โดย รัชญา กุลณพงษ์ ผู้อำนวยการความยั่งยืน ดีแทค
หลายครั้งที่เราเห็นพาดหัวข่าวเกี่ยวกับปัญหาขยะในประเทศไทย อย่างในปีพ.ศ.2561 เกิดเหตุการณ์ปลาวาฬครีบสั้นเกยตื้นมาตายที่จ.สงขลา ซึ่งหลังการฝ่าซากพิสูจน์พบว่ามีถุงขยะพลาสติกถึง 80 ใบในท้องปลาวาฬ แต่ 1 ปีต่อมา เกิดเหตุการณ์ปริมาณขยะมหาศาลลอยเกลื่อนบริเวณอ่าวไทยเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร
ซึ่งทำให้เห็นว่าปัญหาขยะล้นโลกนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข ซ้ำร้ายผู้คนในสังคมกลับนิ่งเฉย ทั้งๆ ที่ทุกคนล้วนมีส่วนสร้างขยะเหล่านี้ และต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางดิน ทางน้ำ หรือทางอากาศ
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปัญหาขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายทวีความรุนแรงมากขึ้นตลอดทุกปี โดยในปีพ.ศ. 2561 ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมีประมาณ 28 ล้านตัน เฉพาะในกรุงเทพฯ สร้างขยะมูลฝอยถึงประมาณ 4.84 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 17 ของขยะทั้งประเทศ ทั้งนี้ มีการประเมินว่า มีขยะมูลฝอยเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและมีบางส่วนนำไปรีไซเคิล นั่นหมายความว่า ขยะอีกร้อยละ 70ที่เหลือถูกทิ้งเทกองเป็นภูเขาขยะที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี
ขยะล้นเมือง
“ขยะล้นเมือง” เป็นผลมาจาก การบริหารจัดการที่มียังไม่มีประสิทธิภาพ หลายแห่งไม่มีพื้นที่สำหรับใช้กำจัดขยะมูลฝอย และยังใช้วิธีนำไปเทกองกลางแจ้ง (Open Dump) หรือเผากลางแจ้ง (Open Burning) ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนตามมา เช่น กลิ่นเหม็น น้ำเสียจากน้ำชะขยะปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ดิน
ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า ปริมาณขยะของโลกจะเพิ่มขึ้นจากจากปัจจุบันถึงร้อยละ 70 หรือ 3,400 ล้านตัน ภายในปีพ.ศ. 2593 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า หากยังมีปริมาณการบริโภคที่สูงดังเช่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและการขยายตัวของเมือง (Urbanization) นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะที่ส่วนมากถูกเทไว้กลางแจ้งหรือบ่อพัก ยังมีส่วนในการผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งสามารถทำลายชั้นบรรยากาศมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 30 เท่า
การจัดการขยะที่ถูกต้องเป็นทางออกเดียวสำหรับการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการจัดการขยะให้ถูกประเภท บริโภคอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ฟุ่มเฟือย ส่งเสริมให้มีการใช้ซ้ำ และการคัดแยกขยะ เป็นต้น
ท่ามกลางปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ดีแทคพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา โดยกำหนดให้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอยู่กรอบการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Business Practice) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability) ที่ดีแทค มีการจัดทำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และใช้ระบบ Environment Management System (EMS) เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากกระบวนการดำเนินธุรกิจ โดยพบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะมูลฝอยเป็นประเด็นที่ดีแทคต้องให้ความสำคัญ เฉพาะในปีพ.ศ. 2562 ดีแทคสร้างขยะมูลฝอยถึง 281 ตัน และยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกกว่า 200,000 ชิ้นที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ
ดีแทคจึงตั้งเป้าหมาย Zero Landfill ภายในปีพ.ศ. 2565 เพื่อเป็นการสร้างแนวทางให้ดีแทคมีระบบการจัดการขยะมูลฝอยและขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับการคัดแยก ใช้ซ้ำ กำจัด และรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ไม่มีการนำไปฝังกลบ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงแหล่งฝังกลบขยะเป็นอย่างมาก

สำหรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของดีแทคจะเกิดขึ้นตลอดกระบวนการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในปีพ.ศ. 2562 ดีแทคสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการดำเนินธุรกิจที่อยู่ต้นน้ำถึงร้อยละ 79 ซึ่งได้แก่ อุปกรณ์จากโครงข่ายสัญญาณ อุปกรณ์ไอที คอมพิวเตอร์ ตลอดจนเครื่องใช้สำนักงาน ขณะที่อีกร้อยละ 21 จะอยู่ที่ปลายน้ำ ซึ่งก็คือ โทรศัพท์อุปกรณ์เสริม และอุปกรณ์ไอทีขนาดเล็กต่างๆ ที่จำหน่ายให้กับลูกค้านั่นเอง
ดังนั้น นอกจากการสร้างกระบวนการและขั้นตอนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในองค์กรแล้ว ดีแทคยังต้องการส่งเสริมให้ลูกค้าและผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะช่วยลดปัญหาเรื่องสารเคมีปนเปื้อนที่รั่วไหลจากซากอุปกรณ์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

จะเห็นได้ว่าทุกปัญหามีความสัมพันธ์กันหมด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคธุรกิจก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านั้น ดังนั้น การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบจึงถือเป็นหัวใจสำคัญ ท่ามกลางโลกที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรี่ส์ No Time To Waste เพราะมนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมมามาก ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาโลก โดยเริ่มจากขั้นตอนง่ายๆ ที่ตัวเองด้วย “การแยกขยะ”
