ครั้งแรกการโต้วาทีของเด็กมัธยม! เปิดใจคู่ตัดเชือกชิงดำศึกโต้วาที Battle for Better

ปิดฉากไปแล้วสำหรับศึกโต้วาที “Battle for Better” #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ดีแทค และ กทม. ในฐานะเอกชนภาคีเครือข่าย เทศกาลเดือนเด็กและเยาวชน “BKK เรนเจอร์ รวมพลังเด็กเปลี่ยนเมือง” ซึ่งในรอบตัดเชือกนี้เป็นการชิงดำระหว่างทีมจากโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์และโรงเรียนวัดปากบ่อ โดยผลปรากฏว่าผู้ที่เฉือนชนะในพื้นที่แห่งการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์นี้ ได้แก่ โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์

วันนี้ dtacblog ได้มีโอกาสมาพูดคุยถึงเบื้องหลังการเตรียมความพร้อมและกระเทาะผลึกความคิดกับพวกเขาทั้ง 2 ทีม ได้แก่ นายจุฑาวัชร์ บินตาสุระสีห์ ด.ช.ปิยพัทธ์ นิยมสิทธิ์ และ ด.ญ.ไอลดา คุ้มตระกูล พร้อมด้วย นายธนวิชญ์ แสงนรินทร์ คุณครูพี่เลี้ยง จากโรงรียนมัธยมประชานิเวศน์ ขณะที่ทีมโรงเรียนวัดปากบ่อ ประกอบด้วย ด.ญ.ศศิวรรณ สวยพริ้ง ด.ช.กวิน ช้างคำ และ ด.ช.ธนากร พิมพ์โพธิ์ พร้อมด้วยนางสาวดารัตน์ ชูคง คุณครูพี่เลี้ยง

ลงสนามครั้งแรก

นายจุฑาวัชร์ จากทีมโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ เล่าว่า ทั้ง 3 คนต่างมีความสนใจในการพูดอยู่แล้ว และเมื่อทางโรงเรียนได้มีประกาศการจัดการแข่งขันการโต้วาที จึงฟอร์มทีมเสนอชื่อเข้าแข่งขัน อย่างไรก็ตาม การที่จะเป็นตัวแทนของโรงเรียนก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องฝ่าด่านคัดเลือกภายในซึ่งมีผู้สมัครกว่า 10 คน

“แม้ส่วนตัวจะเป็นคนช่างพูดช่างจำนรรค์จา แต่ทว่านี่เป็นครั้งแรกของการโต้วาทีของพวกเราทั้ง 3 คน” จุฑาวัชร์ เปิดใจพร้อมกล่าวเสริมว่า “แม้จะมีเรียนบ้างในวิชาภาษาไทย แต่ไม่ได้มีการลงรายละเอียดลึกๆ ถึงหลักการและกระบวนการในการโต้วาที จึงได้ค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ ซึ่งได้ไปเจอรายการ ‘ทีวีวาที’ บนยูทูป ซึ่งผมประทับใจมาก พอหมดคาบเรียนในวันนั้นแล้ว เลยออกมาคัดเลือกกันในเย็นวันนั้นเลย ซึ่งผลปรากฏว่าพวกเราทั้ง 3 คนได้เป็นตัวแทนโรงเรียน จากความดีใจก็กลายเป็นความกดดันทันที”

พวกเขาทั้ง 3 เปลี่ยนแรงกดดันเป็นความมุมานะ โดยเริ่มกลับไปไล่ดูรายการโต้วาทีย้อนหลัง ศึกษาเคล็ดลับวาทศิลป์ ซึ่งในส่วนของ ด.ช.ปิยพัทธ์ กลับพบเซอร์ไพรส์ เพราะคุณแม่ของเขาเองก็เคยเป็นตัวแทนโรงเรียนโต้วาทีในระดับมัธยมศึกษาเช่นเดียวกัน

blank

ขณะที่ ด.ญ.ศศิวรรณ จากโรงเรียนวัดปากบ่อ กล่าวว่า ทั้ง 3 คนได้ฟอร์มทีมขึ้นทันที หลังจากที่คุณครูได้ประชาสัมพันธ์หาผู้ที่สนใจร่วมศึกโต้วาทีในครั้งนี้  ซึ่งทั้ง  3 คนนั้น มีความสนิทสนมและทำงานโรงเรียนด้วยกันในสภาโรงเรียนอยู่แล้ว คุณครูจึงได้เลือกทั้ง 3 คนเป็นตัวแทนโรงเรียน

หลังจากที่หมดเขตรับสมัครในรอบแรก ผลปรากฏว่ามีโรงเรียนในสังกัด กทม. เข้าร่วมการโต้วาทีกว่า 30 โรงเรียน ซึ่งผู้สมัครทั้งหมด จะได้รับการเวิร์คช้อปการโต้วาทีจาก “ชมรมวาทศิลป์และมนุษยสัมพันธ์” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ดร.ธีระยุทธ บุญมา จากนั้น จึงได้ให้ทีมที่เข้ารับการเวิร์คช้อปทั้งหมดอัดวิดีโอคลิปการโต้วาทีจำลองในญัตติ “เด็กไม่ใช่เหยื่อ แต่เราคือผู้นำการเปลี่ยนแปลงโลกออนไลน์ เพื่อให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” เพื่อคัดเลือก 10 ทีมสุดท้าย จากนั้นจึงเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ โดยให้ 10 ทีมสุดท้ายเข้าประชันแข่งขันโต้วาที “จริง” เพื่อคัดเลือก 2 ทีมสุดท้ายเข้าสู่รอบ “ตัดเชือก”

“รู้ไหมครับว่าจริงๆ แล้ว พวกเราเชียร์ทีมวัดปากบ่ออยู่แล้ว” ด.ช.ปิยพัทธ์ จากทีมโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์เผยความในใจ

blank

แม้ต่างคนจะต่างชื่นชอบซึ่งกันและกัน แต่เมื่อถึงเวลาขึ้นชก ต่างทีมต่างซุ่มซ้อมกันหนักหน่วง เพื่อให้ขึ้นเวทีจริงออกหมัดได้ตรงจุด สำหรับโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ ได้เทรนเนอร์ดีเป็นพี่ ม.ปลาย นักกล่าวสุนทรพจน์มาช่วยฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น และในบางครั้งก็ได้คุณครูมาเป็นคู่ซ้อมเลยทีเดียว ขณะที่โรงเรียนวัดปากบ่อเล่นใหญ่ โดยจัดการแข่งขันโต้วาทีสมมติ โดยมีคู่ซ้อมเป็นคุณครู จัดการแข่งขันต่อหน้าเพื่อนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษากว่า 500 คน เพื่อให้ทั้ง 3 คนเจนเวที ทุกอย่างเสมือนจริง เพื่อให้เกิดการซักซ้อมและพัฒนาอย่างต่อเรื่อง ซึ่งงานนี้นางสาวสุภาพร แสงสมาน ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ลงมาปะทะฝีปากกับน้องๆ ทั้ง 3 คนด้วย

blank

“พอการโต้วาทีจบลง ทั้งทีมนักเรียนและคุณครูลงมาจากเวทีน้ำตาเล็ดน้ำตาไหล เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ไม่เห็นมานานมากแล้วในโรงเรียน” คุณครูดารารัตน์ กล่าว

จิตสำนึกหรือกฎกติกา

หลังจากที่ฝึกปรือมาอย่างหนัก วันตัดเชือกก็มาถึง ซึ่งเป็นการโต้วาทีในญัตติ “การสร้างจิตสำนึกในใจ ทำให้ไซเบอร์บูลลี่จบได้มากกว่า บังคับใช้กฏกติกา” โดยทีมโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์อยู่ฝ่าย “สนับสนุน” ขณะที่ทีมโรงเรียนวัดปากบ่อได้ฝ่าย “ค้าน” แม้ผลการแข่งขันจะจบที่โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์เป็นฝ่ายชนะ แต่ในความเป็นจริง ทั้ง 2 ทีมในฐานะผู้สร้างและเหยื่อของปัญหาไซเบอร์บูลลี่ต่างมองว่าการสร้าง “จิตสำนึกและกฎกติกา” จำเป็นต้องควบคู่กัน โดย ด.ญ.ไอลดา มองว่า การสร้างจิตสำนึกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อส่งต่อค่านิยมไม่กลั่นแกล้งรังแกให้รุ่นต่อไป ขณะเดียวกัน ก็ควรสร้างกฎกติกามาควบคุมอีกที แม้ปัญหาจะไม่ถูกจำกัดไปอย่างสิ้นเชิง แต่อย่างน้อย ปัญหาก็น่าจะมีแนวโน้มที่ “ลดลง” อย่างแน่นอน

blank

ด้าน ด.ช.ธนากร จากทีมโรงเรียนวัดปากบ่อ ให้ความเห็นว่า แม้จิตสำนึกและกติกาต่างมีความสำคัญอย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน การสร้างจิตสำนึกนั้น “ไม่ง่าย” ดังนั้น จึงควรมีการตั้งกฏกติกาเสียก่อน เพื่อไม่ให้ผู้กระทำละเมิดสิทธิของผู้อื่น ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึก เพราะจิตสำนึกเป็นเรื่องระยะยาว และแต่ละคนมีจิตสำนึกไม่เท่ากัน อ้างอิงจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่ระบุว่า คนเรามีจิตสำนึกอยู่ในตัวเองเพียง 10% เท่านั้น ส่วนอีก 90%เป็นจิตไร้สำนึก ดังนั้น ทั้งการสร้างจิตสำนึกและกฎเกณฎ์ จึงมีความสำคัญเท่าๆ กัน

“จากญัตติการโต้วาทีรอบชิงชนะเลิศ จะเห็นได้ว่าไซเบอร์บูลลี่เป็นทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างและปัจเจกบุคคล” ด.ช.ธนากร กล่าว

แม้ปัญหาโลกจะหมุนไปเร็วเท่าไร แต่ปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกยัง “คงอยู่” น้องๆ ทั้ง 2 ทีมประสานเสียงว่า การล้อชื่อพ่อแม่ การล้อปมด้อยผู้อื่น การไม่เคารพความแตกต่างทางรสนิยมทางเพศ และมาตรฐานความงาม (Beauty Standard) ยังคงมีอยู่ในโรงเรียน แต่เมื่อโลกออนไลน์พัฒนาขึ้น ยิ่งทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นขยายความรุนแรงมากขึ้นได้ง่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้ไขต่อไป

blank

ขณะที่คุณครูดารัตน์ ในหมวกของครูปกครอง โรงเรียนวัดปากบ่อ กล่าวว่า กิจกรรมโต้วาทีในครั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองของเธอต่อปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกไปอย่างสิ้นเชิง เธอยอมรับว่า เดิมมองเรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระ แต่เมื่อเธอกระโดดเข้าไปร่วมกิจกรรมเต็มตัว ค้นหาวิจัย ทำให้เธอเสียใจถึงทัศนคติแบบเดิม ปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกยังทิ้งบาดแผลในใจให้แก่เด็ก คุณครูจำเป็นต้องใส่ใจปัญหานี้ให้มากยิ่งขึ้น เพราะโรงเรียนเป็นมากกว่าโรงบ่มเพาะทางวิชาการ แต่โรงเรียนคือ “พื้นที่ทางสังคม”

เด็กทุกคนมีเพชรในตัวเอง

นายจุฑาวัชร์ กล่าวเสริมว่า “ขอขอบคุณดีแทคและ กทม. ที่ได้จัดโครงการดีๆ เหล่านี้ เปิดเวทีให้พวกเราให้แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ ฝึกทักษะกระบวนการคิดอย่างมีระบบ” ด้าน ด.ช.กวิน บอกว่า เขาดีใจมากที่ได้ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน รวมถึงครอบครัวที่นั่งดูไลฟ์สดจากที่ต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้ฝึกทักษะความกล้าแสดงออก ทักษะการจับใจความสำคัญ การทำงานเป็นทีม การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น

blank

คุณครูดารัตน์ กล่าวเสริมอีกว่า คุ้มค่ามากที่ได้ร่วมกิจกรรมโต้วาที Battle for Better ได้มีโอกาสเคาะสนิมตัวเอง และเรียนรู้ร่วมกับเด็กนักเรียน เขาสอนครู ครูสอนเขา ทำงานกันเป็นทีม ที่สำคัญ เธอเห็นการพูดด้วยหลักการและเหตุผลของเด็กๆ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางสังคมของไทยต่อผู้ใหญ่ที่มองว่าการโต้แย้งคือการเถียง

“การแข่งขันโต้วาที Battle for Better ได้ทำให้ดิฉันเห็นศักยภาพอย่างแท้จริงของพวกเขา แม้จะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส แต่เด็กทุกคนต่างมีเพชรในตัวเอง และนี่คือหน้าที่ครูที่เราจะเจียรนัยเขาให้เป็นเพชรได้อย่างไร ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การมีเวทีให้เพชรได้เปล่งประกายแสงให้เจิดจรัส ซึ่งต้องขอขอบคุณดีแทคสำหรับเวทีดีๆ อย่างนี้ด้วย” คุณครูดารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

blank