกับนอร์เวย์มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยาวนาน งานนิทรรศการภาพถ่ายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวัฒนธรรมเชิงวิชาการ ที่มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ ที่ใกล้ชิดระหว่างประชาชนกับประชาชน และเน้นย้ำถึงประวัติศาสตร์ที่สองประเทศ มีความทรงจำอันมีค่าร่วมกันที่เกี่ยวเนื่องกับการเสด็จประพาส ราชอาณาจักรนอร์เวย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในพิธีเปิดงาน
ด้าน แชสตี เริดส์มูน (H.E. Mrs.Kjersti Rodsmoen) เอกอัครราชทูตนอร์เวย์ ประจำประเทศไทย ได้พูดถึงความสำคัญของนิทรรศการครั้งนี้ว่า เป็นการตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและนอร์เวย์ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ. 2450 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนนอร์เวย์ โดยจดหมายและภาพถ่ายของพระองค์นั้นมีความสำคัญมากในแง่ของประวัติศาสตร์ เพราะไม่ใช่เพียงบันทึกการเดินทาง แต่ยังเป็นการบันทึกชีวิตชาวนอร์เวย์ ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่หาชมได้ยากมาก และประชาชนชาวไทยจะได้ชมใน นิทรรศการครั้งนี้
ในส่วนของความสัมพันธ์ไทย-นอร์เวย์ที่มีมาอย่างยาวนานร่วมร้อยปีนั้น ไม่ใช่เพียงการเสด็จประพาสของรัชกาลที่ 5 เท่านั้น เมื่อร้อยปีก่อน พระองค์ยังทรงซื้อสินค้าจากนอร์เวย์กลับมายังเมืองไทย เช่น ปุ๋ยของบริษัทยารา (Yara) ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญที่ร่วมกับดีแทค ในการพัฒนาแอปและเว็บไซต์ เพื่อพัฒนาด้านการเกษตร สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้เกษตรกรในประเทศไทย ซึ่งถ้าย้อนอดีตกลับไปเมื่อร้อยปีก่อนจะพบว่าลูกค้าคนแรกของยาราในเมืองไทย ก็คือ รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงซื้อปุ๋ยซึ่งถือเป็นสินค้าที่ใหม่มากในยุคนั้น จากนอร์เวย์ กลับมายังเมืองไทย ภาพที่พระองค์เสด็จไปยังโรงงานผลิตปุ๋ยของยารา ยังคง ถูกเก็บไว้ เพื่อบันทึกถึงจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ด้านการค้าและการวิจัยร่วมกัน ระหว่างไทยและนอร์เวย์
ส่วนในปัจจุบัน การค้า การลงทุนระหว่างไทย-นอร์เวย์ก็ได้เติบโตอย่างแน่นแฟ้น เช่นเดียวกับกลุ่มเทเลนอร์ (Telenor) ผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ก็เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้านโทรคมนาคมของโลกจากประเทศนอร์เวย์ ที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่น กับเมืองไทย มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น (Mr. Marcus Adaktusson) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุน การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ ได้กล่าวว่า บางช่วงบางตอนในบันทึกการเดินทาง เยือนประเทศนอร์เวย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้ทรงทำนายไว้ว่าในอนาคตการสื่อสารอาจจะกลายมาเป็นสิ่งสำคัญของโลกนี้ และผ่านไป 115 ปี การสื่อสารที่พระองค์ได้ทรงบันทึกไว้ก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่ง ในการสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยและนอร์เวย์
“ในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 มีตอนหนึ่งระบุไว้ว่า เมื่อครั้งเสด็จประพาสนอร์เวย์นั้น พระองค์ได้ทรงสนทนากับนักวิทยาศาสตาร์ Kristian Birkeland พระองค์ทรงเขียนลงในจดหมายเป็นการคาดการณ์ไว้ว่า วันหนึ่งข้างหน้าจะมีการสร้างโทรศัพท์ โดยไม่ต้องใช้สายและเครื่องโทรศัพท์นั้นก็จะเล็กมากขนาดเท่านาฬิกาพกพา”
สำหรับตัวนิทรรศการนั้นกระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง 3 ชั้นด้านในอาคาร แต่ด้วยความเป็นอาคารเก่าแก่ จึงต้องมีการจำกัดผู้เข้าชมเพียงรอบละ 20 คนเท่านั้น ผ่านการลงทะเบียนสำรองที่นั่งล่วงหน้าที่ www.zipeventapp.com/e/Hundred-Years-Between โดยให้เวลาชมรอบละ 30 นาที
และเมื่อก้าวเข้าไปในอาคาร นอกจากความรู้สึกของผู้เข้าชมจะถูกตรึงไว้ ด้วยความยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ศุลกสถานแล้ว ภาพธรรมชาติ ภาพภูเขาขนาดใหญ่ จะทำให้ผู้ชมรู้สึกว่ามนุษย์เราตัวเล็กลงในทันที ซึ่งนี่เป็นธรรมชาติของนอร์เวย์ที่พบเจอในจดหมายของรัชกาลที่ 5 อีกความน่าสนใจคือการนำบางข้อความในจดหมายของรัชกาลที่ 5 มาจัดวางพร้อมภาพถ่าย และแนบด้วยจดหมายที่ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน เขียนถึงพระองค์ว่านอร์เวย์ในร้อยปีผ่านไปนั้นเป็นอย่างไร
นิทรรศการครั้งนี้พิเศษด้วยการทำงานร่วมกับนักออกแบบแสงมืออาชีพ ทำให้มุมต่างๆ ของนิทรรศการส่งความรู้สึกที่ต่างกันออกไป ในระหว่างกลางวันที่เน้นความสว่างจากแสงธรรมชาติ และกลางคืน ที่มีการจัดแสงอุ่นๆ เข้าไปใส่ไว้ในภาพ บางมุมภาพคือตัวเด่น แต่ในบางมุม ก็ปล่อยให้จิตวิญญาณของอาคารหลังนี้ได้ออกมาพูดกับผู้ชมบ้าง ซึ่งท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซนย้ำว่า การจัดแสดงงานนิทรรศการ ในอาคารประวัติศาสตร์เช่นนี้ สิ่งที่เป็นหัวใจเลยก็คือการรักษาจิตวิญญาณ ของสถานที่นั้นๆ ให้คงอยู่ เพราะประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องของอดีต แต่เป็นเพียงมิติของเวลาที่ทับซ้อนอยู่กับปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาติดตั้ง จึงต้องไม่ทำให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของอาคารนั้นๆ เลือนหายไป
นิทรรศการ Hundred Years Between จัดแสดงเฉพาะในงาน Bangkok Design Week 2020 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้เท่านั้น ระหว่างเวลา 11.00-21.00 น. แนะนำให้จองตั๋วเข้าชมทั้งรอบกลางวันและกลางคืน เพราะจะทำให้ อารมณ์ความรู้สึกของการเข้าชมภาพถ่ายและจดหมายเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง