นับเป็นเวลากว่า 130 ปีของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่มีทั้งสุข ทุกข์ ดราม่า ซึ่งผู้ที่จะเล่าถึง “การเปลี่ยนผ่าน” พัฒนาการจากยุคโทรศัพท์บ้าน สู่โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G สู่ 4G และกำลังก้าวสู่ 5G ได้ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น “พี่ติ่ง – นฤพนธ์ รัตนสมาหาร” ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานรัฐกิจสัมพันธ์แห่งดีแทค ผู้ที่เรียกได้ว่าผ่านร้อนผ่านหนาวในอุตสาหกรรมอย่างโชกโชนมากว่า 20 ปี
มหากาพย์โทรคมบนความไม่แน่นอน
นับตั้งแต่จัดตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขในรัชกาลที่ 5 จนมาถึงยุคคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และปัจจุบันสู่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยหน่วยงานข้างต้นล้วนมีหน้าที่หลักในการบริหารจัดการ “คลื่นความถี่” อันเป็นทรัพยากรของชาติและต้องใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
การเปลี่ยนแปลงขององค์กรกำกับดูแลดังกล่าวในแต่ละครั้ง ล้วนสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรม รวมไปถึงการออกกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ ที่ต้องตามให้ทันกระแสเทคโนโลยีซึ่งเกิดจากการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ทำให้โทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมที่มี “ความไม่แน่นอนสูง”
ซึ่งยังไม่รวมถึงเรื่องการแทรกแซงจากภาคการเมือง
“งานของเราเหมือนหน้าด่าน เป็นทัพหน้าที่ต้องเผชิญกับหน่วยงานภายนอก ต้องมีการเจรจา ตกลง พูดคุย ถกเถียง โดยเฉพาะเรื่องของกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งในแง่การกำกับดูแลและการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน” พี่ติ่ง กล่าวถึงการทำงานของรัฐกิจสัมพันธ์
“ในส่วนของเนื้องานสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ งานด้านกลยุทธ์ จะทำอย่างไรให้กฎเกณฑ์ออกมาเหมาะสม สามารถทำธุรกิจและแข่งขันอย่างเสรีได้ ตลอดจนสร้างสมดุลระหว่างมิติคุ้มครองผู้โภค มิติการกำกับดูแล ซึ่งเราจะเน้นด้านการให้ข้อมูลเพื่อชี้นำหรือโน้มน้าวการตัดสินใจ ขณะที่ส่วนที่สองคือ การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กำกับดูแล ส่วนนี้ยากเพราะเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์
ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น ธุรกิจแข่งขันได้”
Advocacy อีกหนึ่งงานหินของ Regulatory
ความท้าทายและสิ่งที่ยากนอกเหนือจากเรื่องของกฎเกณฑ์และการกำกับดูแลแล้ว คือ “การสร้างความเข้าใจ” จะโน้มน้าวอย่างไรให้ทั้งองคาพยพของอุตสาหกรรมและสังคม ตลอดจนพนักงานในบริษัทเองเข้าใจและปฏิบัติตาม
นอกจากนี้ สิ่งที่ท้าทายที่สุดในเชิงการกำกับดูแลของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม คือการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ปรับให้ทันยุคทันสมัยที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การกำกับดูแลคลื่นความถี่ยังแบ่งเป็นฝั่งกระจายเสียงและโทรคมคมนาคม ขณะที่โลกปัจจุบันก้าวสู่เทคโนโลยีหลอมรวม (covergence) และกำลังก้าวสู่ยุค 5G และ IoTs นั่นทำให้กฎหมายตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีไม่ทัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่ว่านี้ จำต้องใช้ฉันทามติ (Consensus) จากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช เอ็นจีโอหรือสมาคมต่างๆ
ซึ่งนี่เป็นอีกหน้าที่ของรัฐกิจสัมพันธ์ในการค้นหาข้อมูล เหตุผล ตัวอย่างหลักปฏิบัติสากล เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่จำเป็นต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์กำกับดูแลให้ทันการเปลี่ยนแปลง
อย่างกรณี Spectrum Roadmap ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ดีแทคเรียกร้องมาโดยตลอด
เพื่อให้ผู้ให้บริการมองเห็นอนาคตของการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อที่จะสามารถวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและในที่สุดก็จะสามารถนำคลื่นความถี่ในย่านที่เหมาะสมมาใช้เพื่อให้บริการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สังคม และประเทศได้สูงสุด
คลื่นความถี่กับสิ่งที่เรียกว่า do or die
“เรื่อง Do or Die ของทีมเราในตอนนี้เป็นเรื่องของกลยุทธ์ใหญ่ๆ เรื่องสำคัญของเราในปีนี้คือ หนึ่ง ‘การประมูล’ สิ่งที่เราเรียกร้องมาตลอดคือ กสทช.ต้องมีแผน มี Spectrum Roadmap ที่ชัดเจน มีแผนการประมูลล่วงหน้าก่อนสัมปทานของดีแทค กับ กสท. กำลังจะหมดอายุในปีนี้ เราเคยเสนอให้มีการประมูล 1-2 ปีล่วงหน้า ซึ่งต่างประเทศเขาก็ทำกัน
สองคือ การสิ้นสุดสัมปทาน ซึ่งมีเรื่องที่ต้องทำมากมาย ประเด็นหนึ่งเป็นเรื่องของการเยียวยาผู้ใช้บริการที่ยังเหลืออยู่ในโครงข่ายของดีแทค อีกประเด็นหนึ่งคือเราต้องเจรจากับ กสท. เพื่อเช่าใช้โครงข่ายสัมปทานเดิมสำหรับการให้บริการกับลูกค้าดีแทคในช่วงที่อยู่ในมาตรการเยียวตามกฏของ กสทช. และที่สำคัญเพื่อให้บริการสำหรับลูกค้าของดีแทคไตรเน็ตต่อไปด้วย เรื่องใหญ่ๆ เหล่านี้เป็น Do or Die ของบริษัท เพราะถ้าเราไม่มีคลื่น ก็เหมือนกับว่าตอนนี้เรามีรถอยู่ 20 กว่าล้านคัน วิ่งอยู่บนถนนประมาณ 10 เลน ซึ่งจะเหลือ 3 เลนในเดือนกันยายน ถ้าเราไม่สามารถได้คลื่นมาใช้อย่างเพียงพอได้
ซึ่งขณะนี้ เรากำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการขออนุญาตในดีล 2300 ซึ่งจะทำให้เราสามารถเปลี่ยนเกมการแข่งขันและคุณภาพการให้บริการได้
เมื่อเปลี่ยนผ่านในอัตราเร่ง
จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคจะใช้เวลาน้อยลง จากยุคโทรศัพท์บ้านสู่ยุคโทรศัพท์มือถือใช้เวลานับ 10 ปี แต่จากยุคมือถือสู่สมาร์ทโฟนกลับใช้เวลาเพียง 3-4 ปีเท่านั้น เช่นเดียวกับยุค 2G สู่ 3G และ 4G นั้นก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสู่ 5G และ IoTs ที่จะรวดเร็วขึ้น ส่งผลต่อบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จะเป็นมากกว่าผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่เราเคยกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ไว้ ต่อไปหัวใจหลักของผู้ชนะ อาจจะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นเจ้าของ platform ที่สร้างรายได้ที่ตอนนี้อาจยังไม่รู่ว่าคืออะไรเพราะยุค 5G คงเปลี่ยนแปลงอะไรไปอีกมาก บริการต่างๆ อาจจะไม่แบ่งเป็น Broadcasting และ Telecom อีกต่อไปก็เป็นได้
ซึ่งนี่ถือเป็นโจทย์ของ กสทช. คณะใหม่ที่จะทำอย่างไรให้กฎหมายมีความเท่าทันกับเทคโนโลยี สอดรับกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งเรื่องแรกที่ควรเข้ามาปลดล็อกคือเรื่องของการบริหารจัดการให้ประเทศไทยมีคลื่นความถี่ใช้อย่างเพียงพอ ตัวอย่างเช่น ความเร็วของ 4G ที่น่าจะเพียงพอต่อการใช้สื่อสารระหว่างมนุษย์แล้ว แต่ปัญหาสำหรับไทยที่ 4G ยังช้าก็เพราะมีคลื่นความถี่ใช้งานน้อยกว่ามาตรฐานโลกมาก คือ จำนวนคลื่นความถี่ IMT ที่ กสทช. จัดสรรไว้นั้นมีเพียง 420 เมกะเฮิรตซ์และใช้จริงเพียง 320 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสาส่งสัญญาณมาก (6-7 หมื่นต้น) อันดับต้นๆ ของโลกเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ซึ่งจริงๆ แล้วสหภาพโทรคมนาคม (ITU) เสนอแนะว่าประเทศกำลังพัฒนาควรมีจำนวนคลื่นความถี่ใช้กว่า 1000 เมกะเฮิรตซ์ และที่จะเป็นปัญหาต่อไปคือ การให้บริการด้วยเทคโนโลยี 5G กำลังเป็นรูปเป็นร่างในขณะที่ กสทช. ยังไม่มี roadmap ในการเตรียมคลื่นความถี่ไว้สำหรับให้บริการซึ่งจะทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส และไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหลายเรื่องรวมไปถึง “มรดก” ทางด้านการกำกับดูแลต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพตลาดในปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัลแล้ว