ฟังเสียงสะท้อน LGBTQ ดีแทคกับนโยบายด้านความหลากหลายสู่การสร้างทีมที่แข็งแกร่ง

แม้สิทธิต่างๆ ของประชากรกลุ่ม LGBTQ (เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานเจนเดอร์ เควียร์) จะได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่มิติด้านแรงงานนั้นยังคงเผชิญกับความท้าทาย จากการศึกษาของธนาคารโลกพบว่า “แม้ประเทศไทยจะมีภาพลักษณ์ที่ก้าวหน้ากว่าหลายประเทศในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีระดับรายได้ปานกลาง แต่ผลการวิจัยกลับแสดงให้เห็นว่ากลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังคงประสบปัญหาจากการเลือกปฏิบัติ และถูกจำกัดในด้านโอกาสการทำงาน และสิทธิในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย รวมทั้งเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงบริการพื้นฐานในหลายๆ ด้าน”

เมื่อไม่นานมานี้ ดีแทคได้ประกาศนโยบายสวัสดิการเท่าเทียมสำหรับพนักงานกลุ่ม LGBTQ รวมทั้งเงินช่วยเหลือการสมรสและสิทธิการลาป่วยเพื่อผ่าตัดแปลงเพศ อันเป็นก้าวสำคัญสู่การขับเคลื่อนความหลากหลายและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงภายในองค์กร ในโอกาสนี้ dtacblog ได้ชวนพนักงาน LGBTQ ของเรามาพูดคุย เพื่อแบ่งปันมุมมองด้านความหลากหลายและการมีส่วนร่วม

เปิดรับความเป็นตัวเอง

“หากมีตัวเลือกสามข้อ คือ ชายจริง หญิงแท้ และหญิงข้ามเพศ นายจ้างส่วนใหญ่จะเลือกผู้สมัครสองคนแรกก่อน” ประเสริฐ เสนจัตุรัส หรือเมเม่กล่าว

เมื่อเก้าปีที่แล้ว เมเม่เริ่มต้นการทำงานในสายบัญชี และปัจจุบันรับผิดชอบดูแลด้านการจัดการสินทรัพย์ของบริษัท ในกลุ่มการเงิน แต่เส้นทางการทำงานของเธอนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ในช่วงปีแรกของการทำงาน เธอพบว่าการเปิดรับความเป็นตัวเองอย่างแท้จริงในที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องท้าทาย

“ในการสัมภาษณ์งานครั้งนึง นายจ้างบอกกับเราทันทีเลยว่าพนักงานต้องแต่งตัวตามเพศกำเนิด ถึงจะเป็นหญิงข้ามเพศ คุณก็ต้องใส่เสื้อเชิ้ต ผูกเนคไท ใส่กางเกง และวิกทรงผมผู้ชาย หากจะทำงานที่นี่ มันทำให้เรารู้สึกไม่มีความสุข และเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” เธอกล่าว “ความเป็นมืออาชีพนั้นมีอะไรมากกว่าแค่การแต่งกายตามเพศกำเนิด เราควรตัดสินคนที่ผลงานและยอมรับตัวตนที่เขาเป็นจริงๆ”

จากผลสำรวจของ Catalyst ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนั้น พนักงาน LGBTQ ราว 10 เปอร์เซ็นต์ตัดสินใจลาออกจากงานเนื่องด้วยสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม (inclusion) ภายในองค์กร แต่บริษัทจำนวนมากก็พยายามปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรใหม่ โดยในรายงานฉบับเดียวกันนี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ในปี 2564 บริษัทในกลุ่ม Fortune 500 จำนวนมากขึ้นเริ่มมอบสวัสดิการให้กับพนักงานกลุ่ม LGBTQ โดยในจำนวนดังกล่าว 57 เปอร์เซ็นต์นั้นครอบคลุมถึงสวัสดิการสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน และ 71 เปอร์เซ็นต์นั้นครอบคลุมถึงสวัสดิการสำหรับบุคคลข้ามเพศ[1]

นโยบายการไม่เลือกปฏิบัตินั้นเป็นหัวใจสำคัญของวัฒนธรรมดีแทคมายาวนาน โดยนโยบายสวัสดิการเท่าเทียมซึ่งดีแทคได้ประกาศใช้ไปเมื่อไม่นานนี้ จะช่วยยกระดับเรื่องความหลากหลายไปอีกขั้น และส่งเสริมให้พนักงาน LGBTQ สามารถเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริงในที่ทำงาน

“เราทำงานที่ดีแทคมานานกว่า 6 ปีแล้ว พูดได้เลยว่าดีแทคเป็นองค์กรที่เปิดกว้างให้คนแสดงความเป็นตัวเองผ่านเครื่องแต่งกาย ตราบใดที่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมและสามารถทำงานตามความรับผิดชอบของตนเองได้ไม่บกพร่อง นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมต่างๆ ก็เอื้อต่อการทำงาน เพื่อนร่วมงานเป็นมิตร และมีความเท่าเทียม และเราก็ได้รับโอกาสจากหัวหน้าให้เติบโต” เมเม่กล่าว เมื่อไม่นานมานี้ เธอได้รับการเลื่อนขั้นและมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบที่ท้าทายยิ่งขึ้น

สร้างจุดแข็งผ่านความหลากหลาย

เมื่อไม่นานมานี้ จรรยา กังวานพณิชย์ ได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม Corporate Strategy หลังจากก่อนหน้านี้รับผิดชอบดูแลงานด้านการตลาดของดีแทค โดยเธอได้นำองค์ความรู้จากสายการเงินและการตลาดที่สั่งสมมากว่าทศวรรษมาใช้ต่อยอดกับหน้าที่รับผิดชอบใหม่นี้ 

“การจะออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ทีมทำงานควรประกอบด้วยคนที่มาจากพื้นเพหลากหลาย ไม่ว่าจะในมิติทางเพศสภาพ วัฒนธรรม หรืออายุ และความหลากหลายนั้นแน่นอนว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเรื่องเพศสภาพเท่านั้น ที่ดีแทค ทุกคนมีจุดแข็งและทักษะที่ต่างกัน แต่มีเป้าหมายและแพสชันเดียวกัน ทีมที่มีความหลากหลายจะช่วยสร้างผลลัพธ์การทำงานและประสบการณ์ของลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น” เธอกล่าว

มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ศุภชัย ผาสุข พนักงานบริการลูกค้า ดีแทคฮอลล์ สาขานครสวรรค์ ในแต่ละวัน เขาต้องพบกับผู้คนจากหลากหลายพื้นเพ งานหลักของเขาคือการเข้าไปใกล้ชิดลูกค้าเพื่อทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริง และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจแต่ละบุคคลที่สุด

blank

 

“การที่มีทีมที่หลากหลายนั้นส่งผลดีต่อประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน และช่วยให้ดีแทคเข้าใจลูกค้ายิ่งขึ้น อย่างผมเองก็ใช้จุดแข็งด้านบุคลิกในการให้บริการลูกค้า ให้ความเป็นกันเอง ทำให้ลูกค้าติดใจในบริการของดีแทคมากขึ้น”

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าความหลากหลาย ทั้งในมิติด้านเพศสภาพและวัฒนธรรม นั้นส่งผลกระทบเชิงบวกต่อองค์กร ในปี 2563 รายงานจาก McKinsey ชี้ว่าองค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีแนวโน้มประสบความสำเร็จสูงกว่า 48 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับองค์กรที่มีความหลากหลายน้อยกว่า การสร้างและส่งเสริมการทำงานร่วมกับผู้อื่น (collaboration) นั้นยังเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในที่ทำงานอีกด้วย โดย Deloitte’s Human Capital นั้นยกให้ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นหนึ่งในอุปนิสัยสำคัญของผู้นำที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของทุกคนในองค์กร

“การเป็นบริษัทโทรคมนาคม แปลว่าคนที่ทำด้านเทคโนโลยี การตลาด งานขาย ต้องทำงานร่วมกันอยู่ตลอด ทุกแผนกต้องจับมือกัน ดีแทคอาจเรียกได้ว่าเป็นองค์กรต้นแบบแห่งความหลากหลายก็ว่าได้ ทุกเสียง ทุกไอเดียต่างได้รับการรับฟัง และทำให้การทำงานร่วมกันและโมเดลการทำงานแบบ Agile เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ผมมองว่านโยบายและวัฒนธรรมองค์กรของเราล้วนมาจากความเชื่อที่ว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่” กุลวิทย์ คำวันสา Head of Corporate and Branding แห่งดีแทค ทิ้งท้าย

blank

สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับสวัสดิการเท่าเทียมของดีแทคสำหรับพนักงาน LGBTQ ได้ ที่นี่