ทุกๆ วัน วีรยุทธ พุทธวงค์ ในวัย 34 ปี จะตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อเตรียมตัวเปิดร้านค้าให้ทันกับลูกค้ากลุ่มแรก ซึ่งจะแวะเวียนมาเติมเงินโทรศัพท์มือถือหรือซักถามข้อสงสัยเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ในช่วงเช้าก่อนไปทำงาน ร้านของเขานั้นตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ของอำเภอพาน ในจังหวัดเชียงราย โดยวีรยุทธ ผู้ซึ่งใช้ชีวิตส่วนใหญ่บนรถเข็น นั้นมุ่งมั่นดูแลลูกค้าอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเป็นเวลาเจ็ดวันต่อสัปดาห์ และไม่ปล่อยให้ความพิการทางกายมาเป็นอุปสรรคในการเชื่อมต่อลูกค้าของเขากับทุกสิ่งที่สำคัญที่สุด
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนำไปสู่การประกาศมาตรการล็อกดาวน์นั้น การใช้งานเครือข่ายพุ่งสูงขึ้นในต่างจังหวัดและย่านอยู่อาศัย โดยการใช้งานดาต้าในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้นพุ่งสูงกว่ากรุงเทพฯ 5 เท่า อันเนื่องมาจากการอพยพกลับภูมิลำเนาในช่วงโควิด-19 และปัจจุบัน คนจำนวนมากยังคงเลือกอาศัยอยู่ในจังหวัดบ้านเกิดหรือมองหางานทำในจังหวัดใกล้เคียง ส่งผลให้บริการเติมเงินกลายเป็นหัวใจสำคัญยิ่งสำหรับหมู่บ้านเล็กๆ

“หลายคนเดินทางกลับบ้านช่วงโควิด และตัดสินใจมาหางานทำในพื้นที่ใกล้เคียง บางคนก็เปิดร้านขายของ ร้านอาหารตามสั่ง หรือช่วยพ่อแม่ทำนา ทำสวน เลี้ยงไก่ คนที่กลับมาก็จะมาหาซิมอินเทอร์เน็ตที่ร้านผม เพราะเน็ตบ้านนั้นไม่ได้มีกันทุกหลังคาเรือน” วีรยุทธเล่า
หลายปีก่อนหน้า วีรยุทธ ผู้ซึ่งชื่นชอบการเล่นเกมออนไลน์ ตัดสินใจติดต่อไปยังทีมขายของดีแทคในจังหวัดเชียงราย เพื่อสมัครเป็นตัวแทนขาย เนื่องด้วยเขาเล็งเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับบริการโทรคมนาคมในหมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองไป 30 กิโลเมตร ทุกวันนี้ ร้านของเขาเป็นทั้งร้านจำหน่ายซิมของดีแทคและร้านโชห่วยซึ่งกินพื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านที่เขาอาศัยอยู่กับครอบครัว นอกจากบริการพื้นฐานอย่างการเติมเงินมือถือและการสมัครแพ็กเกจเสริมแล้ว วีรยุทธ์ยังใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการสอนลูกค้าใช้งานแอปพลิเคชันพื้นฐานต่างๆ อาทิ ไลน์ เฟซบุ๊ก และยูทูป รวมทั้งตอบสารพัดคำถามเกี่ยวกับสมาร์ทโฟน เนื่องจากลูกค้าของเขาส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุในหมู่บ้านหรือละแวกใกล้เคียง ซึ่งต้องการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อติดต่อสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัว หรือรับชมความบันเทิงรูปแบบต่างๆ แต่อาจไม่คุ้นเคยกับการใช้งานสมาร์ทโฟนนัก

“ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยชุมชนให้สามารถติดต่อกับคนที่เขารัก คนในครอบครัว ลูกค้าของผมหลายคนเป็นคนเฒ่าคนแก่ ผมสอนเขาฟังเพลงผ่านยูทูปเพื่อคลายเหงา และสอนวิธีวิดีโอคอลหาลูกหลานที่อยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ทุกๆ ครั้งผมจะถามลูกค้าว่าเขาต้องการใช้งานอะไรบ้าง เช่น บางคนดูยูทูปเยอะหรืออาจจะแค่ต้องการใช้แอปพลิเคชันส่งข้อความอย่างไลน์ เพื่อจะได้แนะนำแพ็กเกจให้เหมาะสมกับการใช้งาน ทำให้การร้องเรียนเกี่ยวกับความเร็วอินเทอร์เน็ตนั้นลดลงอย่างมาก” เขากล่าว
ร้านค้าของวีรยุทธตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างหมู่บ้านประมาณ 4-5 แห่ง ซึ่งหลายคนนั้นเป็นขาประจำที่ร้านของเขาด้วย วีรยุทธเป็นตัวแทนขายให้กับดีแทคมานานกว่า 5 ปีแล้ว และมีลูกค้าประจำจำนวนมาก รวมทั้งผู้ที่ย้ายไปทำงานในตัวเมือง “คนเขาแนะนำร้านผมต่อให้กับลูกหลานและเพื่อนๆ ในชุมชนเล็กๆ แบบนี้ เราไม่ต้องเน้นโฆษณาอะไรเยอะ แค่บริการดี เขาก็จะพูดกันปากต่อปากไปเอง” เขากล่าว
ทุกวันนี้ วีรยุทธทำรายได้เฉลี่ยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จากการเติมเงินและขายแพ็กเกจเสริม โดยทั่วประเทศนั้นมีร้านค้าซึ่งเป็นตัวแทนขายของดีแทคในลักษณะใกล้เคียงกับของวีรยุทธ นับตั้งแต่ร้านกาแฟ ร้านโชห่วย ไปจนถึงเพิงขายอาหารในตลาด ซึ่งไม่ใช้ร้านขายโทรศัพท์มือถือแต่ทำงานใกล้ชิดกับทีมขายของดีแทค โดยทุกๆ สัปดาห์ ทีมงานขายแต่ละคนจะลงพื้นที่เพื่อพบปะและเข้าไปดูแลร้านค้าทั้งหมดที่อยู่ในเส้นทางวิ่งของตนเอง รวมทั้งเข้าไปติดต่อร้านค้าใหม่ๆ ในชุมชน สอนเกี่ยวกับเทคนิคการขาย ช่วยดูแลเรื่องยอดขาย และสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน โดยปัจจุบัน ดีแทคมีตัวแทนขายที่ไม่ใช่ร้านโทรศัพท์มือถือมากกว่า 6,000 แห่งในภาคเหนือ และจำนวนร้านค้าในเครือข่ายยังเติบโตต่อเนื่อง

“ปกติคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เขาไม่อยากไปซื้อของไกลบ้าน เพราะเส้นทางจากบ้านไปยังร้านค้า โดยเฉพาะร้านโทรศัพท์มือถือที่ใกล้ที่สุดนั้น กินระยะทางอย่างน้อย 5-10 กิโลเมตร แล้วเขาเองก็ไม่รู้จักร้านมือถือเหล่านี้ ต่างจากร้านค้าในหมู่บ้านที่เวลาแนะนำอะไร คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเชื่อมากกว่า” วิโรจน์ ลิ้มทองสิทธิคุณ กล่าว ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ผู้รับผิดชอบดูแลลูกค้าเติมเงินในส่วนภาคเหนือ “แล้วตอนช่วงที่มีการล็อกดาวน์ หมู่บ้านต่างๆ หลายพันแห่งมีการประกาศห้ามคนนอกเข้า แต่เพราะเรามีตัวแทนขายในแต่ละชุมชนเหล่านี้อยู่ก่อนแล้ว ตอนช่วงโควิดหลายคนเลยมีโอกาสทดลองใช้ดีแทคเป็นครั้งแรก และยังคงใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเป้าหมายของเราคือต้องมีอย่างน้อยๆ หนึ่งร้านค้าต่อหมู่บ้าน”
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกค้าดีแทคจำนวนมากต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ นอกจากความต้องการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานแล้ว ผู้บริโภคยังมีความต้องการบริการและข้อเสนอต่างๆ ที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริการใจดีช่วยค่ายา ที่มอบคูปองส่วนลดค่ายาตามร้านขายยาที่มีใบอนุญาต หรือบริการใจดีให้ยืม ซึ่งให้ลูกค้ายืมค่าโทรเพื่อใช้งานในยามฉุกเฉิน ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัด ดีแทคมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ห่างไกลเพียงใด

“ร้านค้าหลายๆ แห่งรู้สึกขอบคุณดีแทค ที่มอบทางเลือกในการสร้างรายได้ให้กับเขา จากเดิมที่เขาขายแต่ของกินของใช้ ซึ่งกำไรต่อหน่วยค่อนข้างน้อย ตัวแทนขายหลายๆ ร้านรู้สึกผูกพันกับทีมงานของเรามาก เช่นเดียวกับกรณีของคุณวีรยุทธ ซึ่งเขาเป็นเด็กหนุ่มพิการ แต่ตอนนี้เขารู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น เพราะดีแทคให้โอกาสเขา” เขากล่าว
วิโรจน์ยังยกตัวอย่างตัวแทนขายอีกร้าน ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่ไกลจากร้านโชห่วยของวีรยุทธ เธอคือเกษตรกรแม่ลูกสองซึ่งปัจจุบันทำรายได้หลักหมื่นต่อเดือนจากการเติมเงินและขายแพ็กเกจเสริม เช่นเดียวกับวีรยุทธ เธอได้รับความไว้วางใจจากคนในชุมชน และลูกค้าของเธอหลายคนนั้นเป็นเพื่อนเกษตรกรของเธอเอง “นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่ช่วยลบล้างความคิดว่าชาวนาไม่สนใจเรื่องเทคโนโลยี เขาทำเป็นและเก่งด้วย” วิโรจน์เล่า

ในขณะที่ดีแทคกำลังเดินหน้าพัฒนากลยุทธ์ 5G ผ่านการทดสอบคลื่น mmWave ร่วมกับอุตสาหกรรมไทยเพื่อพัฒนารูปแบบทดสอบการใช้งาน (use case) บริษัทยังทำงานอย่างหนักเพื่อขยายบริการบนคลื่นความถี่ต่ำและติดตั้ง massive MIMO เพื่อพัฒนาความครอบคลุมของสัญญาณและประสิทธิภาพการใช้งานสำหรับลูกค้าทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่แบบใด “ผมรู้สึกดีใจมากที่มีผู้ให้บริการเครือข่ายอย่างดีแทค เข้ามาให้บริการถึงในชุมชน และเหนืออื่นใด ลูกค้าต้องการบริการโทรคมนาคมในราคาที่จับต้องได้ และมีสัญญาณที่ดี ไม่ว่าจะอยู่ในสวนหรือออกไปนอกเมืองก็ยังสามารถเล่นได้ เพื่อให้ผู้คนไม่ขาดการเชื่อมต่อแม้ในท่ามกลางวิกฤต” วีรยุทธทิ้งท้าย