ตามติดชีวิตครูอาหมี่ อดีตเกษตรกรแห่งบ้านปางมะขาม ผู้เปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นพลัง ผ่านการนำงานหัตถกรรมชาติพันธุ์มาต่อยอดสร้างรายได้ให้ชุมชน

ชาวเขาในแถบภาคเหนือของประเทศไทยมีวัฒนธรรมความเชื่อเกี่ยวกับการเคารพบูชา ‘น้ำเต้าปุง’ ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และจุดกำเนิดอารยธรรมมนุษย์ ความเชื่อดังกล่าวนั้นยังคงปรากฏถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากตามหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์หลายแห่งจะมีรูปปูนปั้นน้ำเต้าติดเป็นสัญลักษณ์

ในช่วงประเพณีกินวอ หรือเทศกาลปีใหม่ของชาวลาหู่ ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 12 วัน 12 คืนติดต่อกันเพื่อเฉลิมฉลองและบวงสรวงเทพเจ้าตามความเชื่อแต่โบราณ บรรดาหญิงชายชาวลาหู่จะแต่งกายในชุดชาติพันธุ์ที่ปักทออย่างประณีตเต็มยศ พร้อมแขวน ‘กระเป๋าย่ามลาหู่’ ซึ่งเปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งน้ำเต้าปุงที่นำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น

“กระเป๋าผ้าลาหู่มีความผูกผันกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างมาก แต่เดิมทีเป็นการผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน โดยใช้เวลาว่างจากการทำเกษตร โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง มาทำงานหัตถกรรมทอผ้า ซึ่งจะทำเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมการทอผ้าในภาคอีสาน” ครูอาหมี่ – เบญจลักษณ์ จะแฮ ชาวเขาเผ่าลาหู่แดงแห่งบ้านปางมะขาม อ.เชียงดาว อ.เชียงใหม่ และผู้ประกอบการกระเป๋าย่าม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มลาหู่ไชยปราการ เล่าให้ dtacblog ฟัง

ชาวเขากับวงจรเกษตรที่ไม่แน่นอน

ในอดีต ชาวเขาส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการเพาะปลูกข้าว ข้าวโพด และพืชผักสวนครัว รวมทั้งเลี้ยงสัตว์และหาของป่า แต่ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ไม่แน่นอน ทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนไปทำงานในเมืองเช่นเดียวกับครูอาหมี่

ย้อนไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ครูอาหมี่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 เธอเป็นคนหนึ่งที่ตามเพื่อนๆ เดินทางสู่กรุงเทพฯ เพื่อหวังว่าจะได้มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เลี้ยงปากท้องส่งกลับบ้าน แต่เมื่อถึงกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร เธอได้รับจ้างเป็นคนงานในร้านก๋วยเตี๋ยว ได้เงินเดือนเพียงเดือนละ 1,200 บาท ไม่เพียงพอกับการยังชีพหรือส่งเงินกลับบ้าน

แม้กรุงเทพฯ จะทำให้เธอผิดหวังบ้าง แต่ที่นั่นก็ทำให้เธอพบกับหวานใจ ผู้ที่กลายเป็นพ่อของลูก 2 คนของเธอในเวลาต่อมา หลังใช้ชีวิตเป็นคนกรุงได้ 8 เดือน ครูอาหมี่กลับบ้านเกิดพร้อมหวานใจและทำพิธีแต่งงานในอายุ 17 ปี ที่นั่น เธอและสามีเลือกประกอบอาชีพเกษตรกรตามวิถีชาวเขาที่สืบต่อกันมา โดยเลือกปลูกขิง ข้าวโพด และถั่ว เพื่อส่งพ่อค้าคนกลาง ทว่าอาชีพเกษตรกรนั้นไม่ง่าย

“ลงทุนซื้อเชื้อขิงไปหมื่นกว่าบาท เชื่อไหมว่าไม่ได้คืนเลยสักบาท ลงทุนข้าวโพดไป 5,000 กว่าบาท ได้คืนมา 600 ลงถั่วไป 500 บาท ได้คืนมา 1,200 บาท ทำอย่างนี้อยู่ 4 ปี เห็นว่าทำยังไงก็ไม่รอด ขอยอมแพ้ดีกว่า” ครูอาหมี่เล่า

blank

เข้าเมืองค้าแรงงาน

พอเห็นท่าไม่ดี ครูอาหมี่และสามีจึงเลือกไปเป็นแรงงานก่อสร้างในตัวเมืองเชียงใหม่ ด้วยน้ำพักน้ำแรงและการมองเห็นช่องทางโอกาส สามีของเธอจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนแรงงานด้วยกัน หันมาทำรับเหมาก่อสร้างเสียเอง ส่วนเธอก็กลับมาทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กที่โรงเรียนแถวหมู่บ้าน พร้อมกับศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและปริญญาตรีในสาขาครุศาสตร์ เอกปฐมวัย ภายใต้การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

ครูอาหมี่เล่าถึงจุดเริ่มต้องของการทอกระเป๋าลาหู่ขายว่า ช่วงที่กลับมาทำเกษตร พอถึงช่วงฝนแล้ง เธอเห็นเพื่อนขะมักเขม้นพันเส้นด้ายไปมา จึงเกิดความสนใจและขอให้เพื่อนสอนทอผ้าแบบลาหู่ให้เธอ

blank

กระเป๋าลาหู่ส่งลูกเรียน

“สามารถเรียกได้เลยว่า นี่คือกระเป๋าลาหู่ส่งลูกเรียน เพราะการทำผลิตภัณฑ์นี้ขาย ช่วยให้เราสามารถเลี้ยงดูลูกให้มีการศึกษาที่ดีได้” ครูอาหมี่กล่าว พร้อมอธิบายเสริมว่า เดิมทีเธอทำกระเป๋าขายเฉพาะในหมู่ชาวเขาด้วยกันเอง แต่พอทาง กศน. มาเห็น ก็ได้แนะนำการตั้งกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนพร้อมทั้งของบโครงการสนับสนุน อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวงในด้านการฝึกอบรม และกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยในการพาไปออกบูธ อันเป็นการขยายตลาดสู่คนเมือง

blank

“วันแรกที่ไปออกบูธก็มีคนสนใจเลย เขาบอกว่าไม่เคยเห็นหัตถกรรมแบบนี้นานแล้ว เราเองก็โชว์วิธีการทอผ้าให้เห็นเลย ทำให้คนเมืองเห็นคุณค่าในหัตถกรรมพื้นบ้าน ส่วนพวกเราเองก็ดีใจที่สินค้าขายได้” เธอกล่าว

ขณะเดียวกัน ทางองค์การแพลนฯ ที่เข้ามาให้ความรู้ด้านการวางแผนครอบครัวในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว ก็ชวนทีมดีแทคเน็ตทำกินเข้ามาให้ความรู้ด้านการทำการตลาดออนไลน์ จนทำให้สามารถขายกระเป๋าได้ 40-50 ชิ้นต่อสัปดาห์ จากแต่ก่อนที่เคยขาย 4-5 ชิ้น ทำให้เกิดการกระจายงานในหมู่บ้าน และปัจจุบันกำลังพัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มลาหู่ไชยปราการ

blank

ผู้อ่านที่สนใจกระเป๋าลาหู่ สามารถดูแบบสินค้าต่างๆ หรือสั่งทำสินค้าแบบที่ต้องการได้ที่ https://www.facebook.com/LAHU.handmade14/ ราคาเริ่มต้นที่ 300 บาทเท่านั้น

blank
blank