บุกระบบหลังบ้านกับทีมที่เรียกได้ว่าเป็น “หัวใจ” ของดีแทค 

เมื่อพูดถึงผู้ให้บริการสื่อสาร ภาพที่หลายคนนึกถึงเป็นอย่างแรกๆ คงหนีไม่พ้นเสาโทรศัพท์ แต่ในความเป็นจริงทางเทคโนโลยีแล้ว องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างที่เรียกได้ว่าเป็น “หัวใจ” ของระบบสื่อสารเลยก็คือ “ระบบชุมสาย” หรือ Core Network นั่นเอง

หลายๆ คนคงนึกภาพของระบบชุมสายไม่ออก แต่ถ้าพูดถึงฉากในภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ยุคพีเรียด คงเคยเห็นภาพของการโทรศัพท์ที่ต้องผ่านโอเปอเรเตอร์คนกลางในการเชื่อมต่อผู้โทรกับผู้รับสาย ซึ่งนั่นคือระบบชุมสายในยุคแต่เก่าก่อนที่ความนิยมของการใช้โทรศัพท์ยังไม่มากเท่าปัจจุบันนี้

เพราะเรื่องระบบชุมสายเป็นเรื่องเบื้องหลังที่อาจจะเข้าใจไม่ง่ายนัก เราจึงชวนพี่สมัคร สิมพา หัวหน้าทีมระบบชุมสายของ dtac มานั่งคุยเพื่อไขข้อข้องใจ พร้อมกับพาเราไปเยี่ยมชมระบบชุมสายแบบ Exclusive เพราะเขตนี้ ไม่ใช่ว่าใครก็เข้าไปได้

ก่อนอื่น เรานัดเจอพี่สมัครที่ดีแทค ศรีนคริทร์ หนึ่งในสถานที่ติดตั้งระบบชุมสายของดีแทค โดยก่อนเข้าเยี่ยมชมนั้น จะต้องได้รับการอนุญาตจากฝ่ายรักษาความปลอดภัย พร้อมลงลายมือชื่อ จากนั้นการผ่านประตูแต่ละบานได้ จะต้องแตะบัตรแบบ “รายบุคคล” เพื่อให้ทราบว่าใครเข้ามาในพื้นที่ตั้งระบบชุมสาย นอกจากนี้ ยังจะต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าพื้นที่ เพื่อป้องกันฝุ่นและสิ่งแปลกปลอมเข้าในห้องติดตั้งระบบชุมสาย

ระบบชุมสาย 101

“เพราะระบบชุมสายมีหน้าที่หลักๆ ในการเก็บข้อมูลลูกค้า บันทึกการโทร บริการหรือโปรโมชั่นที่ลูกค้าใช้ จำนวนนาทีที่สามารถโทรออกได้ การเข้าบริการอินเตอร์เน็ต 3G, 4G ใช้ได้ที่ความเร็วเท่าไหร่ และเป็นตัวสั่งการ ควบคุมให้แต่ละคนใช้งานได้ตามบริการที่สมัครไว้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมพื้นที่ระบบชุมสายจึงเป็นที่มีการรักษาความปลอดภัยสูง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหัวใจและสมองของระบบโทรคมนาคมเลยก็ว่าได้” พี่สมัครอธิบาย

สาเหตุที่เรียกว่า “ชุมสาย” เพราะสมัยก่อนสายโทรศัพท์จะเต็มไปหมด ทั้งห้องมีแต่สาย ใช้วิธีต่อสายจากบ้านทุกหลังไปที่ชุมสายแล้วพ่วงเข้าหากัน ต่อกับระบบ switching ที่จะทำหน้าที่เชื่อมให้ทุกคนสามารถโทรหาปลายสายที่ต้องการได้ แต่เดี๋ยวนี้เราจะใช้เส้นใยไฟเบอร์ออปติก ที่ภายนอกเห็นเป็นเส้นเล็กๆ แต่ข้างในมีเป็นร้อยเส้น ส่งข้อมูลได้พร้อมกันจำนวนมาก

รู้จักโฉมหน้าของทีมทำงาน

หน้าที่ของทีมดูแลระบบชุมสาย คือการวางแผนและดูแลรักษาระบบ เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มและปริมาณการใช้งานของลูกค้า ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ทีมใหญ่ๆ คือ ทีม Operation ที่จะดูแลการทำงานทั้งบริการเสียงและดาต้าให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ส่วนอีกทีมคือทีมสถาปัตย์ (Architecture)  ซึ่งทำหน้าที่วางโครงสร้างระบบโดยรวม ให้ตอบรับกับใช้งานของลูกค้าทั้งปัจจุบันและอนาคต 

“งานระบบชุมสายมีผลกระทบสูง ถ้ามันล่มไป จะมีลูกค้าได้ผลกระทบหลักล้านคน เพราะฉะนั้นความมั่นคง ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด การเปลี่ยนแปลงอะไรจะต้องมีความมั่นใจ คิดแล้วคิดอีก อย่างการจะอัพเกรดระบบหรือเทคโนโลยีก็จำเป็นต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ขยับ ทดสอบการใช้งานทุกอย่างซ้ำๆ ว่ามันจะไม่มีปัญหา และก็ต้องมีแผนสอง แผนสามที่จะเอาลูกค้ากลับมาในกรณีที่มีปัญหา ความต่อเนื่องในการใช้งานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการให้บริการด้านเทเลคอม เราเลยจะต้องรับกับความกดดันตรงนี้ให้ได้” พี่สมัครอธิบายเพิ่มเติม 

รู้จักก้าวใหม่ของชุมสายกับโลกยุคเสมือน 

“แต่ก่อนตู้ชุมสายจะแยกเป็นแต่ละประเภทตามลักษณะการให้บริการ เช่น ตู้นี้ให้บริการ voice ตู้นี้ให้บริการ SMS ตู้นี้ให้บริการดาต้า ซึ่งถ้าเป็นแบบดั้งเดิม เวลาลูกค้าใช้งานเยอะขึ้นและเราต้องขยายระบบ ต้องจัดซื้อตู้ระบบเพิ่มขึ้น แต่เมื่อดูจากแนวโน้มการใช้ดาต้าของลูกค้าในปัจจุบันแล้ว มันยากมากที่จะจัดหาสถานที่ รวมถึงบริหารต้นทุนให้สอดรับกับการใช้งานในอนาคต” 

ในยุค 2G คนไทยทั้งประเทศใช้ดาต้ารวมกันเพียง 200 MB ต่อวัน ยุค EDGE เพิ่มขึ้นเป็น 800 MB พอมายุค 3G อยู่ที่ 40 GB ส่วนตอนนี้ยุค 4G ปริมาณการใช้ดาต้าทะยานถึง 700 GB ต่อวัน คิดดูว่าเมื่อเรากำลังเข้าสู่ยุค 5G ในไม่อีกกี่ปีข้างหน้า จะเกิด connectivity จากอุปกรณ์ (Connected devices) อย่างมากมาย ปริมาณการใช้ดาต้าจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไร

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ระบบชุมสายจะก้าวสู่ยุค Virtualization Technology ที่ข้อมูลทุกอย่างขึ้นบนระบบคลาวด์ ทำให้ข้อจำกัดแบบเดิมถูกทลายไป จะไม่มีระบบแยกชิ้นที่ว่า ตู้นี้สำหรับเก็บดาต้า ตู้นี้สำหรับบริการเสียง ตู้นี้สำหรับ SMS แต่ทั้งหมดจะถูกแปลงให้อยู่ในระบบเสมือน ทำให้แต่ละตู้สามารถรองรับได้ทั้งบริการเสียง ดาต้าและ SMS ละเมื่อใดที่รูปแบบการใช้งานเปลี่ยน เช่นวันนึงเราเลิกใช้งาน sms ก็สามารถใช้ตู้เดียวกันนี้ลงซอฟต์แวร์ที่รองรับการใช้งานประเภทอื่นได้ แทนที่จะต้องทิ้งไปเลยอย่างตู้ประเภทเก่า

คุณสมัครเล่าอย่างภูมิใจว่า โปรเจ็คนี้หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า VCN: Virtual Core Network นั้นมีความพิเศษมาก เพราะถือเป็นโอเปอเรเตอร์รายแรกของไทยที่เปลี่ยนมาใช้ระบบเสมือน ซึ่งตอนนี้ดีแทคได้บริหารจัดการดาต้าบนระบบ VCN นี้กับลูกค้ากว่า 21 ล้านราย

นอกจากนี้ ดีแทคจะเป็นโอเปอเรเตอร์รายแรกๆ ของโลกที่บริหารระบบ VCN แบบหลายเวนเดอร์ กล่าวคือ เราใช้ฮาร์ดแวร์หรือตู้ของ Nokia และใช้ซอฟท์แวร์ของ Huawei ซึ่งปกติไม่มีใครเขาทำกัน เพราะใช้เวลานานกว่า และบริหารจัดการยากกว่า แต่การใช้แบบหลายยี่ห้อ จะทำให้การบริหารจัดการมีความยืดหยุ่นในระยะยาว เกิดการแข่งขันในตลาด และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

“โปรเจ็คนี้ เราใช้เวลากว่าปีครึ่ง เริ่มเมื่อปลายปี 2016 แต่เพิ่งมาเสร็จเมื่อกลางปี 2018 ซึ่งถือเป็นรายแรกของผู้ให้บริการที่เทเลนอร์ถือหุ้น ซึ่งในเวลาปีครึ่งนี้ ทุกคนในทีมลำบากกันมาก ต้องใช้เวลาตอนดึก เพื่อให้เกิดผลกระทบกับลูกค้าน้อยที่สุดในกรณีที่เกิดความผิดพลาด ซึ่งนี้ถือเป็นภาพสะท้อนดีเอ็นเอที่สำคัญของคนดีแทค นั่นคือ Passtion to win ซึ่งนี่ถือเป็น ฺฺBreakthrough สำคัญหนึ่งของดีแทคในเชิงเทคโนโลยี” พี่สมัครกล่าว 

blank

VCN กับการเปลี่ยนผ่านแบบติดสปีด 

“ทุกวันนี้เราเป็นระบบ 4G อย่างถ้าวันข้างหน้ามี 5G หรือ IoT – Internet of Things เราก็ให้บริการได้ทันที อย่างตัวดีไซน์แสตนดาร์ดของเทคโนโลยี 5G จะระบุว่าต้องรันอยู่บน cloud ซึ่งเรามีอยู่แล้ว นับแต่วันที่แสตนดาร์ดของอุตสาหกรรมพร้อม ผู้ขายพร้อม ณ วันนั้น ถ้าเรามีความถี่พร้อมด้วย เราก็ให้บริการได้เลย อย่างตอน 3G, 4G เราเริ่มตั้งแต่สั่งฮาร์ดแวร์มาลง ติดตั้งระบบ ใช้เวลา 5-6 เดือนกว่าจะทำได้ แต่ปัจจุบันแค่ 2-3 เดือนก็ทำได้เลย ลูกค้าเราก็จะใช้งานได้ไว เพราะเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่าคนอื่น”

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญที่นำไปสู่อนาคต โดยพี่สมัครมองว่าเราจะมีการใช้งาน data มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราจะเข้าสู่ยุค virtualization การปรับระบบเข้าสู่ Virtual Core Network จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“ในอนาคตออฟฟิศที่เป็นสถานที่จะมีความสำคัญน้อยลง คำว่า work at home หรือ virtual office น่าจะมีมากขึ้น เพราะการเชื่อมต่อมันทำให้เราไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ใกล้กัน เมื่อก่อนการโทรคอนเฟอเรนซ์มันแพงมาก เดี๋ยวนี้แค่โทรไลน์ก็เห็นหน้ากันแล้ว ที่ทุกวันนี้เรามองว่าเทคโนโลยี VR ยังห่างไกล ผมไม่เชื่อแบบนั้น ก่อนไอโฟนจะออกทัชสกรีน เราก็คิดว่าทัชสกรีนจะเป็นไปได้ไง แต่ทุกวันนี้มันทัชสกรีนหมดเลย เทคโนโลยีมันเปลี่ยนจริง ต่อไปคอนเฟอเรนซ์เราอาจจะเห็นทุกคนเหมือนอยู่ในห้องประชุม เราอาจคุยกับลูกที่บ้านผ่าน virtual reality ได้ ถ้าวันนั้นมันเป็นอย่างนั้น ความต้องการของ data มันจะมหาศาลจนจินตนาการไม่ถูก”

  • ชุมสาย คือหัวใจของระบบสื่อสารที่บันทึกข้อมูลของลูกค้าและควบคุมการใช้งานให้ตรงตามกับบริการที่สมัครเอาไว้ ไม่มีชุมสาย ก็ไม่มีระบบสื่อสาร
  • ทีมดูแลชุมสาย มีหน้าที่วางแผนการใช้งาน วางระบบ และดูแลอุปกรณ์ชุมสายให้ใช้งานได้อย่างราบรื่น ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายและส่งผลกระทบถึงคนจำนวนมาก
  • ปัจจุบัน dtac เปลี่ยนชุมสายเป็นระบบ Virtual Core Network System ที่จะทำให้ขยับขยายการใช้งานได้ง่ายและยืดหยุ่นกว่าเดิม 
  • เทคโนโลยีใหม่นี้จะทำให้ dtac พร้อมให้บริการใหม่ๆ เช่น 5G, Internet of Things ได้ในทันทีเมื่ออุตสาหกรรมรองรับ การก้าวไปในอนาคตจึงเป็นเรื่องง่าย

blank

blank