หัวเรือใหญ่แห่ง ‘เทเลนอร์ เอเชีย’ เผยเป้าหมายครั้งใหม่สำหรับภูมิภาค

เมื่อไม่นานมานี้ คุณเยอเก้น คริสเตียน อาเร้นท์ โรสทริป ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวเรือใหญ่แห่งเทเลนอร์ เอเชีย ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียของเทเลนอร์กรุ๊ป ซึ่งในอดีตนั้นแบ่งออกเป็น 2 คลัสเตอร์ ก่อนจะถูกรวมเข้าด้วยกันเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 การปรับเปลี่ยนโครงสร้างในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นเป้าหมายใหม่ของเทเลนอร์ ที่ต้องการสร้างความเติบโตและนำความทันสมัยมาสู่ภูมิภาค โดยไม่พลาดการคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ 

เพื่อจะเข้าใจถึงเป้าหมายดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้น ทางทีม dtac blog จึงได้ขอนัดพูดคุยกับคุณเยอเก้นด้วยตัวเอง แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่สามารถทำได้ เราจึงต้องเลื่อนนัดรับประทานมื้อเที่ยงนี้ออกไปอย่างน่าเสียดาย และต่อสายตรงไปยังบ้านของคุณเยอเก้นที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์แทน ขณะนั้นเป็นเวลา 7 โมงเช้า เรากล่าวขอโทษที่โทรหาเขาแต่เช้าตรู่

“ไม่จำเป็นต้องขอโทษเลยครับ ทุกวันนี้ผมตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อปรับตัวให้เข้ากับเวลาที่เอเชีย” คุณเยอเก้นกล่าว การทำเช่นนี้จะช่วยให้เขาไม่ประสบกับภาวะเจ็ตแล็กมากนัก เมื่อถึงเวลาต้องย้ายมาทำงานที่เอเชียจริงๆ แล้ว คุณเยอเก้นยังรู้จักและคุ้นเคยกับภูมิภาคแห่งนี้เป็นอย่างดีอีกด้วย “ในช่วงยุค ’90s ผมเคยอาศัยอยู่ในเอเชีย ที่สิงคโปร์ และได้เดินทางท่องไปทั่วภูมิภาค เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีชีวิตชีวามาตั้งแต่ในอดีต ผมรักความหลากหลายและตื่นเต้นที่จะได้ย้ายไปอยู่ใกล้ธุรกิจมากขึ้น ชีวิตที่ออสโลและนอร์เวย์มันก็ดีอยู่ แต่พอมองย้อนกลับไป ช่วงชีวิตที่ดีที่สุดของผมนั้นเกิดขึ้นในต่างแดน” 

 

แม้คุณเยอเก้นจะเพิ่งเข้ามาร่วมงานกับกลุ่มเทเลนอร์เมื่อปี พ.ศ. 2559 ในฐานะรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน แต่ช่วงเวลาที่เขาเคยอาศัยอยู่ในเอเชีย ก็ตรงกันกับยุคสมัยที่เทเลนอร์เริ่มต้นทำธุรกิจในภูมิภาคแห่งนี้พอดี โดยเมื่อปี พ.ศ. 2540 เทเลนอร์ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท Grameenphone ประเทศบังกลาเทศ ซึ่งนับเป็นการลงทุนในตลาดโทรคมนาคมเอเชียเป็นครั้งแรกของกลุ่มเทเลนอร์ ก่อนจะตามมาด้วยความสำเร็จจากการเข้าไปลงทุนเพื่อเข้าทำตลาดธุรกิจโทรคมนาคมในมาเลเชีย ไทย ปากีสถาน และพม่า 

“ผมคิดว่าเราโชคดีที่เทเลนอร์เล็งเห็นศักยภาพตลาดในภูมิภาคเอเชียมาหลายสิบปีแล้ว เทเลนอร์เป็นองค์กรที่ขยับตัวเร็ว และเราก็ไม่เคยหยุดเดินหน้า ไม่ว่าจะในช่วงเวลาที่ดีหรือไม่ค่อยดีนัก ตัวตนของเรานั้นมีความเป็นเอเชียและนอร์ดิก อย่างละครึ่ง” คุณเยอเก้นกล่าว

อย่างไรก็ดี ตลาดในกลุ่มประเทศนอร์ดิกก็ถือว่ามีความเป็นเอกภาพกว่ามาก เมื่อเทียบกับในภูมิภาคเอเชีย เราถามคุณเยอเก้นว่าเหตุใดเทเลนอร์จึงเล็งเห็นว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ในการผนึกธุรกิจทั้งภูมิภาคมาไว้ภายใต้คลัสเตอร์เดียวกัน

 “เอเชียยังคงเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจไม่แพ้เมื่อก่อน ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง เราเห็นประชากรที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และชนชั้นกลางเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จริงอยู่ที่ผู้ใช้บริการใหม่ๆ อาจลดจำนวนลง แต่เราก็เห็นการเติบโตในเรื่องดาต้าและรูปแบบการใช้งานที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะดำเนินต่อไป ในขณะเดียวกัน เมื่อตลาดโตขึ้น เราก็เริ่มเห็นการบรรจบกันของทิศทางตลาดในภูมิภาค เช่นเดียวกับพฤติกรรมผู้บริโภค โดยอัตราการใช้งานช่องทางดิจิทัลและดาต้านั้นเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในกลุ่มประเทศอาเซียน ผมไม่ได้บอกว่าอาเซียนนั้นเป็นตลาดเดียวแล้ว แต่ประเทศต่างๆ ก็มีจุดที่คล้ายคลึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ และการมีจุดยืนทางธุรกิจที่ครอบคลุมในระดับภูมิภาคนั้นส่งผลดีต่อเทเลนอร์ งานของผมคือการต่อยอดจากตรงจุดนั้น” เขาตอบ

ดีแทคเพิ่งครบรอบ 30 ปีไปเมื่อปี 2561 และกำลังจะก้าวเข้าสู่การครบรอบใหญ่อีกหนึ่งวาระ ในปี 2544 หรือประมาณ 20 ปีก่อน เทเลนอร์ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของดีแทค และคุณซิกเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบันแห่งเทเลนอร์กรุ๊ป ก็เคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีแทคเมื่อปี 2545-2551 เราถามคุณเยอเก้นถึงมุมมองที่เขามีต่อตลาดในประเทศไทย 

หลายคนมองว่าการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งของคุณเยอเก้น และการก่อตั้งเทเลนอร์ เอเชีย นั้นส่งสัญญาณถึงการควบรวมธุรกิจในภูมิภาค เมื่อปีที่แล้ว เขายังเป็นผู้นำการเจรจาควบรวมธุรกิจระหว่างเทเลนอร์และ Axiata อีกด้วย แม้การเจรจาดังกล่าวจะไม่ประสบผลสำเร็จ แต่เทเลนอร์ก็ยังไม่หยุดเดินหน้าคว้าโอกาสใหม่ๆ ในเอเชีย

“อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในตลาดโลกนั้นมีจำนวนผู้เล่นมากเกินไป ผมมองว่ามันมีช่องว่างที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเข้ามาผนึกกำลังกัน เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับภาครัฐ ประชาชน และตัวอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเอง ในภูมิภาคเอเชียก็เช่นเดียวกัน” เขากล่าว

เมื่อเทียบกับประเทศอย่างปากีสถานและบังกลาเทศ ซึ่งมีประชากรกว่า 161 ล้านคน และ 212 ล้านคน ตามลำดับแล้ว ขนาดประชากรของไทย ซึ่งอยู่ที่ราว 69 ล้านคนนั้น จึงดูเล็กลงไปถนัดตา กระนั้น ดีแทคก็ยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อันดับหนึ่งให้กับเทเลนอร์ เอเชีย

blank

 

“ดีแทคนั้นมีความสำคัญมากต่อเทเลนอร์ ทั้งในแง่ขนาดและตลาดที่ตั้ง เทเลนอร์รู้สึกภูมิใจที่ได้มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมกับดีแทค แต่การเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญในตลาดที่ใหญ่ระดับนี้นั้น แปลว่าเราต้องเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบากและความท้าทายใหม่ๆ ในทุกวัน ทุกสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มันเป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ”

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2563 นั้น ช่องทางดิจิทัลของดีแทคเติบโตขึ้นในอัตราเลขสองหลัก แต่คุณเยอเก้นก็รีบเน้นย้ำว่า แม้เราจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการที่เราทำสิ่งต่างๆ แต่การดูแลลูกค้าและพนักงานทุกๆ คนก็ยังคงเป็นหัวใจหลักของเทเลนอร์

“ไม่ว่าจะในยุควิถีใหม่ หรือยุคก่อนหรือหลังโควิด-19 ก็ตาม เป้าหมายแรกของเราและความรับผิดชอบในฐานะองค์กร ในฐานะบุคคล ในฐานะผู้นำ และในฐานะพนักงานนั้น ก็คือการดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้ธุรกิจของเราดำเนินไปอย่างแข็งแกร่งมากที่สุด โดยตั้งอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุควิถีใหม่ไม่ได้ลดทอนความสำคัญของหลักการพื้นฐานเหล่านี้ลง” เขากล่าว

ยุควิถีใหม่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นของการเชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile connectivity) โดยแม้ปริมาณการใช้งานดาต้าจะเพิ่มสูงขึ้นภายใต้มาตรการเว้นระยะห่าง แต่เทเลนอร์กรุ๊ปก็ยังสามารถให้บริการเครือข่ายได้อย่างไม่สะดุด ซึ่งคุณเยอเก้นยกความดีความชอบให้กับการเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

“ที่เทเลนอร์ เรามุ่งเน้นในการพัฒนาธุรกิจหลักและวิธีการทำธุรกิจของเราให้ทันกับยุคสมัย และสร้างผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ เราจะมีสิทธิ์เติบโตและต่อยอดจากธุรกิจหลักของเราหรือไม่นั้น ผลลัพธ์เหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัด เราได้รับโอกาสที่ดีมากในการทำสิ่งที่เราทำอยู่อย่างเต็มศักยภาพ และนี่ควรจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของดีแทคเช่นเดียวกัน ช่วงหลังๆ มานี้ ดีแทคได้ลงทุนกับสิ่งต่างๆ มากขึ้นกว่าเมื่อหลายปีก่อน และผมเชื่อว่าดีแทคจะสามารถเป็นที่สุดในสิ่งที่พวกเขาทำได้” เขาอธิบาย

ในมุมมองของคุณเยอเก้นนั้น ธุรกิจไม่เพียงต้องปรับตัวรับกับโลกยุคใหม่ (modernization) เพื่อความอยู่รอด สิ่งนี้ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญในการมอบบริการการเชื่อมต่ออย่างยั่งยืนให้กับลูกค้าด้วย

“ ในปัจจุบัน การขาดแคลนระบบชำระเงินดิจิทัลนั้น ทำให้การทำธุรกรรมเป็นเรื่องเสี่ยงและยุ่งยาก เรายังเห็นด้วยว่าในช่วงวิกฤต ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการเครือข่าย ที่จะช่วยพัฒนาสังคมให้พร้อมรับกับโลกยุคใหม่ เราสามารถดูแลพนักงานของเรา และสร้างอิทธิพลเชิงบวกในสังคมที่เราอยู่ไปพร้อมกัน” เขาทิ้งท้าย

ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 176 ล้านรายจากทั่วภูมิภาค ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เทเลนอร์ เอเชีย ภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่คนล่าสุด จะสามารถนำพาภูมิภาคเอเชียไปสู่ความล้ำหน้าทางดิจิทัล ในรูปแบบและอัตราความเร็วที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

[1] กลุ่มประเทศนอร์ดิกตั้งอยู่ในภูมิภาคยุโรปเหนือ ซึ่งประกอบด้วยประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน