รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กรของดีแทค กับทิศทางของไทยแลนด์ 4.0 ในยุคหลังโควิด-19

เรานัดสัมภาษณ์ คุณมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กร ของดีแทค ที่ร้าน Muteki by Mugendai การเป็นชาวสวีเดนโดยกำเนิดนั้นไม่ได้จำกัดความชอบทางด้านอาหารของเขาแม้แต่น้อย คุณมาร์คุสใช้ชีวิตอยู่ในเอเชียมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว และมีโอกาสทำงานทั้งในประเทศบังกลาเทศ สิงคโปร์ และไทย ซึ่งเป็นประเทศที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี เขามีโอกาสนำทีมต่างๆ ของดีแทคซึ่งมีบทบาทในช่วงเวลาสำคัญต่างๆ ขององค์กร นับตั้งแต่การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ไปจนถึงการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งรวมถึงการเปิดประมูล 5G เป็นครั้งแรกของประเทศไทยด้วย

การพูดคุยกับคุณมาร์คุสนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ผลักดันให้ผู้ให้บริการเครือข่ายกลับมายืนอยู่ท่ามกลางสปอตไลท์อีกครั้ง ในฐานะผู้มอบบริการที่เป็นหัวใจสำคัญในช่วยขับเคลื่อนสังคมให้เดินไปข้างหน้า ท่ามกลางมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม “ผมต้องการเป้าหมายอะไรสักอย่างที่จะผลักดันให้ผมตื่นขึ้นและออกไปทำงานในทุกเช้า และตอนนี้ เป้าหมายของดีแทคในการมุ่งสร้างสังคมที่แข็งแกร่งผ่านบริการโทรคมนาคมนั้น ทวีความสำคัญกับลูกค้าของเราและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องยิ่งกว่าในยุคสมัยใด” เขากล่าว

ปริมาณการใช้งานดาต้าที่เติบโตก้าวกระโดดในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ ยิ่งตอกย้ำความจริงของประเด็นดังกล่าว จากเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2563 ปริมาณการใช้งานดาต้านั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่า 44 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะบนแอปพลิเคชันอย่าง Zoom, Microsoft Office และ LINE ผู้ใช้งานจำนวนมากเริ่มหันมาใช้งานช่องทางดิจิทัลในการทำงาน ท่ามกลางมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม 

“ในขณะเดียวกัน เราไม่ควรหยุดความพยายามในการพัฒนาบริการ ในยามที่คนหันมาใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้น ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย เราจำเป็นต้องพิสูจน์ให้คนเห็นทุกวันว่าทำไมเราจึงมีบทบาทสำคัญ และเราจะทำอะไรคืนให้กับสังคมได้บ้าง นี่คือสิ่งที่ขับเคลื่อนผมในทุกๆ วัน” เขาเสริม

 

เมื่อถูกถามความเห็นว่ามุมมองของผู้เล่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะพัฒนาไปในทิศทางใดในอีกหลายปีต่อจากนี้ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มกิจการองค์กรของดีแทคเล็งเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 3 ประการ

  • ความตระหนักว่าบริการโทรคมนาคมนั้นเป็นเสาหลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งการวางนโยบายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ อย่างเหมาะสมจะเป็นกุญแจสำคัญไปสู่การพัฒนาดังกล่าว
  • เสียงเรียกร้องให้ธุรกิจต่างๆ ดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค ไปจนถึงการลดคาร์บอนฟุตปรินท์ และการดำเนินธุรกิจโดยใช้หลักธรรมาภิบาล
  • การเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบต่อวิธีที่เราทำงาน ซื้อสินค้าและบริการ และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ

“ในยามที่บทบาทของเราในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายนั้น มีความเกี่ยวโยงแน่นแฟ้นกับทุกแง่มุมในชีวิตประจำวัน แปลว่าความต้องการของลูกค้าและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้องยืนหยัดกับเป้าหมายของเรา และเปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไปพร้อมกันด้วย” คุณมาร์คุสกล่าว

นอกเหนือจากผลกระทบของโควิด-19 แล้ว แน่นอนว่าเรื่องคลื่น 5G นั้นเป็นอีกประเด็นใหญ่สำหรับผู้ให้บริการเครือข่าย ในเดือนนี้ ดีแทคเป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่มีการเปิดตัวคลื่น mmWave ในรูปแบบทดสอบการใช้งาน (use case) โดยได้จับมือกับองค์กรขนาดใหญ่เพื่อร่วมหาคำตอบว่าคลื่น 5G จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

“เรามองว่าคลื่น 5G นั้นเป็นส่วนสำคัญของบริการที่เราจะนำเสนอให้กับลูกค้าของเราในภายภาคหน้า จึงเป็นเหตุผลที่ดีแทคได้เปิดตัว 5G บนคลื่น 26 GHz และมีแผนจะขยายการให้บริการบนคลื่น 700 MHz ในปี 2563 นี้ อย่างไรก็ดี ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 เราจำเป็นต้องเดินหน้ายกระดับประสบการณ์การใช้งานเครือข่ายมือถือที่ราบรื่นสำหรับคนไทยทุกคน ไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่มีกำลังซื้ออุปกรณ์เคลื่อนที่ที่รองรับการใช้งาน 5G เท่านั้น เป็นเหตุผลที่เราเร่งติดตั้งเทคโนโลยี massive MIMO และระบบ 4G-TDD ซึ่งจะเอื้อประโยชน์สำหรับทุกคน” คุณมาร์คุสอธิบาย

อย่างไรก็ดี คุณมาร์คุสชี้ด้วยว่าผู้ให้บริการเครือข่ายนั้นไม่สามารถขับเคลื่อนการใช้งาน 5G ได้โดยลำพัง ต่างจากคลื่น 3G และ 4G ธุรกิจต่างๆ และหน่วยงานภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนารูปแบบการใช้งานสำหรับคลื่น 5G นี้

“ผมเข้าใจดีว่าคนจำนวนมากให้ความสนใจในคลื่น 5G แต่ในขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ได้ทำให้การลดช่องว่างระหว่างความคาดหวังในอนาคตกับการใช้งานจริงในปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ลูกค้าอยากได้ประสบการณ์การใช้งานเครือข่ายที่ตรงกับที่พวกเขาได้รับสัญญาไว้ เราพยายามทำสิ่งนี้ผ่านหลักการความเรียบง่าย ซื่อตรง และเป็นมิตรกับผู้ใช้ ตราบเท่าที่เราสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุควิถีใหม่ได้มากที่สุด เราเชื่อว่าเราจะสามารถเป็นผู้ชนะได้ในตลาด และเราจะใช้ช่วงเวลาเดียวกันนี้ ในการพัฒนารูปแบบการใช้งานคลื่น 5G ที่มีตอบต่อสังคมไทย การพัฒนา 5G นั้นเหมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งให้เร็วที่สุด”

นอกเหนือจากคลื่น 26 GHz และ 700 MHz แล้ว ดีแทคยังมีสถานีฐานที่ให้บริการคลื่นถี่กลาง (mid band) ในระบบ TDD มากที่สุดในประเทศไทย เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่คุณมาร์คุสก็เชื่อว่าประเทศไทยจำเป็นต้องนำคลื่นความถี่กลางมาจัดสรรเพิ่มขึ้นในย่าน 3500 MHz   

“การจัดสรรคลื่นความถี่ 3500 MHz สำหรับใช้ให้บริการ 5G นั้นจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันด้าน 5G สู่ประเทศไทย เนื่องจากเป็นคลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นหลักที่หลายประเทศทั่วโลกใช้ในการให้บริการ 5G จึงไม่มีเหตุผลที่จะตัดโอกาสผู้บริโภคและธุรกิจไทยจากโอกาสนี้ ดีแทคจะให้การสนับสนุน กสทช. ในกระบวนการหารือกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในการผลักดันคลื่นดังกล่าว” เขาอธิบาย

ดีแทคนั้นให้การสนับสนุนรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ในการผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยคุณมาร์คุสกล่าวว่าดีแทคจะยังคงเดินหน้าให้การสนับสนุนนโยบายดังกล่าว ในฐานะส่วนหนึ่งของเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งมุ่งเน้นการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและเสริมสร้างสังคมที่แข็งแกร่ง

blank

“เราจะเห็นบริการดิจิทัลและบริการโทรคมนาคมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้ความสนับสนุนสังคมไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในด้านสาธารณสุข การศึกษา และบริการต่างๆ ของรัฐ ยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับการพัฒนา ผมอยากเห็นดีแทคให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเหล่านี้ เราได้เดินหน้าทำหลายสิ่งไปแล้วในช่วงโควิด และตอนนี้ผมอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกมากขึ้นอีกเรื่อยๆ”

เพื่อจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว นอกจากทางดีแทคแล้ว เขายังได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากภรรยาและลูกสาว ซึ่งย้ายมาจากสิงคโปร์พร้อมกันกับเขา ทั้งคู่ตกหลุมรักเสน่ห์ของประเทศไทย และมองว่าการย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเปี่ยมด้วยชีวิตชีวานั้บเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่ายินดี และในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นทำให้พวกเขาไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดได้ทุกๆ หกเดือนเหมือนที่ผ่านมา คุณมาร์คุสก็รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลาสำคัญเช่นนี้

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนตัวผมในหลายด้าน สิ่งที่เกิดขึ้นตอกย้ำถึงบทบาทของเราในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย และตอนนี้ผมเชื่อมั่นยิ่งขึ้นอีกว่าสิ่งที่เราทำสามารถสร้างความแตกต่างได้จริงๆ” เขากล่าว