เปิดเคล็ดลับหมูคั่วเค็มสูตรโบราณ ‘ลิตาโฮมเมด’ ของแม่บ้านวัยเก๋ากับเส้นทางปั้นแบรนด์สู่ธุรกิจออนไลน์

อาหารนอกจากจะทำให้อิ่มกายแล้ว หลายๆ โอกาสยังทำให้รู้สึกอิ่มใจด้วย และสิ่งนั้นเราเรียกกันว่า ‘คอมฟอร์ตฟู้ด (Comfort Food)’ เพราะมันคืออาหารจานโปรดที่ทำให้เรานึกถึงบ้าน ครอบครัว หรือแม้แต่วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น

สำหรับชลบุรี เมืองท่าที่สำคัญของไทย ซึ่งมีพื้นที่เลียบติดทะเลยาวหลายสิบกิโลเมตร และเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวประมงอยู่นับร้อยชุมชนนั้น หนึ่งในคอมฟอร์ตฟู้ดของจังหวัดแห่งนี้ก็คือ ‘หมูคั่วปลาเค็ม’ แต่น่าเสียดายที่เมนูพื้นบ้านนี้น้อยคนนักที่จะรู้จักและกำลังจะเลือนหายไป

สูตรโบราณจากรุ่นสู่รุ่น

ปาลิตา วัฒกวณิชย์ แม่บ้านลูกสามวัย 51 ปี ชาวชลบุรี บอกเล่าถึงความเป็นมาของเมนูนี้ว่า ในอดีตวิวัฒนาการการเก็บอาหารยังไม่ก้าวหน้านัก ชาวบ้านจึงนำวัตถุดิบที่ได้มาแปรรูปถนอมอาหาร อย่างชาวชลบุรี เวลาชาวประมงจับปลาได้จำนวนมาก ก็จะนำไปหมักเกลือและตากแห้งจนได้เป็นปลาเค็มไว้บริโภคในครัวเรือนได้นานนับเดือน

การ ‘คั่ว’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกรรมวิธีในการถนอมอาหาร โดยใช้หลักการรีดน้ำในของสดออก ทำให้ยืดอายุวัตถุดิบได้นานยิ่งขึ้น นับเป็นเทคนิคที่แพร่หลายอย่างมากในภาคตะวันออก และหนึ่งในเมนูที่เรียกได้ว่าทุกบ้านในอดีตต้องมีติดไว้ก็คือหมูคั่วเค็มนี้เอง เรียกได้ว่ากลับบ้านมาเหนื่อยๆ ก็คดข้าวร้อนๆ กิน บีบมะนาวแนมผักสดหน่อยก็อร่อยเลย

“สมัยคุณปู่คุณย่าของเรา ตอนนั้นท่านรับราชการเป็นนายอากรที่ท่าเรือพลีของชลบุรี ท่านปรุงเมนูหมูคั่วปลาเค็มถวายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีในรัชกาลที่ 7 ทุกครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสเมืองจันทบุรี จนเป็นที่โปรดปรานของพระองค์” ปาลิตาเล่าอย่างภาคภูมิใจ

ปัจจุบัน เมนูดังกล่าวกำลังเลือนหายไปตามกาลเวลา เนื่องจากเป็นเมนูที่ต้องใช้เวลาในการปรุง และปัจจุบันอาหารนั้นมีความหลากหลายและนวัตกรรมการเก็บถนอมอาหารก็ก้าวหน้าไปมาก ทำให้มีเพียงปาลิตาที่ยังปรุงหมูคั่วเค็มอยู่ โดยส่วนใหญ่เธอจะลงมือทำก็ต่อเมื่อมีงานทำบุญเลี้ยงพระ จนเพื่อนและคนรู้จักได้มาชิม จึงจุดประกายให้เธอหันมาทำขาย ซึ่งในช่วงแรกเธอเริ่มทำจากหมู 2 กิโลกรัม และเปิดพรีออเดอร์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเท่านั้น

“หมูคั่วเค็มของร้านเรา มี 2 แบบ คือ หมูคั่วเค็มปลากุเลา และหมูคั่วเค็มปลาอินทรีย์ เราใช้ปลาเค็มอย่างดีในการเสริมรส ทำให้รสชาติที่ได้เค็มกลมกล่อมกำลังดี ที่สำคัญ สัมผัสของเนื้อหมูยังคงนิ่ม ซึ่งเกิดจากการคั่วถึง 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว” เธอแย้มถึงเคล็ดลับความอร่อยที่ถ่ายทอดกันมากว่าร้อยปีจากรุ่นสู่รุ่น

ปั้นแบรนด์ลุยออนไลน์

เมื่อขายไปได้สักพัก ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่ส่วนใหญ่ทำร้านอาหารอยู่แล้ว เธอจึงนึกไอเดียขยายสู่สายการผลิต ต้องการสร้างมรดกทางภูมิปัญญาให้แก่ลูกหลาน จึงนำหมูคั่วเค็มดังกล่าวไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและอบรมกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาค 9 และสถาบันอาหาร เพื่อพัฒนาสู่ระดับอุตสาหกรรม รวมถึงเรื่องการสร้างแบรนด์ จนพัฒนาออกมาเป็น “ลิตาโฮมเมด” ซึ่งได้รับรางวัลการันตีความอร่อยและความสะอาดจากหลายเวที การันตีด้วยมาตรฐาน GMP

blank
blank

ในระหว่างที่ปาลิตาเดินหน้าพัฒนาสถานที่ผลิตอาหารขนาดย่อย สร้างแบรนด์ พร้อมกับเตรียมช่องทางตลาดไปพร้อมๆ กัน เธอก็ค้นพบจุดอ่อนของตัวเองนั่นคือ การทำตลาดออนไลน์ วันหนึ่งเธอเห็นโครงการดีแทค เน็ตทำกินเปิดรับสมัคร จึงตัดสินใจเข้าร่วมอย่างไม่ลังเล

จากวันแรกที่ปาลิตาทำขายแบบพรีออร์เดอร์ ปรุงเพียงครั้งละ 2 กิโลกรัม ปัจจุบัน เธอคั่วหมูครั้งละ 20 กิโลกรัม และขยายสู่ไลน์เมนูใหม่คือหมูคั่วหนำเลี๊ยบ บรรจุถุงซีลอย่างดี มีข้อมูลโภชนาการระบุไว้ข้างซอง โดยปัจจุบันสามารถจำหน่ายได้เดือนละ 100-200 ถุง และพัฒนาจากอาชีพเสริมกลายเป็นอาชีพหลัก

“เราอยากรู้เรื่องการขายของออนไลน์จริงจัง รู้ให้ลึก ซึ่งโครงการดีแทคเน็ตทำกินตอบโจทย์วัยเก๋ามาก ทั้งเรื่องหลักสูตรที่ครอบคลุม เช่น การสอนวิธีปักหมุดบนกูเกิ้ล การถ่ายรูป การเล่าเรื่อง และการไลฟ์สด น้องๆ โค้ชก็น่ารัก ใส่ใจ หากใครตามไม่ทันหรือช้ากว่าคนอื่น ก็จะส่งคนเข้าไปประกบทันที และคอยพูดย้ำๆ ช้าๆ การสอนให้คนแก่เข้าสู่โลกออนไลน์ได้ ใช้เป็น มันมีความหมายต่อพวกเขามาก เขาจะได้ไม่เหงา ไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกทิ้งไว้อีกโลก” ปาลิตาทิ้งท้าย

blank