“You are what you eat” เป็นคำกล่าวที่ยังใช้ได้จริงในปัจจุบัน ไลฟ์สไตล์ของเราและอาหารที่เราเลือกรับประทานล้วนส่งผลต่อสุขภาพและสุขภาวะ (well-being) ซึ่งไม่ใช่แค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพใจด้วย งานวิจัยหลายแห่งพบว่าอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลและโรคซึมเศร้าได้ด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้เทรนด์อาหารสุขภาพจะมาแรงในผู้คนทุกช่วงวัย
และอาหารสุขภาพนี่เอง เป็นสิ่งที่ช่วยให้ ณัฐสุดา ศรีสวัสดิ์ หรือ “พี่หนิง” วัย 60 ปี ชาวจังหวัดชลบุรี ก้าวพ้นมรสุมของชีวิตและวิกฤตสุขภาพที่รุมเร้าสมาชิกในครอบครัวมาได้
ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง
ลูกของณัฐสุดาทั้ง 3 คนล้วนเกิดมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพ โดยลูกคนโตมีปัญหาทางเดินหายใจตั้งแต่อายุ 1 ปี ขณะที่คนลูกคนกลางเป็นโรคหอบหืดตั้งแต่ 8 เดือน ส่วนลูกคนสุดท้องต้องเผชิญกับภาวะแพ้สารอาหารหลากชนิดตั้งแต่กำเนิด ซึ่งล้วนเป็นสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนมวัว ไข่ ผัก ทำให้รับประทานได้แต่ข้าวกับซีอิ๊ว ส่วนสารอาหารอื่นต้องรับผ่านนมแม่เท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น ตัวณัฐสุดาเองยังประสบกับปัญหาสุขภาพจากภาวะอาการเลือดเป็นพิษ เนื่องจากพักผ่อนน้อยและทำงานหามรุ่งหามค่ำ เมื่ออาการของตัวเองเริ่มดีขึ้น คุณพ่อของเธอกลับต้องเผชิญกับภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ ทำให้ต้องระวังเรื่องอาหารเป็นพิเศษ รับประทานได้แต่อาหารรสอ่อนและย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม ปลา หรือเต้าหู้
“ช่วงแรกๆ คุณพ่อกินอาหารเหลือตลอด เราในฐานะลูกเห็นแล้วสงสาร ลำพังป่วยกายก็ทุกข์ทนมากอยู่แล้ว ยิ่งป่วยใจยิ่งไม่โอเค วันหนึ่ง พาคุณพ่อไปกินอาหารญี่ปุ่น ปรากฏว่าคุณพ่อกินหมดเลย เหตุการณ์นั้นจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เราพัฒนาหาสูตรอาหารใหม่ๆ ที่เหมาะกับคนป่วยอย่างคุณพ่อ อาทิ ซุปผัก ข้าวอบธัญพืช โดยศึกษาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งครูคนแรกที่พาเราสู่โลกออนไลน์ก็คือลูกๆ” เธอเล่า

ครูคนแรก
ด้วยประเด็นด้านสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว ประกอบกับความสนใจส่วนตัว ณัฐสุดาจึงเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์เมนูอาหาร และได้ก่อตั้งแบรนด์ GoodMood อาหารสุขภาพสไตล์ home cooking ส่งสินค้าตามร้านสะดวกซื้อใต้คอนโดในพื้นที่พัทยา จนกระทั่งในปี 2562 เธอได้ตัดสินใจเปิดเฟซบุ๊กแฟนเพจตามคำแนะนำของลูกๆ โดยเธอเล่าว่าในตอนแรกที่เธอฝึกเขียนโพสต์นั้น เธอใช้เวลา 1-2 วันต่อหนึ่งโพสต์เลยทีเดียว

แม้จะมีพื้นฐานด้านการใช้อินเทอร์เน็ตอยู่บ้าง จากการใช้ทำงาน หาข้อมูล และดูซีรีส์เกาหลีที่ชื่นชอบ แต่ณัฐสุดากล่าวว่าเธอเป็นคนขี้กลัว กลัวโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก เพราะถือเป็นของใหม่สำหรับคนรุ่นเธอ “ตอนแรกที่โพสต์ไปก็เงียบ จนลูกบอกว่าลองใส่แฮชแท็กคำว่าแซนด์วิชดู สุดท้ายก็มีคนติดต่อเข้ามา เป็นออเดอร์แรกที่ได้จากการเปิดร้านออนไลน์ ตอนแรกตื่นเต้นมากจนไม่รู้ว่าจะตอบกลับลูกค้ายังไง แต่ก็ค่อยๆ เรียนรู้และปรับเปลี่ยนไป จนมีฐานลูกค้าออนไลน์ระดับหนึ่ง”
พอก่อตั้งร้านออนไลน์มาได้ประมาณเกือบปี ก็มีลูกค้าเข้ามาผูกปิ่นโตกับ GoodMood โดยจ้างให้เธอทำอาหารสุขภาพตลอดเดือน วันละ 2 มื้อในงบ 500 บาทต่อวัน เนื่องจากลูกค้ารายนี้ปัญหาเรื่องน้ำหนักเกิน จากนั้นจึงมีการพูดปากต่อปาก ขยายฐานลูกค้าในลักษณะ subscription รายสัปดาห์บ้าง รายเดือนบ้าง
ทั้งนี้ จุดเด่นของร้าน GoodMood คืออาหารสุขภาพที่หลากหลายและน่ารับประทาน เจาะตลาดกลุ่มลูกค้าพรีเมียม โดยราคาแซนด์วิชเริ่มต้นที่ชิ้นละ 80 บาท ส่วนอาหารกล่องเริ่มต้นที่กล่องละ 100 บาท

สูงวัยอย่างมีคุณภาพ
แม้ GoodMood จะมีฐานลูกค้าอยู่บ้าง แต่เมื่อวิกฤตโควิด-19 รายได้ของณัฐสุดาก็ลดลงเหลือศูนย์ไปหลายเดือน เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบอย่างสาหัส ทำให้เธอต้อง “โกออนไลน์” อย่างเต็มตัว
ในระหว่างนั้น เธอใช้เวลาว่างในการสรรหาคอร์สเรียนต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ จนมาสมัครเรียนกับ Young Happy และได้รู้จักกับ ดีแทคเน็ตทำกิน ซึ่งเริ่มแรกเธอมีคำถามในใจเยอะมากว่าจะสมัครเข้าโครงการดีหรือไม่ เนื่องจากรับเพียง 250 คนทั่วประเทศและเกรงว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์อย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้การเรียนรู้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
“เราเซอร์ไพรส์มาก เพราะทีมโค้ชให้การตอบรับที่ดี มาดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นกรณีๆ ไป ทำให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น หายกลัว ต้องขอขอบคุณทีมดีแทคเน็ตทำกินที่ช่วยเปิดโลกอีกรูปแบบให้ชีวิต ช่วยทำให้สิ่งที่ฝันเป็นจริงได้มากขึ้น สามารถสร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเองได้ ชีวิตมีสีสัน มีส่วนในการสร้างความสุขให้กับโลกใบนี้” เธอทิ้งท้าย
