บนพื้นที่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ กว่า 800 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 500 เมตร
ที่นั่น … ในอดีตเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แต่ปัจจุบันด้วยพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินงาน “โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง”
ที่นั่น … เป็นแหล่งเพาะพันธุ์พืชผักผลไม้นานาพันธุ์
และที่นั่น … เหล่ามดงานของดีแทคได้เดินทางไปทำภารกิจหนึ่งที่สำคัญต่อปากท้องและชีวิตของชาวเขา ภายใต้ภารกิจ “พิชิตเห็ดหลินจือ”
นริภรณ์ เลิศวัฒนาเสรี หรือ “ส้ม” จากฝ่ายความยั่งยืน และ ธนากร สุคนธพงศ์ หรือ “เก่ง” วิศวกรแผนกไอที ดีแทค ร่วมกันเล่าย้อนถึงที่มาของภารกิจพิชิตเห็ดหลินจือว่า “เมื่อปลายปี 2562 ดีแทค โดยฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนของดีแทคได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ความร่วมมือด้านการวิจัยเชิงเกษตร โดยต่อยอดจากโซลูชั่นฟาร์มแม่นยำที่ใช้กับพืชเมล่อน มะเขือเทศ และผักออร์แกนิคที่ทำมาก่อน ซึ่งหลังจากโครงการประสบความสำเร็จดี จึงได้ศึกษาหาความเป็นไปได้กับเห็ดหลินจือ”
“ความยากของโปรเจ็คนี้คือ พวกเรามีข้อมูลด้านปัจจัยเพาะปลูกเกี่ยวกับเห็ดหลินจือนี้น้อยมาก พวกเรารู้เพียงว่าเห็ดหลินจือเป็นพืชมีมูลค่าสูง แต่ปัจจุบันปลูกขึ้นเพียงในฤดูร้อนกับฤดูฝน แต่ไม่สามารถปลูกขึ้นในฤดุหนาว ทำให้เสียโอกาสในการเพาะปลูกในฤดูหนาวไปเลย”
เมื่อทีมภายในดีแทคศึกษาแล้วพบความเป็นไปได้ จึงได้ไปชวนพันธมิตรด้านการวิจัยอย่างเนคเทค-สวทช. มาร่วมมือร่วมใจอีกแรงในการทำวิจัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอย่างมากเกี่ยวกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ (HandySense)
ส้มและเก่งเล่าผ่าน dtacblog ว่า “เห็ดหลินจือมีลักษณะทางชีวภาพที่พิเศษมาก ค่อนข้างอ่อนไหวง่ายกับสภาพแวดล้อม ความรู้เกี่ยวกับค่ากลางต่างๆ ในการเพาะปลูกเป็นศูนย์ และนั่นยิ่งทำให้ทีมงานไม่ว่าจะเป็นดีแทค เนคเทค-สวทช กรมส่งเสริมการเกษตร และมูลนิธิชัยพัฒนา ต้องร่วมมือกันอย่างแนบแน่นมากขึ้น เรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา เปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เพียงแค่พวกเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนท้องถิ่นด้วย และนี่จึงเป็นเคล็ดลับสำคัญในการทำให้เราสามารถรังสรรค์นวัตกรรมและสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นบนโลกได้”
ระหว่างทางแห่งการวิจัยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งทีมดีแทคและภาคีพันธมิตรต่างเผชิญทั้งความสนุกสนาน อุปสรรคและความท้าทาย
“ในการวิจัย พวกเรามักพบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอยู่ตลอดเวลา เช่น การใช้สีของแสงเพื่อควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนก็ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ด บางครั้ง เราพบว่าหนูป่าที่มีขนาดใหญ่มาก แข็งแรงและมีกลวิธีในการหนีกับดักทุกทาง ใครจะไปคิดว่าหนูป่าจะกลายมาเป็นอุปสรรคในการวิจัยของเรา” ทั้งส้มและเก่งอธิบายพร้อมกับขำพลาง
ที่สำคัญผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า เห็ดหลินจือปกติสามารถปลูกได้ 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน เนื่องจากมีอุณหภูมิที่เหมาะสม 15-28 องศาเซลเซียส ขณะที่ฤดูหนาวซึ่งมีอุณหภูมิลดลงเหลือ 7-10 องศาเซลเซียส ดอกเห็ดไม่แตกออก และสปอร์เห็ดไม่ทำงาน กล่าวคือ ช่วงที่เพาะปลูกคือ มีนาคม-มิถุนายน และ กรกฎาคม-ตุลาคม ส่วน พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงพักตัวในฤดูหนาวไม่สามารถเพาะปลูกได้ ดังนั้นพวกเราจึงต้องมาคิดต่อว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เพาะปลูกในช่วงเดือนดังกล่าวได้
จากอุปกรณ์ IoT เซนเซอร์ที่รายงานค่าต่างๆ แบบเรียลไทม์จึงทำให้สามารถติดตามวิเคราะห์เพื่อใช้ระบบควบคุมสภาพการเพาะปลูกเห็ดหลินจือที่เหมาะสม จึงนำมาสู่โซลูชั่นที่ปรับสภาพอากาศให้เหมาะสม เช่น สเปรย์น้ำควบคุมความชื้น ระบบน้ำหยดเพื่อควบคุมอุณหภูมิ ระบบการควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนโดยระบบอัตโนมัติ ด้วยรูปแบบ IR Heater เพื่อควบคุมอุณหภูมิและการกระจายของอุณหภูมิภายในโรงเรือน ให้การกระจายของความร้อนเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ
จากจุดนี้เราสามารถนำมาทดลองและปรับสู่การเพาะปลูกเห็ดหลินจือในฤดูหนาวได้เป็นผลสำเร็จ
พวกเราขอบอกเลยว่า “ในแง่ของการทำงานเอง ก็พบกับอุปสรรคด้วยหนทางทุรกันดาร อยู่บนหุบเขา รอบล้อมไปด้วยป่าเสื่อมโทรม ไม่มีไฟฟ้า โทรศัพท์ ทั้งยังใช้เวลาในการเดินทางถึง 3 ชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงใหม่ เส้นทางที่คดเคี้ยว แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเราก้าวผ่านมาได้คือ การทุ่มเทและอุทิตัว มองเป้าหมายเป็นที่ตั้ง แม้จะห่างไกล แต่ความตั้งใจจะทำให้เราใกล้กัน”
จากวันแรกจนถึงวันที่ได้มีโอกาสในการถวายรายงานความคืบหน้าแด่ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ผ่านทางออนไลน์ โดยทั้งสองได้ไปประจำถวายรายงานที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ทั้งคู่ต่างประสานเสียงเดียวกันว่า “ดีใจ” ที่ได้มีโอกาสในการรับใช้เบื้องพระยุคลบาท
“ไม่ใช่แค่เพียงเราสองคน แต่ต้องยกความดีให้กับ ‘ทีม’ เบื้องหลังทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทีมภาคสนามอย่างแพรวพรรณ ทีมพัฒนาแอปพลิเคชัน แม้ว่าหน้าแอปฯ จะมีปัญหาในวันเสาร์อาทิตย์ พวกเขาก็พร้อมที่จะแก้ไขปรับปรุงให้ทันที หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี พี่ประเทศ CTO หรือ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ของเราก็ให้เสามาติดตั้งเลย หรือแม้กระทั่งมาติดตั้งแล้ว พี่กิตติพงศ์ ทีมตั้งเสาก็มาดูแลคุมงานเองกับมือ ดังนั้น การมาถึงจุดนี้ได้จึงเป็นความร่วมมือร่วมใจของทีมดีแทคและพันธมิตรทุก ๆ คน”
พวกเราขอย้ำว่า Mindset เป็นเรื่องสำคัญ การเรียนรู้อยู่เสมอ คิดใหม่ทำใหม่ ไม่ติดในกรอบ (Always Explore) ความร่วมมือร่วมใจ ทำงานร่วมกันอย่างมีสปิริต (Create Together) รักษาคำพูด (Keep Promises) และการทำงานอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน (Be Respectful) ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่นำไปสู่การสร้าง “นวัตกรรม” เช่นเดียวกับ “โครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ”