เปิด 4 เคล็ดลับการลงทุนสำหรับมนุษย์เงินเดือน

  • การออมและการลงทุน เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำสำหรับคนยุคนี้ เพราะแนวคิดการฝากเงินในธนาคารเพื่อใช้หลังวัยเกษียณแบบคนยุคเบบี้บูมเมอร์ใช้ไม่ได้อีกแล้วในวันนี้
  • คาถาการเงิน “ออมเงินได้ – ใช้เงินเป็น – หาเงินเก่ง – ต่อเงินงอกเงย”
  • พื้นฐานของเครื่องมือการลงทุนมีอยู่ 4 ระดับ 1 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, 2 กองทุน LTF /RMF, 3 กองทุนรวม, 4 หุ้น แต่ละเครื่องมือเหมาะสมในการใช้แต่ละช่วงชีวิต
  • Multiple Sources of Income การมีแหล่งรายได้หลายทางเป็นเทรนด์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ และกำลังจะกลายเป็นท่าบังคับสำหรับคนยุคใหม่

คอนเซปต์เรื่องการออมแบบเดิมๆ ที่เริ่มจาก ‘ทำงาน – เก็บเงิน – รอเวลาใช้เงินเก็บหลังเกษียณ’ ไม่เพียงพอสำหรับคนยุคนี้อีกต่อไป อธิป กีรติพิชญ์ นักลงทุน VI แถวหน้าของประเทศไทย และเจ้าของเพจ ‘นิ้วโป้ง Fundamental VI’ บอกกับเราว่า การเก็บเงินออมหยอดกระปุกไม่ใช่ ‘ทางออก’ อีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อใช้ชีวิตรอดในอนาคตสิ่งที่เรียกว่า ‘การออมและการลงทุน’v2_01

การออม/การลงทุน สองด้านของเหรียญเดียวกัน

คอนเซปต์การออมของคนยุคนี้เราคิดแบบเก่าไม่ได้ เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว

“ย้อนไป 20 กว่าปีที่แล้ว ขั้นพื้นฐานของการขึ้นเงินเดือนคือ 10% โบนัสขั้นต่ำคือ 3 เดือนเป็นมาตรฐาน เพราะว่า 20 กว่าปีที่แล้วเงินเฟ้อขึ้นทีละเกือบ 10% ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารสูงถึงปีละ 13% คนยุคเบบี้บูมเมอร์ เขาจึงสามารถใช้คอนเซปต์การออมแบบเก่า ที่แต่ละคนมุ่งมั่นทำงานและเก็บเงินฝากธนาคารเพื่อกินดอกเบี้ยได้ คิดง่ายๆ ว่าถ้าอยากใช้ชีวิตทั้งชีวิตอย่างอยู่ดีมีสุข คุณต้องเรียนหนังสือให้เก่ง ทำงาน ออมเงินฝากธนาคาร มีเงินบำเหน็จบำนาญ แล้วคุณก็จะมีความสุขในบั้นปลายชีวิต แค่นั้นพอ”

ชุดความคิดแบบเก่าเช่นนั้นจบพร้อมกับยุครุ่งเรืองของคนยุคเบบี้บูมเมอร์ อธิปฉายภาพให้เราเห็นชัดขึ้นอีกว่า รายได้ของคนยุคนี้ไม่โตเร็วเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งการจ้างงานไม่สามารถการันตีได้ถึงอายุ 60 เพราะความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจที่ถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยี สิ่งเดียวที่จะทำให้คนยุคนี้รอดได้หลังวัยเกษียณ คือ ‘การลงทุน’ อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตการทำงาน

“ถ้าเปรียบเทียบการฝากเงินประจำที่อัตราดอกเบี้ย 1% ออมเงิน 1 ล้านบาทในธนาคาร ปีแรกคุณจะได้ดอกเบี้ยประมาณ 1 หมื่นบาท อีกหนึ่งปีคุณจะได้อีก 1 หมื่นบาท รวมกัน 2 ปีได้ประมาณ 2 หมื่นบาท แต่ถ้าเทียบกับการลงทุนในกองทุนหุ้น 1 ล้านบาทเหมือนกัน ในปี 2016 กองทุนหุ้น SET50 (กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น 50 ตัวที่ใหญ่และมีสภาพคล่อง) เติบโตสูงถึง 22% เงิน 1 ล้านบาทที่คุณลงทุนไป จะกลายเป็น 1 ล้าน 2 แสน 2 หมื่นบาททันที จะเห็นว่าการงอกเงยมันคนละเรื่องกันเลย” และในปี 2017 กองทุนหุ้น SET50 ก็ยังให้ผลตอบแทนในระดับ 17%

“ในขณะที่เราอยู่ในยุคที่มีแต่ข้อจำกัด ไม่เหมือนยุคเบบี้บูมเมอร์ ข้อดีเดียวที่คนยุคนี้มีแต่คนยุคที่แล้วไม่มีคือ ‘เครื่องมือในการลงทุน’ และถ้าถามว่านี่เป็นทางเลือกในการออมหรือเปล่า สำหรับผมคิดว่าไม่ใช่ แต่นี่คือ “ท่าบังคับ” ที่ผู้คนยุคนี้ต้องลงทุน และต้องลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคต”

เปิดสูตรการออม

แน่นอนว่าการลงทุน ต้องเริ่มต้นมาจากการออม อธิปบอกว่าก่อนอื่นเราต้องเริ่มเปลี่ยนแอดติจูด ในการให้คุณค่าระยะสั้นกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าใหญ่กว่าสิ่งที่รออยู่ในอนาคต และสมการสำคัญคือยิ่งอายุน้อยต้องทำ คือการลงทุนในสัดส่วนที่มาก ให้ระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานเป็นตัวสร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำในวัยเกษียณ

 “ถ้าคุณคิดจะลงทุน คนที่อายุยี่สิบกว่าๆ ควรลงทุนให้เยอะ คิดง่ายๆ คุณอายุเท่าไหร่ให้เอา 100 ลบ คุณจะได้เปอร์เซนต์เงินออมที่ต้องเอามาลงทุน”

เช่น คุณอายุ 22 เอา 100 ลบ เท่ากับ 78% ถ้าคุณมีเงินออม 1 ล้านบาท คุณต้องเอาเงิน 7 แสน 8 หมื่นบาทมาลงทุน เพราะคุณต้องคิดว่าชีวิตยังมีเวลาในการทำงานอีกนาน” อันนี้คือเรื่อง Asset Allocation หรือ การจัดสรรความมั่งคั่งตามอายุ

03รู้จักเครื่องมือการลงทุน 4 ระดับ

เครื่องมือการลงทุนจริงๆ แบ่งออกเป็น 4 ระดับใหญ่ๆ เปรียบเหมือนประตู 4 บาน ที่เราค่อยๆ เปิดพื้นที่เข้าไปในแต่ละช่วงชีวิต และบางประตูควรเริ่มเปิดและเดินไปต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นทำงาน

ประตูที่ 1  – กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

“เรียกว่าเป็น ‘กองทุนไร้พ่าย’ สิ่งนี่ต้องซัดก่อนเลย ถ้าบริษัทให้คุณสะสมได้สูงสุดเท่าไหร่ คุณเพิ่มให้มากที่สุดเท่านั้น เพราะคุณจะไม่มีวันขาดทุนจากกองทุนนี้เลย โอกาสเท่ากับศูนย์ กฎของเกมคือเหมือนคุณมีโอ่งน้ำอยู่สองโอ่ง โอ่งหนึ่งติดชื่อคุณ อีกโอ่งหนึ่งติดชื่อคุณและบริษัทด้วย ทุกเดือนคุณใส่เงินลงโอ่งใบแรก บริษัทจะใส่เงินลงในโอ่งใบที่สองให้ ถ้าคุณทำงานอยู่ในบริษัทนั้นเกิน 7 ปี คุณสามารถเอากลับบ้านไปได้เลยทั้งสองโอ่ง ซึ่งการออมประเภทนี้เป็นการออมในระยะยาวๆ ดังนั้นสัดส่วนการออมต้องให้มากที่สุด” และยังใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

ประตูที่ 2 – LTF (Long Term Equity Fund) / RMF (Retirement Mutual Fund)

“มนุษย์ทุกคนที่ทำงานต้องเสียภาษี การซื้อ LTF / RMF คือการลงทุนที่มีข้อได้เปรียบทางภาษี โดยที่เราสามารถนำเงินลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ต้องจ่าย กฎของเกมคือ RMF สามารถถอนเงินลงทุนได้อีกทีตอนอายุ 55 LTF เอาเงินแช่ไว้ 7 ปี เพราะฉะนั้นคนที่มาลงทุนตรงนี้คือ คุณได้ช่วยเหลือตัวเองด้วยการลงทุนระยะยาว และช่วยชาติทางอ้อม พอเมื่อถึงจุดที่กองทุนของคุณใหญ่พอ อายุ 60 คุณก็จะเป็นผู้จัดการกองทุนของตัวเอง ใช้ดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของประเทศชาติและสามารถต่อยอดจากเงินตรงนั้นเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข”

ประตูที่ 3 – กองทุนรวม (Mutual Fund)

“คล้ายๆ กับกองทุน LTF / RMF แต่จักรวาลใหญ่กว่ามาก เพราะว่าโลกยุคนี้การลงทุนสามารถเชื่อมต่อกันทั้งโลก ในปัจจุบันมีกองทุนสารพัดชนิดเลยที่เราสามารถจะลงทุนได้ กองทุนหุ้นไทย กองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นเอเชียแปซิฟิค กองทุนเทคโนโลยี กองทุนเฮลท์แคร์ มันมีเครื่องมือเยอะมาก และข้อดีคือในกองทุนเหล่านี้มีผู้เชี่ยวชาญคอยบริหารเงินทุน และมีการกระจายความเสี่ยง เพราะใน 1 กองทุนจะไม่ลงทุนในหุ้นเพียงตัวเดียว แต่จะกระจายไปในหุ้นตัวใหญ่ๆ อันนี้ผมว่าเป็นส่วนต่อขยายที่น่าสนใจและควบคุมความเสี่ยงได้ดี”

ประตูที่ 4 – ลงทุนในหุ้น (Stock)

“อันนี้คือขั้นแอดวานซ์ เป็นการลงทุนในหุ้นเป็นตัวๆ ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าอันอื่นๆ ต้องใช้ความรู้ การวิเคราะห์ในการซื้อหุ้นตัวนั้นนี้ เลือกหุ้นดี ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งถ้าถามผม สิ่งสำคัญคือเรื่อง ‘บริหารความเสี่ยง’ หมายความว่าคนที่อายุไม่เท่ากัน ฐานทุนไม่เท่ากัน ก็ควรมีรูปแบบการลงทุนหุ้นไม่เหมือนกัน และคุณควรเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักโหม และทำมันอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต”

Multiple Source of Income

จากความไม่แน่นอนของโลกที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงทำให้เกิดเทรนด์ของโลกยุคใหม่ที่เรียกว่า ‘Multiple Source of Income’ หรือการหารายได้หลายทาง ซึ่งเป็นหนึ่งทางเลือกสำคัญในการออกแบบชีวิตยุคนี้

“ผมคิดว่ายุคนี้กำลังกลายเป็นเหมือนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ‘Industrial Revolution (1770-1870)’ อีกครั้งหนึ่ง ยุคนั้นเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นจนสร้างเครื่องจักรไอน้ำได้ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าแรงงานคนและเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมทอผ้าที่หันมาใช้เครื่องจักรแทนคนกันมากมาย ทำให้คนงานปั่นฝ้าย กรอด้าย และคนงานจากหลายอุตสาหกรรมในเมืองแมนเชสเตอร์ ลุกฮือกันออกมาประท้วงเรื่องการว่างงาน เพราะการใช้เครื่องจักรแทนคน ทำให้คนงานตกงานเป็นร้อยเป็นพัน ยุคนี้เหตุการณ์แบบนั้นอาจจะกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง โรงงานสมัยใหม่ใช้คนงานในไลน์การผลิตน้อยลงมาก หรือแม้แต่แรงงานในห้องแอร์ (white collar) พนักงานที่ใช้ความรู้ (knowledge worker) ก็กำลังโดนคุกคามจากปฏิวัติทางเทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Disruption) ที่กำลังส่งผลไปในหลายอุตสาหกรรม เรื่อง ‘มนุษย์’ กำลังเป็นประเด็นใหญ่และจะแรงขึ้นเรื่อยๆ อาชีพที่ใช้แรงงานและทำซ้ำๆมันจะหดหายไปเรื่อย

“คนยุคใหม่ถ้าจะตั้งรูปแบบชีวิตว่า ขอทำงานไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 60 แล้วก็เกษียณ คุณจะทำแบบนั้นได้คงต้องอยู่ในภาคส่วนที่มั่นคงมากๆ โอกาสการไล่ออกยากมากๆ อย่างงานราชการ ที่ลดคนยาก เอาออกยาก มีสวัสดิการรองรับมากมาย คุณต้องได้สิทธิ์คุ้มกันระดับนั้น”

“แต่เมื่อความแน่นอนคือความไม่แน่นอน ‘การเตรียมความพร้อม’ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ฝรั่งมีทฤษฎีหนึ่งเรียกว่า ‘Survival Ratio’** คือการเอารายได้ทั้งปีตั้ง หารด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด ถ้าต่ำกว่า 1 แสดงว่าชีวิตคุณกำลังมีปัญหาแล้ว”

02คุณจึงมีสองทางเลือก วิธีแรกคือคุณต้องลงทุน เพื่อให้ในระยะยาว ผลตอบแทนจากการลงทุนจะมาช่วยเสริมในฝั่งรายได้ วิธีที่สองคือลดส่วนของค่าใช้จ่ายลง และ ต้องไปเพิ่มแหล่งรายได้ให้มากขึ้น ซึ่งมันคือเทรนด์ ‘Multiple Sources of Income’ ที่กำลังมา และเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศอย่างสิงคโปร์ อันนี้กำลังเป็นสิ่งจำเป็น ผมเชื่ออย่างนั้น”

IMG_5294

ENGLISH VERSION