ย้อนรอย 7 ปี “ดีแทคเน็ตอาสา” … กลุ่มมดงานผู้ทำหน้าที่เชื่อมโลกออนไลน์กับคนรากหญ้า และพันธกิจใหม่กับการสร้าง Village Economy

“ไทย” เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด โดยอย่างยิ่งมิติทางสังคม แต่ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางสังคมเมืองที่ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือติดตัวดั่งอวัยวะที่ 33 แต่ในอีกมุมของสังคม ยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ไม่เพียงไม่สามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลเป็น แต่ยังประสบปัญหาในการเข้าถึง

dtac blog มีโอกาสได้พบกับ “มดงาน” กลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มคนเล็กแต่ใจใหญ่ ทำงานภาคสนามลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ ให้ความรู้กับคนที่ถูกที่ไว้ข้างหลังให้ก้าวมาอยู่ในระนาบเดียวกับผู้อื่นในสังคม และคนกลุ่มนั้นก็คือ “ดีแทคเน็ตอาสา” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 19 คน อยู่ประจำการที่พิษณุโลก 1 ทีม เชียงใหม่ 1 ทีมและกรุงเทพฯ 1 ทีม นำโดย พี่ก้อง – สรายุทธ บุญเลิศกุล หัวหน้าทีมรัฐกิจสัมพันธ์ ดีแทค

ก้าวที่ 1 Connected the Unconnected

พี่ก้อง ฉายภาพก้าวแรกของดีแทคเน็ตอาสาให้ dtac blog ฟังว่า โปรเจ็คดีแทคเน็ตอาสาเกิดขึ้นในช่วงปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยี 2G สู่ 3G ตอนนั้น คนยังใช้โทรศัพท์มือถือแบบฟีเจอร์โฟน (โทรศัพท์แบบปุ่มกด) กันอยู่เลย ทันสมัยสุดน่าจะเป็นโทรศัพท์รุ่น Blackberry คนยังชินกับการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์และกลัวการสื่อสารออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ เนื่องด้วยความใหม่ของเทคโนโลยี และแพ็คเก็จอินเทอร์เน็ตยังมีราคาแพง พฤติกรรมของผู้ใช้บริการยังยึดติดกับการติดต่อผ่านเสียง (Voice call)

ขณะนั้น โครงการดีแทคเน็ตอาสาตั้งภายใต้พันธกิจ Connect the Unconnected เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าดีแทค “ใช้ประโยชน์จาก” อินเทอร์เน็ตเป็น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ การวิดีโอคอล การสื่อสารสองทาง ซึ่งในเวลานั้นกลุ่มเป้าหมายหลักของดีแทคเน็ตอาสาคือ กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ

“เน็ตอาสาฯ มีความหมายตรงตัว กล่าวคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้มีศักยภาพ ความรู้ความเชี่ยวชาญในการใช้สมาร์ทโฟน สามารถแนะนำการใช้งานได้ทุกที่ เข้าถึงประชาชนได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งมดงานเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วประเทศโดยมีสโลแกนในการทำงานว่า สอนถึงที่ เรียนฟรีถึงบ้าน”

ก้าวที่ 2 ปฐมบทประเทศไทย 4.0

อย่างไรก็ตาม พบว่าปัญหาสำคัญหนึ่งของการดำเนินโครงการฯ ในระยะแรกคือ “การเข้าถึง” กลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม เนื่องจากการอยู่ในสถานะเอกชน ทำให้กลุ่มเป้าหมายปิดกั้นด้วยความไม่ไว้วางใจในการเข้ามามากนัก แต่ขณะเดียวกันนั้น รัฐบาลได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ “Digital Thailand” ซึ่งแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ระยะที่ 2 การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human capital) และระยะที่ 3 การพัฒนาทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy)

จากนโยบาย Digital Thailand จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ดีแทคได้ร่วมทำงานกับภาครัฐในการขับเคลื่อนและส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยมีการลงนามความร่วมมือ “การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) กับกระทรวงไอซีทีในขณะนั้น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จากความร่วมมือดังกล่าว ทำให้กลุ่มมดงานภายใต้ชื่อดีแทคเน็ตอาสา สามารถกระจายการทำงานผ่านศูนย์ กศน. ทั่วประเทศกว่า 7,424 ตำบล เข้าถึงประชาชนกว่า 1 ล้านคน

“ก่อนการลงพื้นที่อบรมทุกครั้ง พวกเราจะต้องมีการลงพื้นที่สำรวจก่อนหนึ่งวัน เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการอบรม ว่าประกอบอาชีพอะไร วิถีชีวิตเป็นอย่างไร เพื่อให้เข้าใจและสามารถเชื่อมต่อบทสนทนากับพวกเขาได้ ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นของทีมเน็ตอาสาที่ใช้ความเข้าใจนำความรู้ รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มต้องการอะไรที่แท้จริง” นางสาววงสุรีย์ คำจุมพล หรือตุ๊ก หนึ่งในทีมดีแทคเน็ตอาสา กล่าว

ก้าวที่ 3 จาก “ใช้ได้” สู่ “ใช้เป็น” 

คุณสรายุทธ กล่าวต่ออีกว่า ภายหลังการก่อตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้มีการยกระดับและขยายความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสู่การค้าออนไลน์กับผู้ประกอบการในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งทำให้เกิดผู้ประกอบการออนไลน์รายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 340,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งมียอดขายกว่า 100,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว เกิดเป็นร้านออนไลน์ยอดฮิตรายใหม่ๆ มากมาย เช่น ปูดองคลองขลุง ซ๊ะป๊ะ ป้ามะลิ น้ำพริกบ้านทนาย หมาขายหมึก ทุเรียนสุนทรออร์แกนิกส์ฟาร์ม เป็นต้น

“ระยะเวลาในการอบรมมีตั้งแต่ 1 ชั่วโมงจนถึง 2-3 วัน ปัจจัยสำคัญของการอบรมเหล่านี้คือ การวางหลักสูตรอย่างไม่น่าเบื่อ และทำความเข้าใจกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ซึ่งครั้งแรกที่พบกัน กลุ่มเป้าหมายต่างตั้งแง่ว่ามีเวลาได้เพียงครึ่งวันเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้ว ต่างถูกอกถูกใจหลักสูตรและวิธีการสอน เรียกได้ว่าเลยเวลาที่วางไว้แต่แรก ผู้สูงอายุหลายคนมาส่งพวกเรากลับถึงประตูรถกันเลยทีเดียว” พีก้อง อธิบาย

blank

blank

ก้าวที่ 4 เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

ปัจจุบัน ดีแทคเน็ตอาสาดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 7 โดยวาระหลักในปีนี้คือการเป็น One stop service ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาต่อยอดผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนสู่การเป็น “หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” (Creative Industry Village) ซึ่งจะมาช่วยแก้ไขปัญหาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (กลุ่มชาวบ้านเกษตรกรที่รวมกลุ่มกันทำผลิตภัณฑ์ นอกฤดูเพาะปลูก) ที่มีจำนวนกว่า 84,000 กลุ่ม

“จากการลงพื้นที่พบว่าวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน ตามการค้าขายโลกออนไลน์ไม่ทัน ไม่รู้การสร้างอัตลักษณ์แบรนด์ ทำให้สุดท้ายขายสินค้าไม่ออก หมดกำลังใจ ซึ่งเราพบสถานการณ์แบบนี้เยอะมาก ยิ่งพอเกิดวิกฤตโควิดขึ้น ชาวบ้านเหล่านี้ยิ่งแย่ ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกรผู้เพาะปลูกมะม่วงมันขุนศรีใน จังหวัดนครนายก ประสบความยากลำบากมากในช่วงโควิดที่ผ่านมา จากเดิมกิโลกรัมละ 40-50 บาท เหลือเพียง 5 บาท เนื่องจากความต้องการที่ลดลง พอค้าคนกลางไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ ทำให้สินค้าส่งออกไม่ได้ แต่เมื่อทีมเน็ตอาสาได้เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ เริ่มมีการสร้างเฟซบุ๊กแฟนเพจ มีตัวตนบนโลกออนไลน์ กลายเป็นว่าสินค้าขายดิบขายดี จนทำออร์เดอร์ไม่ทัน นั่นเป็นเพราะการตลาดออนไลน์ช่วยให้เกษตรกรหาตลาดเจอ ตลาดที่มากกว่าโมเดลธุรกิจเดิม” ตุ๊ก อธิบาย

blank

ความเหลื่อมล้ำดิจิทัลที่กว้างขึ้น

กวาง อภิสรา ปานฉ่ำ ในฐานะพี่ใหญ่สุดของทีมเน็ตอาสาที่เริ่มลงพื้นที่ตั้งแต่ก้าวแรก บอกว่า “ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลของประเทศไทยโดยรวมดีขึ้นบ้าง จากที่ไม่กล้ากดก็กดใช้ เมื่อก่อนทุกอย่างดูยากไปหมด แต่หากพิจารณาจากมิติของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ความเหลื่อมล้ำระหว่าง “คนที่ใช้เป็น” กับ “คนที่ใช้ไม่เป็น” ยังมีอยู่เยอะมาก ความเหลื่อมล้ำนั้นไม่ใช่คนต่างจังหวัดกับคนเมืองด้วย แต่มีความเกี่ยวพันกับ ‘โอกาส’ ในการเข้าถึง ตัวอย่างเช่น คนหาเช้ากินค่ำ พ่อค้าแม่ขายสตรีทฟู้ดที่ยังคงใช้ฟีเจอร์โฟน ไม่มีอินเทอร์เน็ต เป็นแรงงานอพยพเข้ามาหาโอกาสทำกินตามพื้นที่ชายขอบเมืองอย่างปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ใกล้ตัวพวกเรานี่เอง”

“การลดความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะด้านดิจิทัลอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราต้องกระตุ้นความต้องการ ความกระหายใคร่รู้ สร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และแลกเปลี่ยนความรู้ในกลุ่มหรือชุมชนของตัวเอง จากการที่ผมและน้องๆ ทีมเน็ตอาสาทำงานนี้มาตั้งแต่ก้าวแรก ลงพื้นที่เหนือ-ใต้-ออก-ตก สิ่งที่ผมเห็นและเป็นห่วงอย่างมากคือ มีคนจำนวนมากที่ตามไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และพวกเขากำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” พี่ก้องกล่าวทิ้งท้าย

ภายใต้ปัญหาการแพร่ระบาดวิกฤตโควิด-19 ทีมเน็ตอาสายังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่ส่งเสริมวิสาหกิจสู่การเป็น Village Economy เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการของธุรกิจคนตัวเล็กในชุมชนท้องถิ่น พร้อมกับการเชื่อมโยงร้านค้าสตรีทฟู้ดในพื้นที่ทำงานกว่า 37 จังหวัด ก้าวผ่านวิกฤตและเดินทางสู่เส้นทางการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของประเทศไปด้วยกัน