สำหรับเดือนพฤษภาคมนี้ dtac blog ขอร่วมเป็นหนึ่งพลังในการช่วยพี่น้องของเราชาวสามย่านในการช่วยกัน #saveสตรีทฟู้ด และ #ร้านอาหารชุมชนสามย่าน ซึ่งนั่นก็คือ ร้านอาหารในพื้นที่ละแวกใกล้เคียงอาคารจามจุรีสแควร์ โดย dtac blog จะไปสัมภาษณ์และนำเสนอเรื่องราวเป็นเอพิโสดของ “ร้านอาหารที่น่าสนใจในชุมชนสามย่าน“
สำหรับร้านที่ 2 ของเอพิโสดนี้ เป็นร้านที่ชาวดีแทคคุ้นเคยเป็นอย่างดี ซึ่งนั่นก็คือ “ร้านปู๊ตี่ บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง” หรือ “ร้านอาม่า” ที่ชาวดีแทคเรียกขานกัน
แน่นอนว่าเมนูไฮไลต์คงหนีไม่พ้นบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง ที่เสิร์ฟพร้อมหมูแดงชิ้นหนา ที่ใช้เนื้อสันในหมูชิ้นใหญ่ เวลาย่างบนเตาถ่าน น้ำในหมูจะระเหยได้ช้ากว่าชอ้นเล็กๆ ทำให้เมื่อกัดลงไปแล้ว สัมผัสยังคงนุ่มและชุ่มฉ่ำ กินกับเกี๊ยวที่ทำจากหมูบดและกุ้งสับผสมแล้วนำไปนวดและตีเข้าด้วยกันจนเนื้อเข้ากันดี ซึ่งเรากล้าบอกเลยว่า บะหมี่เกี๊ยวที่นี่ไม่เป็นสองรองใครอย่างแน่นอน
แต่…ที่นี่ไม่ได้มีดีแค่บะหมี่เกี๊ยว เพราะที่นี่มีเมนูอาหารให้เลือกสรรเกือบร้อยเมนู ทั้งอาหารจานเดียวง่ายๆ อย่างกระเพราหมูสับ ของทานเล่นอย่างขนมจีบ และอาหารจานกลางที่สั่งมาแชร์กันอย่างหัวปลาหม้อไฟเผือก เรียกได้ว่าเหมือนมากินข้าวแบบเหลาในราคาสบายกระเป๋า
แต่นั่นก็ไม่ผิดอะไร เพราะความอร่อยของที่นี่เรียกได้ว่าเป็น “ตำนานที่ยังมีชีวิต” อย่างแท้จริง ด้วยผู้ก่อตั้งนายกวางศูน แซ่เลี่ยว ชาวจีนโพ้นทะเลข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศราสุวัตติวงศ์ ทรงประทานเงินก้อนแรกตั้งโรงงานไอศกรีม ซึ่งเป็นห้องแถวเล็ก ๆ ย่านท่าน้ำราชวงศ์ ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตไอศกรีมถ้วยแรกแห่งสยามประเทศ ที่ก่อกำเนิดขึ้นพร้อมกับโรงน้ำแข็งแรกของไทย
ต่อมาได้ขยายกิจการและย้ายมาอยู่ที่เวิ้งกาแล็คซี่ ที่นี่นายกวางศูน ได้นำวิชาการทำปรุงอาหารที่ติดตัวมาจากซัวเถาจนเปิดเป็นภัตตาคารอาหารจีนในชื่อ “เลี่ยวเลี่ยงเซ้ง” สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายสถานที่อยู่ไปอยู่แถวเยาวราช
“ทั้งรสชาติและสไตล์ของอาหารจะเป็นแบบจีนซัวเถาแท้ๆ เรียกได้ว่าโล้สำเภามากินกันเลยทีเดียว” อาม่าเปรม ผู้เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของร้านปู๊ตี่ อธิบาย
พอเข้าสู่รุ่นที่ 3 นอกจากส่วนที่เป็นภัตตาคารแล้ว ลูก ๆ คนอื่นของอาม่าก็ขยายกิจการมาทำร้านบะหมี่เกี๊ยวกุ้งในชื่อปู๊ตี่ เป็นภาษาจีนหมายถึงสถานที่ที่เป็นมงคลร่ำรวย ซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่ 5 สาขาแล้ว ทั้งสาขาศาลาธรรมสพณ์ พุทธมณฑล สาย 4 รัตนาธิเบศร์ หอศิลป์ และสามย่านนี่เอง
แต่สำหรับที่นี่จะพิเศษกว่าที่อื่น เพราะยังมีเมนูที่หลากหลายกว่านอกจากบะหมี่เกี๊ยวเท่านั้น ซึ่งไฮไลต์เลยก็คือ ก๋วยเตี๋ยวหลอดปู กัดเข้าไปแล้วดั่งรสชาติของฤดูใบไม้ผลิ ชุ่มฉ่ำด้วยรสของเนื้อปูที่อัดแน่นอยู่ในแผ่นก๋วยเตี๋ยวที่เหนียวนุ่ม กระเพราที่นี่ก็อร่อยไม่แพ้กัน ที่นี่จะผัดแบบจีนๆ มีน้ำที่เข้มข้นด้วยน้ำมันหอยให้เราคลุกกินกับข้าวสวยร้อนๆ ก็อร่อยยิ่งนัก
และที่สำคัญ ที่นี่ยังมี “เมนูลับ” ที่อาจต้องสั่งของล่วงหน้า เพื่อให้เตรียมของได้ทัน อย่างเช่น ข้าวอบเผือก ฉู่ฉี่กุ้งที่ใช้กุ้งทะเลตัวใหญ่ หรืออีหมี่ อาหารจีนโบราณหาทานยาก
“วิกฤตคราวนี้หนักจริงๆ อาม่าเกิดมาปีนี้ก็ 78 แล้ว ผ่านมาหลายวิกฤต ทั้งต้มยำกุ้งเอย แฮมเบอร์เกอร์เอย ยังไม่เคยเจอวิกฤตไหนหนักเท่ารอบนี้ เชื่อไหมว่า บางวันขายได้แค่ 500 บาท ต่ำสุดที่เคยได้เลยก็คือ 180” อาม่าเปรมเล่าถึงผลกระทบของวิกฤต
ภาพในวันนี้ของร้านปู๊ตี่หรือที่ชาวดีแทคเรียกว่า “ร้านอาม่า” ดูเงียบเหงาไปถนัดตาด้วยมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม มนุษย์เงินเดือนที่เป็นลูกค้าหลักทำงานจากบ้าน ต่างจากภาพที่เราคุ้นชินกันแต่เดิมในช่วงกลางวันที่คลาคล่ำไปด้วยพนักงานออฟฟิศละแวกใกล้เคียง จนต้องแนะนำให้โทรมาสั่งอาหารล่วงหน้าเพื่อไม่ต้องเสียเวลารอคิว
อาม่าเล่าติดตลกว่า “พนักงานดีแทคหลายๆ คนแม้จะเข้ามากินไม่ได้ เค้าก็ยังโทรมาหา ถามไถ่ว่าเป็นยังไงบ้าง กลัวกลับมาแล้วไม่มีคนทำบะหมี่ให้กิน ฉันก็ตอบกลับไปว่ายังแข็งแรงอยู่ดี ยังทำอาหารอร่อยให้พวกแกได้อยู่”
วันนี้ ร้านปู๊ตี่ บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง เปิดให้บริการให้ทานที่ร้านแล้ว แต่ยังคงเป็นไปตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ชาวดีแทคคนไหนที่คิดถึงเสียงต้อนรับของอาม่าก็สามารถเข้ามาสัมผัสความอร่อย และเยี่ยมเยียนอาม่าได้เลย