ล้วงลึกปฏิบัติการ “เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด” กับสถานีฐานพลังงานแสงอาทิตย์ของดีแทค

เมื่อปี 2564 ดีแทคได้ประกาศเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงภายในปี 2573 โดยกลยุทธ์สำคัญประการหนึ่งที่ดีแทคกำหนดไว้คือ “การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด

ทั้งนี้ จากข้อมูลของดีแทคระบุว่า กว่า 99% ของพลังงานที่ดีแทคใช้มาจากการให้บริการโครงข่าย ซึ่งมีสถานีฐานหลายหมื่นแห่งทั่วประเทศ และนั่นทำให้ภารกิจสำคัญลำดับแรกคือ การปรับใช้โมเดลสถานีฐานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Powered Cell Sites) นำโดย วีรธัช วิฑูรชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูล และ ชำนาญ เทียมนุช ผู้จัดการอาวุโสการวางแผนความครอบคลุมและโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้โปรเจ็คที่ชื่อว่า BOOST

โครงข่ายพลังงานแสงอาทิตย์

ชำนาญ เล่าถึงเบื้องหลังโปรเจ็กต์ว่า เดิมที ดีแทคมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้โครงข่ายสามารถให้บริการได้เป็นระยะกว่า 10 ปีแล้วในสถานีฐานบางแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานีที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ทำให้ต้องมีโซลูชั่นด้านพลังงานเข้ามาช่วย นั่นก็คือ แผงวงจรแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ (Solar cell) “ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน” เป็นวาระสำคัญ ประกอบกับกระแสโลกที่หันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้โมเดลสถานีฐานพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ทว่าการปรับใช้โซลูชั่นดังกล่าวในวงกว้างยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะประเด็นด้านการลงทุนและวิศวกรรม ด้วยเหตุนี้ จึงได้ผนึกกำลังกับทีมวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มเทคโนโลยี เพื่อช่วยในการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

“การติดตั้งโซลาร์เซลล์สถานีฐานยังมีข้อจำกัดทั้งเชิงวิศวกรรมที่ต้องมีพื้นที่ว่าง กำลังการผลิต ค่าความจุไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนของการลงทุนค่อนข้างนาน เมื่อก่อนอยู่ที่ 5-7 ปี แม้ปัจจุบันจะมีนวัตกรรมที่ดีขึ้น แต่ก็ยังอยู่ราว 4-5 ปี ซึ่งทำให้ที่ผ่านมา เราไม่สามารถก้าวข้ามข้อจำกัด 2 ประการนี้ได้เลย แต่เมื่อนำประเด็นด้านการจัดการข้อมูลเข้ามาผนวกรวมแล้ว ทำให้เห็นภาพรวมการทำงานที่ชัดและกว้างขึ้น สามารถกำหนดสถานีที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานได้ดีกว่าเดิม ซึ่งนี่คือ Power of Data Analytics” ชำนาญ กล่าวเน้นย้ำ

โอกาสและความท้าทายของข้อมูล

วีรธัช เล่าเสริมว่า ความท้าทายสำคัญของโปรเจ็กต์นี้คือข้อมูลที่ใช้เพื่อทำการวิเคราะห์มีอยู่เพียง 50-60% และจัดเก็บอย่างกระจัดกระจาย ทำให้ต้องสังคายนารวบรวมข้อมูลใหม่ภายใต้โมเดล Cell Site Single Source of Truth (CS3T) รวบรวมข้อมูลจากหลากหลายระบบภายในองค์กรให้เป็นชุดเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาราว 6 เดือนจึงจะสามารถรวบรวมได้ครบ 100%

ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์ข้อมูลนั้นจะต้องประกอบไปด้วย 6 แกนสำคัญ ได้แก่ เจ้าของที่ ขนาดการใช้ไฟฟ้า (5-10 กิโลวัตต์และ 10-15 กิโลวัตต์) ขนาดของพื้นที่ รูปแบบการใช้ไฟฟ้า (ชำระผ่านการไฟฟ้าโดยตรงหรือเจ้าของที่) ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ และระยะเวลาการเช่าพื้นที่ และเมื่อนำข้อมูลแต่ละแกนมารวมกันแล้ว จะทำให้เห็นลักษณะจำเพาะของสถานีฐาน (Cell Site Persona) แต่ละแห่ง

สำหรับสถานีฐานพลังงานไฟฟ้า จะต้องคำนึงถึงปัจจัยพิจารณาทั้งมิติทางวิศวกรรมและความคุ้มทุน โดยจะต้องมีพื้นที่สำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์อย่างน้อย 50 ตารางเมตร สามารถก่อสร้างในรูปแบบหลังคาอาคารได้ นอกจากนี้ พื้นที่รอบข้างควรเป็นพื้นที่โล่ง ไม่มีตึกหรืออาคารที่บังแสงแดด ที่ทำให้ยากต่อการรับแสงของแผงโซลาร์เซลล์ ขณะที่ความแน่นอนของเจ้าของพื้นที่ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญ เนื่องจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ถือว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้น หากติดตั้งแล้วเปลี่ยนแปลงกลางคัน จะทำให้มีความยากลำบากในเชิงปฏิบัติการ ที่สำคัญ สถานีฐานนั้นควรเป็นสถานีที่มีการใช้งานหนาแน่นพอสมควร เป็น strategic location ที่พิจารณาแล้วคุ้มค่าต่อการลงทุน

“เมื่อนำข้อมูลทั้ง 6 แกนเข้ามาทับซ้อนกันแล้ว จะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น โดยแสดงผลผ่านแดชบอร์ด ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีสถานีฐานกว่า 2,000 สถานีที่เหมาะสมต่อการใช้แผงโซลาร์เซลล์เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด” วีรธัชกล่าว

ตรวจสอบและถ่วงดุลด้วยข้อมูล

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ข้อมูลทั้ง 6 แกนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภารกิจเปลี่ยนผ่านการพลังงานสะอาดเท่านั้น เพราะสุดท้ายต้องอาศัยข้อมูลจากหน้างานโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมก่อสร้างอย่างชำนาญเป็นส่วนสำคัญ เพื่อช่วยเติมเต็มและยืนยันการตัดสินใจ

“ทีมงานและพาร์ทเนอร์จะมีการประชุมเพื่อเสนอโซลูชัน ทำการสำรวจพื้นที่จริง ทำการปรับพื้นเทปูนเช่นเดียวกับการปลูกสิ่งก่อสร้างทั่วไป โดยแผงโซลาร์เซลล์จะมีความสูง 3 เมตร เทคาน 8 เสา มีความเเข็งแรงโดยสามารถแรงลมได้ถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หันหน้าแผงไปทางทิศใต้ โดยมีใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้นราว 5-7 วัน ต่อ 1 สถานี สำหรับการดูแลนั้น จะต้องมีการล้างหน้าแผงโซลาร์เซลล์ทุก 6 เดือน เพื่อรักษาการทำงานให้คงประสิทธิภาพสม่ำเสมอ” ชำนาญกล่าว

blank

วีรธัชกล่าวเสริมอีกว่า การได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับโครงข่ายทั้ง 100% ช่วยให้เกิดกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลข้อมูล (Check and Balance) ทำให้พบว่าความผิดปกติและไม่สอดคล้องของข้อมูล ซึ่งหลายกรณีพบว่าความผิดพลาดนั้นมาจากข้อมูลต้นทางตั้งแต่แรก นำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไข นำมาสู่ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่ดีขึ้นในท้ายที่สุด

ตั้งเป้าเปลี่ยนผ่าน 500 เสาในปี 65

ชำนาญอธิบายเสริมว่า ในปีที่ 2564 ที่ผ่านมา มีโครงข่ายที่ได้เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้วกว่า 25 สถานี ตัวอย่างเช่น จ.ภูเก็ต เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เกาะสิมิลัน จ.พังงา จ.เชียงใหม่ จ.จันทบุรี เป็นต้น และตั้งเป้าเพิ่มอีก 500 สถานีภายในปี 2565 นอกจากนี้ ยังได้ศึกษารูปแบบการขยายสถานีฐานพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านโมเดล “ร่วมลงทุน” (Co-investment) กับพาร์ทเนอร์อุปกรณ์ส่งสัญญาณอีกด้วย ขณะเดียวกัน ยังมีศูนย์ข้อมูล (Data Center) มีพร้อมสู่การเปลี่ยนผ่านนี้ด้วยเช่นกัน

“ในมุมมองของวิศวกรที่คลุกคลีด้านพลังงานแสงอาทิตย์นับ 10 ปี ผมมองว่าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นความคุ้มค่าทั้งมิติการลงทุน สังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากราคาที่ต่ำลงของแผงโซลาร์เซลล์และประสิทธิภาพที่ดีขึ้นของเทคโนโลยี ซึ่งช่วงนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดหักเหสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงานแสงอาทิตย์เลยทีเดียว” ชำนาญกล่าวทิ้งท้าย

blank