น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาเจือในน้ำที่ใช้สรงพระมุรธาภิเษก มาจากแหล่งน้ำสำคัญในจังหวัดสุพรรณบุรี อันเชื่อกันว่านี้ เป็นน้ำสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ครั้งพระร่วง

น้ำสรงพระมุรธาภิเษก มาจากไหน?

ในการเตรียมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เจ้าพนักงานพลีกรรมจะตักน้ำจากแหล่งน้ำที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในขั้นตอนของการสรงพระมุรธาภิเษก ที่มณฑปพระกระยาสนาน และการถวายน้ำอภิเษกบริเวณพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์

สำหรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพระราชพิธีได้มาจากแหล่งน้ำสำคัญ จากสระ 4 แห่งที่เมืองสุพรรณบุรี คือ สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา

ความสำคัญของสระดังกล่าวปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชาธิบายดังนี้

น้ำซึ่งใช้ในสหัสธารานั้นใช้น้ำสี่สระคือ น้ำสระแก้ว สระเกศ สระคา สระยมนา รวมกัน น้ำสี่สระนี้ เป็นน้ำสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ครั้งพระร่วงกรุงสุโขทัยมีลัทธิถือกันว่าน้ำสี่สระนี้ ถ้าผู้ใดเอาไปกินอาบเป็นเสนียดจัญไรมักให้เปื่อยพัง และมีอันตรายต่างๆ ที่ว่านี้ตามคำกล่าวไว้แต่โบราณผู้ที่มีความยำเกรงต่อพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ก็ไม่มีผู้ใดที่จะคิดอ่านทดลอง ได้ทราบคำเล่าบอกว่ามีผู้ที่ฟุ้งๆ วุ่นวายได้ทดลองก็บังเกิดอันตรายต่างๆ เพราะผู้นั้นมีจิตใจไม่สู้สุจริตอยู่แล้ว

พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 1-4 เพิ่มน้ำจากแม่น้ำสำคัญของประเทศอีก 5 สายที่สมมติว่าคือ  “เบญจสุทธิคงคา” ซึ่งมาจาก แม่น้ำบางปะกง ตักน้ำที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก, แม่น้ำป่าสัก ตักน้ำที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี, แม่น้ำเจ้าพระยา ตักน้ำที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง, แม่น้ำราชบุรี ตักน้ำที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสาคร และ แม่น้ำเพชรบุรี ตักน้ำที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี

ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 ใช้น้ำสรงพระมุรธาภิเษกจากแหล่งน้ำดังที่กล่าวมาเพื่อทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2411 และเมื่อทรงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ในปี 2416 จึงมีการนำน้ำจากปัญจมหานทีในอินเดียได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะมาจากเขาไกรลาสที่สถิตของพระอิศวร ซึ่งได้จากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ.2415 มาเจือในน้ำที่ใช้สรงพระมุรธาภิเษกด้วย

ในยุครัชกาลที่ 6 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกปี พ.ศ.2453 ยังคงใช้น้ำสรงพระมุรธาภิเษก จากแหล่งเดียวกับรัชกาลที่ 5 แต่เมื่อครั้งประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชปี 2454 ได้เพิ่มน้ำจากแหล่งสำคัญ แล้วนำไปเข้าพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ พระมหาเจดียสถานสำคัญ 7 แห่ง ได้แก่ จ.สระบุรี ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม ณ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.ลำพูน ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จ.สุโขทัย จ.นครศรีธรรมราช จ.พิษณุโลก และนครพนม และวัดสำคัญในมณฑลต่างๆ 10 มณฑล

ต่อมาในรัชกาลที่ 7 ทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์เพิ่มจากที่ทำในรัชกาลที่ 6  อีกหนึ่งแห่งคือ วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่

สำหรับสมัยรัชกาลที่ 9 ทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ 18 แห่งเท่ากับสมัยชกาลที่ 7 แต่เปลี่ยนสถานที่จากเดิม 2 แห่งคือ เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ และพระธาตุช่อแฮ เป็น บึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน หลังจากนั้น เจ้าพนักงานจะเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นมาตั้งภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกระทั่งวันงานพระราชพิธีจึงเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์มาทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์อีกครั้งหนึ่ง