เจาะลึกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานอพยพของชาวดีแทคที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ไม่ใช่เพียงลูกค้า แต่คือสมาชิกในครอบครัว

นับตั้งแต่เดือนธันวาคมเมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศไทยประสบกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยอุบัติการณ์ครั้งนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ตลาดกลางกุ้งมหาชัย จ.สมุครสาคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานอพยพจำนวนมาก และนำไปสู่การประกาศมาตรการป้องกันโรคขั้นสูงสุดเมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น ดีแทคในฐานะผู้นำการให้บริการเครือข่ายในกลุ่มลูกค้าแรงงานอพยพ เข้าใจดีว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความท้าทายให้กับผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ทั้งในด้านการติดต่อสื่อสาร และการใช้ชีวิตประจำวันโดยทั่วไป ดีแทคจึงเข้าไปให้การสนับสนุนลูกค้า ผ่านการช่วยเผยแพร่ข่าวสารจากภาครัฐในเรื่องโควิด-19 เป็นภาษากัมพูชาและเมียนมาร์ การมอบถุงยังชีพ และการนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ เพื่อให้แรงงานอพยพยังสามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมได้ต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ dtacblog จึงชวนทีม Special Segment ของดีแทค นำโดย หน่อย-ลลิดา โลหชิตานนท์ ผู้อำนวยการ สายงานการตลาดพรีเพดกลุ่มแรงงานอพยพและนักท่องเที่ยว มาพูดคุยถึงภารกิจดูแลและเชื่อมต่อลูกค้าแรงงานอพยพ ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องภายใต้สารพัดข้อจำกัดทางกายภาพ พร้อมด้วยทีมงานชาวเมียนมาร์อีกสองคนคือ อาว-อัง อัง เทียต ผู้เคยทำงานในสายการบิน 3 ปี ก่อนจะตัดสินใจมาร่วมงานกับดีแทคด้วยเหตุผลที่ว่า “ดีแทคเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผมชอบที่สุดในประเทศไทย” และแอนนา-เอ นันดา โซ ผู้ซึ่งย้ายตามครอบครัวมาใช้ชีวิตและเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ประเทศไทยตั้งแต่อายุ 15 ปี เธอต้องการใช้ทักษะการสื่อสารที่มีในการเข้าถึงและดูแลพี่น้องแรงงานชาวเมียนมาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าดีแทค

การสื่อสาร: ใจถึงใจช่วงวิกฤต

“เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร อีกหนึ่งพื้นที่สำคัญของแรงงานอพยพ สิ่งแรกที่ทีม Migrant ของดีแทคลงมือคือ การให้ข้อมูลข่าวสารกับพี่น้องแรงงานอพยพทั้งชาวเมียนมาร์และชาวกัมพูชา ซึ่ง ณ วันนั้น พวกเขาเหมือนอยู่ในสถานการณ์มืดแปดด้าน ไม่มีข้อมูลภาษาท้องถิ่นให้แก่พวกเขา พวกเราจึงใช้ช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจของ dtac Myanmar ที่มีฐานอยู่กว่า 1.8 ล้านราย และ dtac Cambodia ที่มีฐานอยู่เกือบ 200,000 ราย ให้ข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐกับพี่น้องแรงงานอพยพ โดยมีแอนนา และอาว สมาชิกชาวเมียนมาร์ในทีมของเรา เป็นผู้สื่อสารและให้ข้อมูลกับสมาชิกแฟนเพจ” ลลิดาเล่าย้อนให้ฟังถึงวันที่สถานการณ์เริ่มระอุ

แอนนาเล่าต่อว่า นอกจากข้อมูลข่าวสารจากทางราชการที่ดีแทคเข้ามาเป็นตัวกลางในการสร้างความรู้ความเข้าใจแล้ว ดีแทคยังได้เสริมข้อมูลเคล็ดลับเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในช่วงล็อกดาวน์แก่พี่น้องแรงงานอีกด้วย เช่น ปรุงอาหารอย่างไรให้มีแรง “ในวันที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ วันนั้นเท่ากับว่ารายได้ของแรงงานอพยพเป็นศูนย์ ไม่มีงานทำ ไม่มีเงิน พวกเขาจึงต้องกระเบียดกระเสียรการใช้จ่าย ยิ่งเผชิญกับสภาพแวดล้อมอย่างรั้วลวดหนาม ยิ่งทำให้พวกเขากลัวเข้าไปใหญ่ นี่จึงเป็นโจทย์สำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องแรงงานอพยพชาวพม่าของดีแทค” เธออธิบาย

นอกจากข้อมูลข่าวสารแล้ว สิ่งที่แรงงานอพยพขาดไม่ได้เลยคือข้าวปลาอาหาร ดีแทคจึงได้ร่วมบริจาคถุงยังชีพประมาณ 3,000 ชุด ซึ่งภายในประกอบไปด้วยชุดอาหารแห้ง น้ำดื่ม และหน้ากากอนามัย แก่พี่น้องแรงงานที่ติดอยู่ในพื้นที่ล็อกดาวน์ บริเวณชุมชนตลาดกลางกุ้ง โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิกระจกเงาและสมาคมด้านแรงงานอพยพเป็นผู้ประสานงานและส่งมอบ

blank

บ้าน: หัวใจของแรงงานอพยพ

ท่ามกลางวิกฤตที่ทุกคนเผชิญต่อความเสี่ยงทางสุขภาพกาย การดูแลสุขภาพใจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในภาวะตึงเครียด สิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งทางจิตใจได้นั่นก็คือครอบครัวและเพื่อนฝูง แรงงานอพยพชาวเมียนมาร์ในประเทศไทยนั้นมีความเหนียวแน่น เป็นกลุ่มก้อน ทำให้พวกเขายังคงมีสุขภาพใจที่แข็งแรง นอกจากนี้ ความบันเทิงอื่นๆ เช่น เฟสบุ๊ก เพลง และละครเมียนมาร์และเกาหลี ซึ่งเป็นแหล่งความบันเทิงยอดนิยมของแรงงานอพยพชาวเมียนมาร์ ยังช่วยสร้างความสุขและคลายกังวลในช่วงล็อกดาวน์ให้พวกเขาอีกด้วย

blank

“สิ่งที่ช่วยให้ชาวเมียนมาร์ยืนหยัดและมีสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งอยู่ได้ ก็คือครอบครัวและชุมชนคนเมียนมาร์ของพวกเขา และโซเชียลมีเดีย อาทิ TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้นได้กลายเป็นความบันเทิงง่ายๆ ที่ทำให้พวกเขาสามารถเชื่อมต่อกับครอบครัวและชุมชนของพวกเขาได้อย่างมีความสุข และมีกำลังใจที่ดี” แอนนาเล่าเสริม

ในช่วงเวลาที่ยังคงล็อกดาวน์อย่างยาวนานกับความสามารถในการใช้จ่ายที่ลดลง ดีแทคจึงเข้ามามอบบริการที่ให้การสนับสนุนในชีวิตประจำวัน เพื่อให้พี่น้องแรงงานไม่ขาดการติดต่อกับสมาชิกครอบครัวและชุมชน โดยได้นำแพ็กเกจที่สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวมานำเสนอแก่พี่น้องแรงงาน ตัวอย่างเช่น แพ็กเกจ 19 บาทซึ่งไม่จำกัดการใช้งานดาต้าบนแอปพลิเคชัน YouTube เป็นต้น

blank

อำนวยทุกความสะดวก

โดยปกติ แรงงานอพยพจะอาศัยช่องทาง ‘ลูกตู้’ ในการเติมเงินเป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ล็อกดาวน์ คู่ค้าลูกตู้จำนวนหนึ่งปิดตัวลง ดีแทคจึงได้อำนวยความสะดวกด้านภาษาเพื่อให้พวกเขายังติดต่อสื่อสารได้ ทั้งการแนะนำการเติมเงินผ่านช่องทางดิจิทัล รวมถึงการจัดทำแผ่นข้อมูล เพื่อให้นำไปยื่นให้แก่พนักงานร้านสะดวกซื้อให้สามารถเติมเงินได้อย่างสะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้แนะนำบริการ อาทิ ‘ใจดีให้ยืม’ บริการยืมค่าโทรฉุกเฉิน จ่ายคืนเมื่อเติมเงิน  และบริการ ‘ใจดีให้โอน’ – โอนค่าโทรให้กันได้ง่ายๆระหว่างลูกค้าดีแทคเติมเงิน

ในกรณีของการติดต่อกับครอบครัวที่เมียนมาร์ ภายใต้สถานการณ์ปกติ พี่น้องชาวเมียนมาร์ส่วนใหญ่ยังใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (International Direct Dialing: IDD) เนื่องจากสัญญาณดาต้าในหลายพื้นที่ของเมียนมาร์ยังไม่เสถียรนัก โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัดที่อยู่ห่างจากนครย่างกุ้ง ขณะที่อุปกรณ์ฝั่งผู้รับยังคงใช้โทรศัพท์แบบปุ่มกดหรือฟีเจอร์โฟนกันอยู่  ซึ่งในกรณีนี้ ดีแทคก็ได้จัดราคาพิเศษโทรกลับเมียนมาร์ทุกเครือข่ายในราคาสมัคร 2 บาท/นาที ผ่าน *00400

blank

“ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากเช่นนี้ ดีแทคพยายามทำความเข้าใจในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์และพร้อมที่จะแสดงบทบาทช่วยเหลือพี่น้องแรงงานอพยพให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารและชีวิตความเป็นอยู่ มอบประโยชน์จากการใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Telco benefit) มาเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น (Life benefit) เพราะพวกเขาไม่ใช่เพียงลูกค้า แต่คือสมาชิกของครอบครัวของดีแทค เพื่อให้สมกับความไว้วางใจที่พี่น้องแรงงานเลือกใช้ดีแทค สมกับที่พวกเขาเรียกเราว่า ‘ไซไซซิม’ ซึ่งเป็นชื่อของดาราขวัญใจชายของชาวเมียนมาร์นั่นเอง” ลลิดากล่าวทิ้งท้าย