Telenor Connexion และดีแทค ผนึกกำลังพัฒนาโซลูชัน IoT เพื่อช่วยธุรกิจไทยให้ยืนหยัดในทุกสภาวการณ์

ในยามที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่สังคมดิจิทัล มีการคาดการณ์ว่าตลาด Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นตัวกลางสำคัญ (key enabler) ในการนำประเทศไปสู่การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว จะเติบโตมีมูลค่าเทียบเท่า 2.19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 68 พันล้านบาท) ภายในปี 2030 เทียบกับปี 2018[1] ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ   

การเติบโตด้านการใช้งานในอัตราเร่งนี้ ประกอบกับการมาถึงของเทคโนโลยี 5G ซึ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริการโทรคมนาคมนั้น นับเป็นหัวใจสำคัญทั้งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิดและการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ท่ามกลางบริบทอันท้าทายนี้เอง ผู้ให้บริการ IoT รายสำคัญอย่าง Telenor Connexion ภายใต้เทเลนอร์ กรุ๊ป ได้ก้าวมาเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนวัตกรรมอันเป็นหัวใจในการมอบและขยายบริการ IoT ในประเทศไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ เทเลนอร์ คอนเน็กซ์ชัน และธุรกิจต่างๆ ภายใต้เทเลนอร์ กรุ๊ป ในภูมิภาคนอร์ดิก ได้รวบรวมแบรนด์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในเครือมาไว้ภายใต้ Telenor IoT เพียงแบรนด์เดียว ทั้งนี้ เทเลนอร์ คอนเน็กซ์ชัน นั้นเป็นพันธมิตรรายสำคัญของดีแทค และมีบทบาทในการร่วมพัฒนารูปแบบทดสอบการใช้งาน (use case) บนคลื่น 5G และเทคโนโลยี IoT ของดีแทค เพื่อทำความเข้าใจว่าเทคโนโลยี M2M: Machine to Machine Communication ซึ่งใช้สื่อสารระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์นั้น จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลของประเทศไทยได้อย่างไร ทาง dtacblog จึงชวน เซท ไรดิ้ง ผู้ดำรงตำแหน่ง Chief Sales Officer Global Sales แห่งเทเลนอร์ คอนเน็กซ์ชัน มาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับอนาคตแห่งอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง

Q: การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการใช้งานโซลูชัน IoT อย่างไร

A: ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ความต้องการใช้งานโซลูชัน IoT นั้นเติบโตในอัตราเร่ง เราไม่สามารถทำงานหรือกิจกรรมบางประเภท อาทิ การอ่านมาตรวัด ด้วยวิธีการแบบเดิม เนื่องด้วยข้อจำกัดทางกายภาพและมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ ผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และต้องการติดตามความคืบหน้าหรือตำแหน่งของสินค้าในระหว่างจัดส่งแบบเรียลไทม์ เทคโนโลยีและขั้นตอนแบบ ไร้สัมผัส นั้นกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผู้คนปลอดภัยจากโรคระบาด แม้กระทั่งในการขนส่งวัคซีนโควิด-19 เราเห็นถึงความจำเป็นของกระบวนการจัดส่งสินค้าที่มีการเฝ้าสังเกตควบคุมระดับอุณหภูมิและแสงอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อคงไว้ซึ่งคุณภาพและประสิทธิผลของวัคซีน และนำไปสู่การกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

Q: นวัตกรรมจากเทคโนโลยี IoT จะช่วยสร้างความแตกต่างภายใต้สถานการณ์อันไม่แน่นอนนี้ได้มากน้อยเพียงใด

A: เราสามารถใช้ประโยชน์ได้มหาศาลจากเทคโนโลยี IoT นับตั้งแต่การติดตามสถานะรถบรรทุกข้ามพรมแดนประเทศ ไปจนถึงการชำระเงินแบบไร้สัมผัส เทคโนโลยี M2M นั้นตอบโจทย์ความท้าทายแห่งยุคสมัยในหลากหลายมิติ และเป็นรากฐานไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ

ในประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสามารถของรถยนต์ รถบรรทุก และรถเมล์อัจฉริยะในการเชื่อมต่อและสื่อสารกับเครือข่ายต่างๆ อาจเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบและยกระดับการขนส่งในภูมิภาคไปอีกขั้น อีกทั้งช่วยลดความหนาแน่นจากการจราจรผ่านการบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทาน โดยอาศัยข้อมูลต่างๆ ที่เก็บรวบรวมได้และการใช้งานจริง โดยเทเลนอร์ คอนเน็กซ์ชัน นั้นมีประสบการณ์ในการร่วมงานกับบริษัทชั้นนำ อาทิ Hitachi, Volvo และ Scania มานานกว่า 20 ปี

blank

คำขวัญของเราคือ “Connecting things – it’s all about people” การแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นนำไปสู่การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตขึ้นในอัตราเร่ง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดช่องว่างทางดิจิทัลด้วย ธุรกิจจำนวนมากหรือกระทั่งองค์กรภาครัฐเองต้องการแรงสนับสนุนเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยจากระยะไกลนั้นช่วยให้ผู้คนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น และสงวนการมาโรงพยาบาลไว้ในกรณีจำเป็นจริงๆ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยี IoT ในการช่วยให้สังคมยืนหยัดท่ามกลางสภาวการณ์ที่ท้าทายได้ดียิ่งขึ้น

Q: อยากให้คุณเซทยกตัวอย่างรูปแบบทดสอบการใช้งาน (use case) IoT ที่น่าสนใจ

A: โรงงานผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนที่เรามีโอกาสพูดคุยด้วยเมื่อไม่นานมานี้ บอกกับเราว่ารถยนต์นั้นคือโทรศัพท์มือถือติดล้อสำหรับพวกเขา ผมมองว่าคำพูดนี้สะท้อนว่าสิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงไปและมีวิวัฒนาการไปอย่างไรบ้าง ทุกๆ ที่เราเห็นการเชื่อมต่อในเชิงกายภาพกำลังค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทุกวันนี้ รถบรรทุกของ Scania มาพร้อมเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ และรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้งานและสมรรถนะ ลูกค้าที่สนใจยังสามารถสมัครสมาชิกเพื่อเข้าถึงข้อมูลและบทวิเคราะห์โดยละเอียดได้ด้วย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน เพื่อยกระดับสมรรถนะ ยืดอายุการใช้งาน และลดอัตราการเผาผลาญเชื้อเพลิงของยานพาหนะ ซึ่งในระยะยาวนั้นส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและเรื่องความยั่งยืนด้วย

อีกกรณีที่น่าสนใจ คือโปรเจกต์ที่เราพัฒนาร่วมกับดีแทค ซึ่งเราได้เริ่มทำการทดสอบบนคลื่น 5G ไปเป็นที่เรียบร้อย อาทิ โปรเจกต์กล้องตรวจการณ์อัจฉริยะ (remote surveillance) การบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ (water management) และมาตรอัจฉริยะ (smart metering) เหล่านี้คือความสามารถหลักๆ ของเทคโนโลยี M2M กระนั้น ความท้าทายนั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวเทคโนโลยี มากเท่ากับการทำให้องค์กรต่างๆ และผู้ประกอบการเข้าใจว่าโซลูชันอย่าง Wi-Fi นั้นดูเผินๆ อาจมีต้นทุนที่ต่ำกว่า แต่ไม่คุ้มค่าในระยะยาว ต่างจากการเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายมือถือ (mobile connection) ซึ่งแข็งแกร่ง ปลอดภัย และมีเสถียรภาพ นี่เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมหาศาลเข้าด้วยกัน หากเป้าหมายที่เรามองหาคือโซลูชันที่สามารถขยายตัวได้ (scalable) ไร้ซึ่งปัญหากวนใจ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน

blank

Q: อะไรคือเทรนด์หลักๆ ที่เราน่าจะได้เห็นจากเทคโนโลยี IoT

A: หนึ่งในเทรนด์สำคัญที่น่าจับตาและกำลังเป็นกระแสในตอนนี้ คือการที่ผู้ผลิตและจัดหาสินค้า (supplier) ก้าวจากการเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์ (hardware) เพียงอย่างเดียว มาเป็นผู้จำหน่ายโซลูชันไปพร้อมกันด้วย ในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างซัพพลายเออร์และลูกค้านั้นสิ้นสุดลงเมื่อสินค้าถูกขายออกไป ต่างจากธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์อัจฉริยะในปัจจุบัน ซึ่งสินค้านั้นถูกขายพร้อมกับโซลูชัน IoT และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่อาจพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ระยะยาวได้ หากมีการนำเสนอโซลูชันหรือบริการอัจฉริยะอื่นๆ เสริมเข้ามาในระหว่างทาง

ในภูมิภาคเอเชีย อุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออยู่บนเครือข่าย IoT นั้นเพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งนับเป็นบ่อน้ำแห่งโอกาสขนาดใหญ่ เทคโนโลยี IoT สามารถช่วยให้เราดูแลสุขภาพและใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดต้นทุนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าเทคโนโลยี IoT นั้นเต็มไปด้วยโอกาสไม่รู้จบ และข้อจำกัดเดียวที่มีคือจินตนาการของเรา

ด้วยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้าน IoT จำนวนกว่า 200 คน จาก 18 ประเทศ ปัจจุบัน เทเลนอร์ คอนเน็กซ์ชันและดีแทคนั้นร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อนำเสนอบริการ IoT ให้กับธุรกิจไทย ผ่านโซลูชันและโมเดลธุรกิจหลากหลายซึ่งได้รับการปรับให้เข้ากับบริบทประเทศไทย ซึ่งรวมถึงรูปแบบทดสอดการใช้งานบน 5G ด้วย